เมืองไทย 360 องศา
เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ สำหรับท่าทีของแต่ละฝ่ายที่ต้องแสดงออกมา เนื่องจากเวลากระชั้นเข้ามา อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับไฟต์บังคับให้ต้องแสดงจุดยืนออกมา ล่าสุด ก็เห็น สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน อดีตเลขาฯ กปปส. ได้ออกมาใช้สื่อโซเชียลฯ ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ประกาศเยินยอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยยกเป็นเหตุผลในการสนับสนุนการโหวต “รับร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งเขาจะใช้สื่อโซเชียลแบบนี้ทุกวันไปจนถึงวันลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะออกมาปรามว่าระวังจะผิดกฎหมายการลงประชามติ แต่ฟังจากน้ำเสียงแล้วก็ไม่ได้จริงจังเด็ดขาด อีกทั้งเมื่อฟังจากฝ่ายกฎหมาย คือ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็กล่าวในทำนองว่า การประกาศว่า “รับหรือไม่รับ” ร่าง รวมไปถึงการชี้ให้เห็นถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเป็นการพูดความจริง ก็ไม่ถือว่ามีความผิด ตราบใดที่ไม่พูดจาหยาบคาย บิดเบือน ปลุกระดม เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของ ศุภชัย สมเจริญ ทำนองว่าไม่ผิด แต่ถ้าใครเห็นว่าผิดก็สามารถร้องเรียนเข้ามาได้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากอารมณ์และความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ก็คงต้องการให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ หยุดเอาไว้ก่อน หลังจากได้แสดงท่าทีเน้นย้ำให้บรรดามวลชนที่สนับสนุนได้เห็นแล้วว่า “เขารับร่าง” ก็โอเคแล้ว เพราะหากยังให้เดินหน้าต่อ ก็จะเป็นเงื่อนไขให้อีกฝ่าย คือ ฝ่ายเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นพวก นปช. ที่ทาง จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ประกาศว่าจะทำแบบเดียวกัน โดยใช้สื่อโซเชียลฯ เพื่อแสดงท่าที “ไม่รับ” อ้างว่า เมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำได้พวกเขาก็ทำได้ นี่แหละที่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาเบรกไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมจนบานปลายออกไปได้
แต่สิ่งที่น่าจับตามากไปกว่านั้นก็คือ ต้องมีการตั้งคำถามว่า ทำไมถึง สุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องออกมาประกาศหนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงนี้ ทั้งที่จะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้ไม่นาน เขาก็แถลงข่าวชัดเจนแล้วว่า “รับร่าง” ทำไมต้องย้ำกันในช่วงเวลานี้ แต่หากพิจารณากันถึงความเคลื่อนไหวจากด้านอื่น โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้าม คือ ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังผนึกกำลังรุกเข้ามา ทั้งฝ่ายมวลชนของตัวเอง ทั้ง นปช.ที่โจมตีรัฐธรรมนูญ พยายามเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ก็ออกแถลงการณ์โจมตีรัฐบาล โจมตีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวหาถึงความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ การละเมิดสิทธิมนุษยชน จนถึงไปฟ้องสหประชาชาติให้เข้ามาแทรกแซง และที่น่าจับตาก็คือ ได้เห็นการเคลื่อนไหวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ ที่ระยะหลังมีการเดินสายพบกับมวลชนเป้าหมายมากขึ้นผิดปกติ
ที่น่าสังเกตก็คือ เริ่มมองว่ามีการเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของธรรมกาย ที่กำลังดิ้นรนยื้อคดีรับของโจร และร่วมกันฟอกเงินของ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลว่าหากทั้งสองฝ่ายต่อติดกันได้ ก็จะทำให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่นสะเทือนได้ เพราะเชื่อว่าเป้าหมายของคนพวกนี้ต้องการ “ล้มกระดาน” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องการให้ตัวเองพ้นผิด หรือมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นฉบับอื่น เนื่องจากฉบับใหม่ที่จะมีการลงประชามติอยู่นี้ มีผลกระทบกับพวกเขาอย่างรุนแรง จะปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้เป็นอันขาด
นอกเหนือไปจากนั้นยังได้เห็นอาการของบรรดานักการเมือง “ระดับเขี้ยวลากดิน” ที่เตรียมนัดชุมนุมหารือกันภายใน เริ่มจากเครือข่ายตัวแทนของทักษิณ ชินวัตร ที่เคลื่อนไหวโดย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่นัดหมายนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยในสัปดาห์นี้ อ้างว่า เพื่อหาทางออกกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้ว่านี่คือการ “ช่วงชิง” การนำกันในหมู่ “ลูกน้อง” ก็ตาม แต่ก็ได้เห็นการก่อตัวบางอย่างชัดเจนขึ้น และที่ต้องจับตากันในช่วงนี้ก็คือ การออกมาประกาศ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกระดับอาวุโสบางคนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการย้ำอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้เคยแสดงท่าทีให้เข้าใจว่าพวกเขาจะโหวตต้านมาแล้ว
จะด้วยสาเหตุแบบนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ต้อง “ผลักดัน” ให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องออกมาเยินยอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาล แล้วประกาศว่าโหวตหนุนเอาในตอนนี้ เพราะเริ่มไม่ชัวร์ว่าจะผ่านได้ฉลุยเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งมันมีเดิมพันสูง เพราะหากไม่ผ่าน มันก็จะเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้ามกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบ ล่าสุดยกเอาเหตุผลจากการลงประชามติในอังกฤษมาเปรียบ แม้ว่าที่ผ่านมาจนกระทั่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันว่าไม่ลาออก อ้างว่าไม่เกี่ยวกันก็ตาม
ดังนั้น นาทีนี้มันก็ตัองทำทุกทางให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติให้ได้ หลังจากได้เห็นการเคลื่อนไหวจากฝ่ายตรงข้ามน่ากลัวขึ้นทุกวัน และที่สำคัญ เริ่มมีการ “สงวนจุดต่าง” ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ ประชาธิปัตย์ จนทำให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องรีบขยับหรือเปล่า มันน่าคิด!