ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งแก้ปัญหางบบัตรทอง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาหลังพบติดขัดข้อกฎหมาย ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถใช้งบได้ในหลายประเด็น และอาจกระทบกับการบริการผู้ป่วยได้ โดยมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลหลักเกณฑ์วิธีการใช้จ่ายงบที่มีปัญหา
จากคำสั่งนี้ทำให้บางฝ่ายมองว่า เป็นการดึงอำนาจจาก สปสช.กลับไปที่ สธ.หรือไม่ และมีการโยงไปถึงประเด็นที่บอร์ด สปสช.ไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. ให้เป็นเลขาธิการ สปสช.จนต้องมีการสรรหาใหม่ ว่าจะมีการล้มนโยบายประชานิยม “บัตรทอง” ลง
เรื่องนี้หากมองอย่างเป็นกลางแล้ว ต้องบอกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เป็นนโยบายที่ดี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นและเท่าเทียม ทั้งไม่ต้องล้มละลายจากการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น มะเร็ง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ระบบนี้ไม่ได้ดี 100%แต่ยังมีจุดบกพร่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอยู่
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำชัดว่า รัฐบาลและตนเองพูดเสมอว่าไม่มีการล้มบัตรทองแน่นอน แต่จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวมา ก็เพื่อแก้ปัญหางบกองทุนบัตรทองในส่วนที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความว่าเป็นการใช้งบประมาณไม่ตรงตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เช่น การนำเงินกองทุนไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าตอบแทนบุคลากร เงิน ช่วยเหลือเบื้องต้นให้บุคลากรสาธารณสุขกรณีได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์ เป็นต้น ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถใช้เงินดังกล่าวได้ ซึ่งในที่ประชุมบอร์ด สปสช.ตนเองก็พูดเสมอว่า ขอให้ใช้งบประมาณต่อไป แม้จะตีความว่าผิดระเบียบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบกับโรงพยาบาลและคนไข้ได้ โดยจะขอเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องทั้งหมดเอง ซึ่งสุดท้ายก็มี ม.44 ออกมาเพื่อทำให้โรงพยาบาลสามารถใช้งบดังกล่าวและทำงานได้ไม่ติดขัด ระหว่างการรอแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
อาจกล่าวได้ว่า “จุดบกพร่อง” หลักๆ ของระบบบัตรทองที่ยังต้องแก้ไข คือเรื่องกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมพอ และการออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลสังกัด สธ. เช่น การไม่สามารถใช้งบประมาณข้ามหมวดได้ข้างต้น หรือการผูกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขไว้กับงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้พื้นที่ที่มีประชากรน้อย เมื่อตัดเงินเดือนออกแล้ว ก็ไม่เหลืองบประมาณเลย เรียกว่าขาดทุนตั้งแต่แรก แต่ก็ยังต้องให้บริการแก่คนไข้ในพื้นที่ จึงกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ รพ.ขาดสภาพคล่อง เป็นต้น
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วระบบบัตรทอง ที่ผลักดันโดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนเท่านั้นที่ต้องมาเฉลี่ยทุกข์สุขกัน แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับระบบก็ต้องมาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขด้วย
แต่กว่า 14 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าแนวทางการบริหารงบบัตรทองของ สปสช.ที่แน่นอนว่าประชาชนได้รับประโยชน์มหาศาล ทำให้ในสายตาคนทั่วไปคนที่รับชอบย่อมไม่พ้น สปสช. แต่ขณะที่โรงพยาบาลสังกัด สธ.ที่เป็น “ผู้รักษาพยาบาล” ให้ประชาชนตัวจริง และต้องรับกรรมกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ของ สปสช.มาโดยตลอด กลับกลายเป็นผู้รับผิดเสมอ
การออกคำสั่ง ม.44 ในครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่า “บิ๊กตู่” มีเจตนารมณ์ที่แน่ชัดว่าจะลงมีดผ่าตัดระบบบัตรทองให้ดียิ่งขึ้น ประชาชนยังคงได้รับประโยชน์จากการบริการสาธารณสุขเช่นเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องแก้กฎหมายหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้โรงพยาบาลสามารถอยู่รอดได้ด้วย จึงเป็นการฟื้นหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของ นพ.สงวน อย่างแท้จริง
สำหรับการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มองว่า สิ่งที่ควรแก้คือการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะจะช่วยให้เห็นงบประมาณที่แท้จริงของโครงการบัตรทองว่าเป็นเท่าไร ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ยังคงไม่เห็นด้วย ยังต้องการให้งบประมาณผูกกับเงินเดือนเหมือนเดิม อยู่กับระบบเดิมๆ ทั้งที่ไม่มีปัญญาและไม่ต้องการให้เกิดการร่วมจ่ายเพื่อลดการใช้งบประมาณ ไม่สามารถหาเงินเพิ่มเข้ามาในระบบ ปล่อยให้ปัญหาขาดแคลนงบประมาณรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเพราะเป็นปัญหาของสธ.ไม่ใช่ปัญหาของ สปสช. โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับแก้ไข มีการแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวชัดเจนแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของประธาน สนช.ว่าจะเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ หากใช่ก็จะให้ สธ.เป็นผู้เสนอกฎหมายนี้
ขณะที่ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า การออกมาตรา 44 เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลในพื้นที่ทำงานได้ถือว่าเป็นเรื่องดีและสนับสนุน เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเจตนาที่ดีในการแก้ปัญหา ซึ่งการออกมาบอกว่าจะมีการล้มบัตรทอง หากทำจริงก็คงค้านเช่นกัน เพราะเป็นระบบที่ดี แต่ยังต้องมีการแก้ไขในบางเรื่องเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะล้ม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พูดในเวทีโลกว่าบัตรทองเป็นระบบที่ดี และเป็นระบบที่หลายประเทศเอาเป็นแบบอย่าง
“อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาให้ระบบบัตรทองดีขึ้น อยากให้แก้กฎหมายให้ขยายนิยามการดูแลสุขภาพที่ไม่ใช่แค่คนไทย แต่เป็นคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะคนชายขอบ หรือคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในไทย แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งการที่ระบบดูแลไม่ครอบคลุม แต่คนเหล่านี้ถือว่ามีจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยแล้วไม่ได้รับสิทธิในการดูแล หากเป็นโรคระบาดสุดท้ายก็จะเป็นภัยความมั่นคงทางสุขภาพต่อคนไทยอยู่ดี จึงต้องมีการแก้ไขให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น” นพ.วรวิทย์ กล่าว
โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง อย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันพัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น ระบบก็จะเกิดคุณภาพและความยั่งยืนต่อไป แต่หากบางกลุ่มยังเล่นไม่ซื่อ ออกมาสร้างกระแสความขัดแย้งอยู่ตลอด ไม่แน่ว่าอาจมีคำสั่ง ม.44 ออกมาตั้งเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ให้จบในม้วนเดียวก็เป็นได้!!