อาจารย์เภสัชฯ ม.ขอนแก่น ชี้ TPP ขยายอายุสิทธิบัตรยา ผูกขาดยาขึ้นทะเบียนตัวแรก กระทบการผลิตยาสามัญ ทำค่ายาแพงขึ้น จัดหาจัดซื้อเข้าสู่ระบบล่าช้า หวั่นกระทบ “งบบัตรทอง” ซ้ำเติมอุตสาหกรรมยาประเทศถอยหลัง เตือนพิจารณาผลความคุ้มค่า
รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ข้อเสนอความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) พบว่า มีผลกระทบด้านสาธารณสุขด้วย โดยจะกระทบต่อราคายา และการผลิตยาสามัญ เนื่องจากการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรยาที่ขยายมากกว่าข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) คือ 20 ปี ทั้งยังคุ้มครองข้อมูลยาที่ยื่นเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นรายแรก (Data exclusivity) ถือเป็นเอกสิทธิ์บริษัทยาที่ขึ้นทะเบียนรายแรกเท่านั้น ทั้งที่ WTO ไม่มีข้อตกลงนี้ ทำให้บริษัทยาสามัญต้องเริ่มกระบวนการทดลองยาใหม่ ทั้งที่มีการพิสูจน์เรื่องความปลอดภัย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการมียาสามัญมาทดแทนยาที่หมดสิทธิบัตร เพราะต้องลงทุนในการทดลองสูงมาก ราคายาสามัญจึงจะสูงขึ้น ทำให้การผลิต และนำเข้ายาสามัญต้องถูกยืดออกไป ที่สำคัญ TPP ขอให้ยอมรับการจดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด คือ การขยายอายุสิทธิบัตร โดยการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติยาเก่าเล็กน้อยช่วงใกล้หมดอายุสิทธิบัตรยา ซึ่งตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทยไม่ยอมรับให้ได้สิทธิบัตรนี้
“ข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยาจะกระทบต่อระบบบัตรทองด้วย เพราะในงบเหมาจ่ายรายหัวปีละกว่าแสนล้านบาทต่อปี เป็นค่ายาร้อยละ 30 ส่วนหนึ่งเป็นยาต้นแบบที่ยังไม่หมดสิทธิบัตร จึงยังไม่มียาสามัญ โดยยากลุ่มนี้ที่ยังไม่หมดสิทธิบัตรจะมีราคาแพง แม้ว่า สปสช.ไม่มีตัวเลขภาพรวมยาต้นแบบที่ใช้ทั้งประเทศ แต่ข้อมูลเบื้องต้นการจัดซื้อยารวมเฉพาะที่ สปสช.ในปี 2558 มีจำนวน 56 รายการ คิดเป็นมูลค่าจัดซื้อ 4,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 28 รายการ เป็นกลุ่มยาชีววัตถุ หรือวัคซีนมูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มยาที่ติดสิทธิบัตร 9 รายการ หากระยะเวลาผูกขาดยาวนานขึ้นจะทำให้ค่ายาในระบบเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งยาบางรายการเป็นยาที่ผู้ป่วยต้องใช้ไปตลอดชีวิต เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น ดังนั้น งบเหมาจ่ายรายหัวคงไม่พอแน่นอน และจะชดเชยอย่างไร รวมถึงการชดเชยหากผู้ป่วยมีอาการลุกลาม หรืออาการแทรกซ้อนจากการไม่ได้รับยาทันเวลา และชดเชยผลกระทบทางสังคม” รศ.ภญ.นุศราพร กล่าว
รศ.ภญ.นุศราพร กล่าวว่า ส่วนข้อตกลงด้านความโปร่งใส และต่อต้านคอร์รัปชัน ดูเหมือนจะเป็นข้อตกลงที่ดี แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า ประเทศใดที่ดำเนินนโยบายระบบสุขภาพที่ต้องจัดซื้อยา และเครื่องมือแพทย์จะต้องเปิดข้อมูลจัดซื้อที่โปร่งใส่ ที่ผ่านมา สปสช.มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสอยู่แล้ว และไม่เคยมีการร้องเรียนในเรื่องประสิทธิผลของยา แต่ในข้อตกลง TPP จะเปิดช่องให้มีคัดค้านได้ ทั้งด้านประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของยาที่จัดซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดซื้อยาต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น และล่าช้าออกไป ดังนั้น สปสช.จะต้องเตรียมสำรองยาเพิ่มขึ้น เพื่อกันปัญหาขาดแคลนยา โดยจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม เช่นเดียวกับข้อตกลงการแข่งขันทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐที่ให้ยกเลิกสิทธิพิเศษการจำหน่ายยา และเวชภัณฑ์ในสถานพยาบาลภาครัฐกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพราะในขณะที่เงินทุน และความเข้มแข็งของบริษัทยาที่ไม่เท่ากัน อาจซ้ำเติมให้อุตสาหกรรมยาในประเทศให้อ่อนแอลงไปอีก
“หากถามถึงความคุ้มค่าที่ไทยจะได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์จาก TPP คงตอบไม่ได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพียงแต่ค่ายาที่เพิ่มขึ้น ต้องถามว่าจะชดเชยในระบบได้หรือไม่ และที่ระบุว่า หากการค้าดีจะส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุข ที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏการนำเงินที่ได้จากเจรจาข้อตกลงการค้าต่างๆ มาใส่ให้แก่ระบบสาธารณสุข แต่ภาพที่ปรากฏคือ อุตสาหกรรมยาในประเทศอ่อนแอลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่แต่เฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศในระยะยาว อีกทั้งที่ผ่านมา ยังมีรายงานวิชาการว่า จากการเจรจาการค้าแต่ละครั้งประเทศไทยได้นำข้อตกลงมาใช้ประโยชน์ไม่ถึงร้อยละ 37 จึงต้องศึกษา และพิจารณาอย่างรอบด้าน” รศ.ภญ.นุศราพร กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่