พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สนช.
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สนช.
ก่อนที่จะตอบคำถามของเรื่องนี้ เราต้องมาดูก่อนว่าเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่อะไร ทำไมประชาชนจึงต้องสนใจ?
ถ้าไปดู พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จะมีการบัญญัติหน้าที่ของเลขาธิการ สปสช.ไว้ 2 มาตรา คือมาตรา 31 และมาตรา 36
มาตรา 31 กำหนดให้ สปสช.มีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานทุกตำแหน่ง
ส่วนมาตรา 36 เลขาธิการ สปสช.มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือน หรือชคาจ้าง ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานฯลฯ (เป็นอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและเจ้าหน้าที่ของ สปสช.เท่านั้น)
(2) ออกระเบียบหรือประกาศ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศของคณะกรรมการ
ฉะนั้นเลขาธิการ สปสช.มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารกิจการของสำนักงาน ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด) มีมติหรือมอบหมายให้ดำเนินการ
ส่วนอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นั้นมีบัญญํติไว้ในมาตรา 6 ซึ่งมีทั้งหมด 14 ข้อ แต่โดยสรุปที่สำคัญก็คือ สปสช.ทำหน้าที่ธุรการตามที่คณะกรรมการมอบหมายหรือมีมติเท่านั้น
แต่เหตุใดเมื่อ คสช.มีคำสั่งให้ย้าย นพ.วินัย สวัสดิวร ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. คณะกรรมการจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการบริหารงานของ สปสช.ด้วย คณะกรรมการก็ยังทำหน้าที่ต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณธที่ นพ.วินัย สวัสดิวรอ้างว่า ทำทุกอย่างตามมติบอร์ด
คำถามก็คือ เลขาธิการทำทุกอย่างตามมติบอร์ดจริงหรือ?
ถ้าเขาทำทุกอย่างตามมติบอร์ดจริง บอร์ดก็จะต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของเลขาธิการอย่างไม่ต้องสงสัย
ในขณะที่รัฐบาลต้องจ่ายงบประมาณเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีละเกือบสองแสนล้านบาท บอร์ดมีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ แต่ผู้ที่ร่างระเบียบ ข้อกำหนดหรือข้อบังคับในการใช้งบประมาณสองแสนล้านบาทนี้ ก็คือ สปสช. ที่มีเลขาธิการเป็นหัวหน้าสำนักงาน โดยมีคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ เป็นผู้เสนอแผนการดำเนินงานและแผนการเงิน เพื่อนำเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบตามที่อนุกรรมการชุดนี้เสนอ
แต่บอร์ดทั้งหลายล้วนมีงานประจำตามตำแหน่งมากมายอยู่แล้ว และได้รับเอกสารที่เลขาธิการเสนอล่วงหน้าก่อนการประชุมไม่กี่วัน คงไม่ได้มีเวลาอ่านอย่างละเอียด จึงอาจจะทำให้แผนการบริหารงานและแผนการบริหารการเงินที่เลขาธิการและคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รับการ “เห็นชอบ” ตามมติคณะกรรมการ
เท่ากับว่าเลขาธิการ สปสช.คือ “ผู้ถือถุงเงินปีละสองแสนล้านบาท” และสามารถ”หยิบเงินไปใช้” ได้ในสองกรณีคือ
1.ตามที่คณะอนุกรรมการฯต้องการโดยบอร์ดรับทราบและรับรองอย่างถูกต้อง หรือ
2. เลขาธิการสามารถทำงานและใช้เงินโดยบอร์ดอาจจะรับรองโดยไม่เห็น (อ่าน) รายละเอียดของแผนงานและแผนการเงินก็เป็นได้
ทั้งนี้วงเงินสูงสุดที่เลขาธิการ สปสช. สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้เองโดยไม่ขออนุมัติบอร์ดสปสช คือ หนึ่งพันล้านบาท ช่างหอมหวนยิ่งนัก