xs
xsm
sm
md
lg

ชงจัดสรรงบรายหัว “บัตรทอง” ขั้นบันได แก้วิกฤต รพ.ขาดทุนยับ 50 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผยครึ่งปีงบประมาณ 59 มี รพ. ขาดทุนหนักระดับ 7 ถึง 50 แห่ง เกือบทั้งหมดเป็น รพ. ชุมชน ผลวิจัยเสนอจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองแบบขั้นบันได พื้นที่เกาะ ประชากรน้อย ควรได้มากกว่า เร่งจัดทำข้อมูลตัดเงินเดือนระดับประเทศ หรือจังหวัด ก่อนเสนออนุฯการเงิน สปสช. 9 - 10 ก.ค. นี้

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติจำนวน 1.71 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3,150.23 บาทต่อหัวประชากร ว่า ในการหารือได้มีการพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาโรงพยาบาลสังกัด สธ. ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องระดับ 7 ด้วย ซึ่งสิ้นไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2559 หรือสิ้น มี.ค. 2559 มีอยู่ประมาณ 50 แห่ง จากโรงพยาบาลทั้งหมด 886 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 44 แห่ง จาก 780 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.64 และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) / โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 6 แห่ง จาก 106 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.66

นพ.โสภณ กล่าวว่า สาเหตุของปัญหา รพ. ขาดสภาพคล่อง คือ 1. พื้นที่มีประชากรน้อย ทำให้ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวน้อย 2. ปัญหาพื้นที่ โดยหลายพื้นที่มีโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง และ 3. การบริหารงบประมาณของผู้บริหาร ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพูดถึงผลการศึกษาของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาสถานะทางการเงิน และปรับปรุงระบบการเงินและบัญชีของหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. ที่มี น.ส.นวพร เรืองสกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นประธาน ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวได้เสนอว่า ทางออกหนึ่งคือ การจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายแบบขั้นบันได กล่าวคือ หากในพื้นที่เกาะ หรือพื้นที่ประชากรน้อย ควรได้งบเหมาจ่ายมากกว่า พื้นที่ปกติ ส่วน รพ. ที่มีประชากรมาก ก็อาจต้องได้รับงบน้อยลง เป็นต้น

“ส่วนเรื่องการรวมเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุข ผูกไว้กับงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น ที่ประชุมมีข้อเสนอว่า ควรตัดเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุขระดับใด ระหว่างระดับประเทศ หรือระดับเขต เพราะหากตัดเงินเดือนระดับประเทศ งบจะถูกหักออกมา และจะทำให้พื้นที่ภาคอีสานที่มีประชากรมากได้รับงบรวมส่วนนี้น้อยลง แต่จะทำให้ภาคอื่นได้รับงบเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุป โดยได้มอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปจัดทำตัวเลข ข้อเสนอ การเปรียบเทียบต่าง ๆ มาเสนอในที่ประชุมอีกครั้ง ก่อนเสนอให้คณะอนุกรรมการการเงินการคลังของ สปสช. พิจารณาในช่วงวันที่ 9 - 10 ก.ค.นี้” ปลัด สธ. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดประสงค์เดิมในการตัดเงินเดือนระดับเขต เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์กระจายไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยใช้เงินเดือนเป็นตัวดึง นพ.โสภณ กล่าวว่า จาก 10 กว่าปีที่ผ่านมาเห็นชัดแล้วว่า ไม่ได้ช่วยให้บุคลากรกระจายไปยังชนบทมากนัก ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในตัวเมืองใหญ่ ๆ จึงต้องมีการพิจารณาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น