xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรจะหลุดพ้นอสูรการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

แม้สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้เสนอแนวคิดให้นักการเมืองตั้งวงคุยกัน อ้างว่า เป็นข้อเสนอจากวงเสวนาวิชาการที่ตัวเองเห็นด้วย เพราะเห็นว่าในฐานะนักการเมืองควรแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่ก็ยอมรับว่ากำลังเดินสายพูดคุยกับนักการเมืองอยู่จริง

ตามสมการที่ร่ำลือกันว่าก่อนการเลือกตั้งใหม่จะมีการเซ็ทซีโร่พรรคการเมือง พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยก็อาจแตกเป็นเสี่ยง สุดารัตน์อาจตั้งพรรคมาจับมือกับขั้วอำนาจ ในขณะที่ประชาธิปัตย์อาจจะเดินคนละทางกับ กปปส. ประชามติข้อที่ 2 เปิดทางไว้แล้วว่า ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่ง คสช.มีเสียงวุฒิสภาที่จะตั้งเองไว้ในมือ 250 เสียง จะกำหนดว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคที่ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากก็อาจไม่ได้เป็น

เท่ากับว่าอำนาจแฝงของ คสช.ที่อยู่ในวุฒิสภาจะคุมการตั้งรัฐบาล 2 ครั้งหลังจากนี้ และพรรคที่มาเป็นรัฐบาลจะต้องเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ คสช.วางเอาไว้ นั่นก็คือ นักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องถูกจับให้อยู่ในกรอบไปอย่างน้อย 20 ปี โดยร่างรัฐธรรมนูญใหม่เขียนบทเฉพาะกาลให้วุฒิสภากำกับให้รัฐบาลต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ไว้ในมาตรา 270 โดยให้วุฒิสภาคอยควบคุมการทำงานของรัฐบาล

นอกจากต้องเดินตามแนวแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้วยังต้องเดินตามแนวทางปฏิรูปที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนกำกับเอาไว้

เห็นชัดๆ ว่า แม้เราจะต้องเผชิญกับนักการเมืองหน้าเดิมๆ แต่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองถ้าไม่เดินตามร่องที่ คสช.ขุดไว้ให้เดินก็ไปไม่ได้

ที่เป็นไม้ตายก็คือ รัฐบาลทหารและ คสช.จะยังมีอำนาจอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นั่นก็คือ ถ้าเกิดพลิกผันการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามปรารถนาก็ยังมีมาตรา 44 ที่มีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่ในมือ เพราะแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านประชามติแล้ว ก็ยังมีบทเฉพาะกาลให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวบังคับใช้อยู่ ลองไปดูบทเฉพาะกาลตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาตรา 265

ถึงวันนั้นจะอ้างเหตุใช้มาตรา 44 เพื่อสั่งให้เลือกตั้งใหม่ก็ยังได้

ถ้าเราเลือกตั้งในปี 2560 นับเป็นอีก 1 ปีจากนี้ รวมกับวุฒิสมาชิกที่ คสช.ตั้งไว้ 250 เสียงจะมีอำนาจ 5 ปีสามารถโหวตรัฐบาลอีกสองรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลครบตามวาระชุดละ 4 ปีก็อีก 8 ปี ไม่ผิดหรอกครับที่มีคนพูดว่าเราจะอยู่ใต้ร่มเงาของ คสช.ไป 12 ปีเมื่อรวมตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

แต่ต้องยอมรับนะครับว่าวิกฤตบ้านเมืองในรอบ 10 ปีมานี้ ใครจะปฏิเสธว่าประเทศชาติไม่ได้มีปัญหาเพราะนักการเมือง ทหารอ้างเหตุเข้ามายึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปหลายฉบับแล้วก็เพราะนักการเมืองทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าตอนมีอำนาจและหน้าที่นักการเมืองไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนเลย นอกจากรับผิดชอบต่อนายทุนเจ้าของพรรค และกระเป๋าของตัวเอง

ผมคิดว่าที่คนส่วนหนึ่งเขาขานรับรัฐบาลทหารและ คสช.ก็เพราะต้นทุนที่ต่ำของนักการเมืองนี่แหละ

แม้จะเบื่อนักการเมืองและมีหลายคนอยากให้รัฐบาลทหารอยู่ต่อไปนานๆ แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ก็พูดย้ำแล้วย้ำอีกว่า รัฐบาลทหารจะอยู่ในอำนาจตามโรดแมปเท่านั้น นั่นแปลว่าอีกไม่นานประเทศต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่จะอยู่บนกติกาที่ถูกวางไว้อย่างรัดกุมไม่ให้นักการเมืองมีอำนาจจนเกินไปนับจากนี้อย่างน้อย 2 รัฐบาลจากกติกาที่ คสช.จะวางไว้

พูดง่ายๆ ว่ายังไม่ปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในเงื้อมมือเขี้ยวเล็บของนักการเมืองอย่างเต็มไม้เต็มมือ อย่างน้อยในช่วงระยะเวลาหนึ่งประเทศชาติจะหลุดพ้นจากการถูกตัดสินด้วยหีบเลือกตั้งที่มีเบื้องหลังคือการซื้อเสียง ระบบอุปถัมภ์ อิทธิพลท้องถิ่น และการขาดความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ที่วัดผลกันด้วยกับดักเสียงข้างมากแบบวันแมนวันโหวต

เมื่อก่อนนั้นเวลามีใครพูดว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ก็จะถูกหาว่าดูถูกประชาชน แต่พออังกฤษใช้วันแมนวันโหวตชี้ชะตาการอยู่ในประชาคมยุโรป คนก็เริ่มตั้งคำถามเรื่องความไม่รู้ของประชาชนและผลลัพธ์ของเสียงข้างมากว่าไม่ใช่สิ่งชี้แนวทางที่ถูกต้องเสมอไป นั่นขนาดคนอังกฤษนะครับยังถูกตั้งคำถามถึงการตัดสินใจโหวตบนความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ลองคิดถึงความแตกต่างของประชากรในบ้านเราดูสิ

ลองคิดดูง่ายๆ เถอะครับว่า ถ้าประชาชนเข้าใจว่า เขาเลือกนักการเมืองมาทำอะไร เขาจะเลือกคนโง่คนหนึ่งมาปกครองตัวเองไหม แล้วทำไมเราจึงได้นายกรัฐมนตรีที่ไร้สติปัญญาคนหนึ่งมาปกครองประเทศ ด้วยอำนาจของเสียงข้างมากได้ ทำไมยังเลือกนักการเมืองที่รู้ว่าทุจริตได้ ทำไมจึงมีความคิดว่าคอร์รัปชันไม่เป็นไรให้เราได้ประโยชน์ด้วย

คำถามว่าหลังจากนั้นต่อไปในอีก 8-10 ปีข้างหน้าล่ะ เมื่อถึงวันที่เรากลับไปเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และตัดสินกันด้วยเสียงข้างมากอีก

ต้องไม่ลืมว่านักการเมืองรอเวลาและพลิกผันได้เสมอ แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติกันนี้จะถูกการันตีว่าเขียนขึ้นมาเพื่อปราบโกง แต่เชื่อหรือว่า นักการเมืองที่เขี้ยวรากดินจะไม่หาช่องทางที่แสวงหาประโยชน์ได้ เมื่อมีอำนาจ เชื่อเลยว่าต่อให้กฎหมายเขียนให้เข้มข้นกว่านี้ก็ไม่มีทาง

เมื่อวันที่นักการเมืองได้อำนาจของตัวเองกลับคืนมาก็จะใช้อำนาจอย่างเหิมเกริมอีก แสวงหาผลประโยชน์เพื่อถอนทุนที่ลงไปกลับคืนมาอีก

เมื่อเราไม่สามารถไปคาดหวังความรับผิดชอบ และคุณธรรมจากนักการเมืองได้ แต่ต้องกลับไปเลือกตั้งเพื่อให้นักการเมืองอ้างประชาธิปไตยเข้ามามีอำนาจอีก ถามว่าประชาชนต้องทำอย่างไรจึงจะควบคุมให้นักการเมืองมีความรับผิดชอบต่อประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง เป็นตัวแทนของประชาชนไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มทุนทางการเมืองหรือกลุ่มอำนาจใด

ทำอย่างไรไม่ให้วิกฤตของประเทศเหมือน 10 ปีที่ผ่านมานี้กลับมาอีกในรุ่นลูกหลานของเรา ทำอย่างไรไม่ให้อสูรกายทางการเมืองแบบทักษิณกลับมาอีก หรือถ้าพูดไปทักษิณก็อาจจะยังมีลมหายใจรอคอยถึงวันนั้นหรือไม่ก็สืบเชื้อพงศ์วงศ์อสูรเอาไว้ แล้วเราจะรับมือกับพวกนี้อย่างไร

นอกจากเราจะมีกติกาที่เข้มแข็งแล้ว เราจะพัฒนาความรู้ของประชาชนให้เข้าใจถึงความหมายของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่การตอบแทนบุญคุณในระบบอุปถัมภ์ได้ไหม เพราะถ้าเรามีประชาชนที่มีคุณภาพ เราก็จะมีนักการเมืองที่มีคุณภาพมีคุณธรรม และสำนึกความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน

ใช่หรือไม่ว่าความรู้และจิตสำนึกของประชาชนเท่านั้น ที่จะพาเราออกจากกับดักของเสียงข้างมากได้ แล้ววันนั้นจะทำให้อสูรการเมืองสูญพันธุ์ไป คำถามว่าเราจะมีวันนั้นไหม
กำลังโหลดความคิดเห็น