xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประทีป” อดคุมงบบัตรทอง หลังบอร์ดเกินครึ่งไม่รับรอง ชวดเก้าอี้เลขาฯ สปสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอประทีป” อดคุมงบบัตรทอง หลังบอร์ดลงคะแนนเสียงไม่รับรอง 14 เสียง รับรอง 13 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ชวดเก้าอี้เลขาธิการ สปสช. ไปแบบเฉียดฉิว พบบัตรลงคะแนนขีดถูกทำที่ประชุมถกวุ่น

วันนี้ (4 ก.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีวาระการคัดเลือกตำแน่งเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ แทน นพ.วินัย สวัสดิวร ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งแคนดิเดตที่ได้รับการเสนอเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม เหลือเพียง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. คนเดียว เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดคุณสมบัติ

ทั้งนี้ นพ.ประทีป ได้แสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมบอร์ด สปสช. ว่า ยุทธศาสตร์การทำงานของ สปสช. ในอนาคตจะต้องเป็นไปในลักษณะ “โกล แอนด์ โกรว์ธ ทูเกเธอร์ (Goal & Growth Together)” โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้าน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของงานหลักประกันสุขภาพ คือ 1. ประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะต้องเข้าถึงบริการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มากขึ้น โดยเฉพาะที่ยังเป็นจุดอ่อน คือ กลุ่มคนเมือง คนชั้นกลาง และคนชายขอบมาก ๆ รวมไปถึงผู้ต้องขัง โดยภายใน 3 - 5 ปี จะต้องได้รับประโยชน์จากระบบนี้อย่างเป็นรูปธรรม 2. ระบบบริการ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการอย่างเต็มที่ เพื่อขยายการบริการโดยเฉพาะในเขตเมือง เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเน้นคนในเขตเมืองเพิ่มขึ้น

3. การปฏิรูปแผนการจัดการกองทุน โดยเฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวที่จัดสรรลงไปยังโรงพยาบาล ต้องไม่เป็นภาระกับโรงพยาบาล สามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน และ มีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้ให้บริการ โดยขณะนี้มีการเสนอแนวทางการจัดสรรงบเหมาจ่ายแบบขั้นบันได ซึ่งตนเห็นด้วยที่การจัดสรรงบลักษณะดังกล่าวจะมาช่วยแก้ปัญหาการเงินขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล รวมไปถึงจะต้องหาแหล่งเงินเพิ่มขึ้นใน 3 - 4 ปี โดยเฉพาะการร่วมจ่ายที่มีหลักการ คือ การร่วมจ่ายก่อนเข้ารับบริการ เช่น การจัดเก็บภาษี เป็นต้น ส่วนการร่วมจ่ายเมื่อรับบริการก็ต้องเป็นลักษณะจ่ายเพิ่มเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม ซึ่งตรงนี้จะช่วยดึงให้คนชั้นกลางหรือคนเมืองเข้าถึงระบบบริการเพิ่มขึ้น 

“ส่วนกรณีการรวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น เนื่องจากกฎหมาย คือ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุเอาไว้ชัดเจน เพื่อใช้ประเด็นเรื่องเงินเดือนในการกระจายทรัพยากรไปยังพื้นที่ขาดแคลน แต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา กลไกการเงินด้านนี้ยังกระจายทรัพยากรไปได้ไม่ชัดเจน ก็มีความเห็นหลายส่วนทั้งการถอนเงินเดือนออกมา แต่ก็มีข้อกังวลว่าอาจกระทบกับพื้นที่ที่มีคนมาก เช่น ภาคอีสาน ก็ต้องหามาตรการอื่นมารองรับ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเงินเดือนจะรวม หรือถอนออกจากงบเหมาจ่ายนั้น ต้องมีข้อมูลวิชาการที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงแก้กฎหมายเป็นลำดับต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

4. การมีส่วนร่วมโดยเฉพาะท้องถิ่น หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ในการจัดการปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุ และ 5. ต้องทำให้ สปสช. เป็นหน่วยงานรัฐแบบใหม่ที่ประสิทธิภาพ ไม่เหมือนส่วนราชการทั่วไป คือ ทำให้เป็นองค์กรที่มีขนาดเล็ก แต่คล่องตัว โดยอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของ สปสช. อยู่แล้ว ส่วนกำลังคนก็ต้องพัฒนา ซึ่ง สปสช. มีบุคลากรทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค ประมาณ 900 คน โดยกำลังคนระดับหัวและฝ่ายสนับสนุนค่อนข้างมีมาก จึงต้องเพิ่มสัดส่วนกำลังคนในระดับกลาง ซึ่งเป็นคนทำงานให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังคณะกรรมการซักถามผู้แสดงวิสัยทัศน์เสร็จ จึงเข้าสู่ช่วงการลงคะแนนเสียงลับ ซึ่งในที่ประชุมมีผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 28 คน จาก 30 คน เนื่องจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ไม่ลงคะแนนเสียง และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ที่ติดภารกิจต้องออกจากที่ประชุมก่อน ซึ่ง นพ.ปิยะสกล ติงฝ่ายกฎหมาย สปสช. ว่า บกพร่อง เนื่องจาไม่แจ้งประธานบอร์ด และไปตกลงเองว่าไม่ให้สิทธิลงคะแนนเสียง เพราะการเลือกตั้ง แม้อยู่ต่างประเทศก็ลงคะแนนเสียงได้

สำหรับผลการนับคะแนน พบว่า ผู้ไม่รับรอง นพ.ประทีป เป็นเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ มี 14 คน รับรอง 13 คน ไม่ออกเสียง 1 คน อย่างไรก็ตาม ได้มีการถกเถียงในที่ประชุม เนื่องจากมีการขีดเครื่องหมายถูกในใบลงคะแนนช่องไม่รับรอง ทำให้กรรมการสัดส่วนภาคประชาชนทักท้วงว่าไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องมีการลงมติว่าจะรับรองบัตรใบที่มีปัญหานั้น เป็นการแสดงเจตนารมณ์หรือไม่ ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่ประชุม คือ 18 เสียง รับรองว่า เป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่รับรอง แต่กรรมการสัดส่วนภาคประชาชนก็ยังขอไม่รับรองเช่นเดิม

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาใหม่ โดยจะเป็นคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมคือ นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน หรือเป็นคณะกรรมการชุดใหม่นั้น ขอให้ได้รายชื่อคณะกรรมการฯ ภายในวันที่ 8 ก.ค.นี้


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น