xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมออกระเบียบการรับ-จ่าย-ใช้เงิน “บัตรทอง” ปัดแย่งอำนาจคืน สปสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. รับลูกคำสั่ง ม.44 เร่งออกระเบียบการรับ - จ่าย - ใช้เงิน “บัตรทอง” หลังติดขัดข้อกฎหมาย ปัดแย่งอำนาจกลับคืนจาก สปสช. ยันไม่เกี่ยวข้องการล้างทุจริต ยังต้องตรวจสอบ

วันนี้ (6 ก.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงคำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. เพื่อแก้ปัญหางบกองทุนบัตรทองที่ติดขัดในข้อกฎหมาย โดยให้ รมว.สาธารณสุข ออกระเบียบการใช้จ่ายงบที่มีปัญหาให้แล้วเสร็จใน 60 วัน ว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา สตง. และ คตร. ตีความว่าเงินกองทุนบัตรทองต้องใช้สำหรับงานบริการสาธารณสุข ซึ่งมี 12 เรื่อง ทำให้การนำเงินมาใช้ในการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่สำคัญ นำเงินมาจ่ายเป็นค่าเสื่อมสิ่งก่อสร้าง และครุภัณฑ์ รวมไปถึงเงินช่วยเหลือเบื้องต้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ จึงตีความว่าไม่สามารถใช้ได้ ทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานบริการผู้ป่วย การออกคำสั่งดังกล่าวก็เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถใช้งบดังกล่าวได้โดยไม่ติดขัด ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะมีการร่างระเบียบการรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายออกมารองรับกับคำสั่ง ม.44 นี้ โดยที่กระทรวงการคลังต้องเห็นชอบก่อนที่ รมว.สาธารณสุข จะลงนามในประกาศ ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

“การออกคำสั่งดังกล่าวมาถือว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้โรงพยาบาลทั้งประเทศ และไม่ได้เป็นการยึดอำนาจกลับมายัง สธ. แต่อย่างใด เป็นเพียงแต่การออกคำสั่งให้โรงพยาบาลบริการได้สะดวกขึ้นไม่ติดขัดกับข้อกฎหมาย ซึ่งก็ต้องมีการแก้ไขต่อไปในอนาคต” ปลัด สธ. กล่าวและว่า สำหรับการร่างระเบียบออกมารองรับนั้น มี นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัด สธ. เป็นประธาน ซึ่งจะต้องทำรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น ค่าใช้จ่ายประจำมีอะไรบ้าง ค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ที่ใช้ในการบริการผู้ป่วยนอกบริการผู้ป่วยใน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และต้องวางหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินให้ชัด อย่างเงินช่วยเหลือเบื้องต้นบุคลากรทางการแพทยืที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ ก็ต้องทำอัตราการจ่ายเงินให้ชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นจะอิงตามระเบียบของ สปสช. และเงินบำรุง

นพ.โสภณ กล่าวว่า การออกคำสั่ง ม.44 นี้ ยืนยันไม่ได้เป็นการล้างผิดการทุจริต ซึ่งการตรวจสอบทุจริตก็ต้องทำต่อไป เพราะคำสั่งก็ระบุชัดเจนว่า การจ่ายเงินและการรับเงินซึ่งได้กระทําก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2558 หากผลการตรวจสอบของ สธ. พบว่า ได้ดําเนินการโดยสุจริตและสอดคล้องกับคำสั่ง ม.44 ให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามคําสั่งนี้ด้วย ก็จะไม่เข้าข่ายทุจริต แต่หากตรวจสอบพบว่าทุจริตก็ต้องว่าไปตามนั้น ซึ่งเรื่องนี้มี พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. เป็นผู้ดำเนินการ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น