xs
xsm
sm
md
lg

ร้องศาลปค.ถอนประกาศกกต. ปิดปากประชาชนวิจารณ์รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (6 ก.ค.) โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนักวิชาการด้านสิทธิมุษยชน รวม 13 ราย นำโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.ไอลอว์ เข้ายื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 พร้อมขอให้ศาลไต่สวน เพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้สั่งระงับการใช้ประกาศกกต. ดังกล่าว และระงับการออกอากาศรายการ "7 สิงหา ประชามติร่วมใจ" ที่มีการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในขณะนี้ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
นายจอน กล่าวว่า ภาคประชาชนเห็นว่าประกาศดังกล่าว ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพ ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ส่งผลให้ประชาชน ขาดข้อมูลที่จะใช้ในการไตร่ตรองว่าจะลงประชามติอย่างไร นอกจากนี้เนื้อหาของประกาศดังกล่าว ยังไปไกลเกินกว่าที่พ.ร.บ.ประชามติกำหนด เช่น กำหนดห้ามจำหน่ายเสื้อ ห้ามจัดเวทีพูดคุยเรื่องร่างรธน. หากไม่รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา ซึ่งภาคประชาชนเห็นว่าการรณรงค์ประชามติไม่ผิด เป็นสิ่งที่ทำได้ และทั่วโลกก็จะเปิดอิสระให้มีการแสดงความคิดเห็น แต่กกต. ซึ่งมีทำหน้าที่ที่ทำให้การเลือกตั้งสุจริตกลับไม่ทำหน้าที่ แต่ไปปิดปากจำกัดสิทธิของประชาชนที่เห็นแย้งกับ ร่าง รธน. รวมทั้งยังทำผิดหน้าที่จัดให้มีรายการที่นำ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเสนอด้านดีของร่าง รธน. ซึ่งเหมือนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนรับ ร่างรธน. ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้คนเห็นแย้ง แสดงความคิดเห็นด้วย และต้องทำตัวเป็นกลาง
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า ประกาศกกต.ดังกล่าว ออกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. ที่มีเนื้อหากำหนดการกระทำความผิด ซึ่งศาลรธน.วินิจฉัยแล้วว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ไม่ขัดรธน.ชั่วคราว กรณีที่ ไอลอว์ได้ร้องต่อศาลฯว่า ประกาศกกต.ฉบับนี้ ในข้อ 5 (5) ที่ระบุว่าการชักชวนให้ใส่เสื้อ ติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ถือเป็นความผิดนั้น ถ้าอ่านกฎหมายละเอียดจะรู้ว่า การกระทำลักษณะดังกล่าวไม่เป็นความผิด ถ้าไม่มีเจตนาปลุกระดม ซึ่งที่ผ่านมามีพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น แต่กกต.ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้นไอลอว์ คงเข้าใจผิด
ส่วนที่ขอให้ระงับรายการ "7 สิงหาประชามติร่วมใจ" โดยอ้างว่าเนื้อหารายการสนับสนุนให้รับร่างรธน.มากกว่านั้น รายการดังกล่าวจะมีทั้งหมด 13 ครั้ง แยกเป็นของ กกต.2 ครั้ง ของ สนช.-กรธ. รวมกัน 5 ครั้ง ซึ่งเหตุผลที่ต้องให้เวลากับหน่วยงานดังกล่าว เนื่องจากมาตรา 10 พ.ร.บ.ประชามติ กำหนดให้กรธ.ต้องจัดให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระร่างรธน. ส่วนอีก 6 ครั้ง เป็นการให้สถานีโทรทัศน์ เชิญวิทยากรจากผู้มีความคิดเห็น 2 ฝ่าย มาให้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกันโดยกกต.ไม่ได้แทรกแซง
ส่วนที่ไอลอว์ ฟ้องว่า ประกาศ กกต.ข้อ 5 (4) ที่การจัดเวทีสัมมนา ต้องให้มีสถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และหน่วยงานราชการรองรับ เป็นการจำกัดสิทธินั้น กกต.ต้องการหาหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งกฎหมายประชามติได้เปิดกว้างให้จัดเวทีแสดงความเห็น เนื่องจากคำสั่ง คสช.ไม่สามารถจัดเวทีได้เลย การให้หน่วยดังกล่าวมาเป็นเจ้าภาพ เพื่อต้องการให้เวทีมีความชอบธรรม ไม่ขัดคำสั่ง คสช.
"ผมขอถามจุดยืนของไอลอว์ว่า เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาที่อาจจะออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ไม่รับคำฟ้อง 2.รับแล้วพิพากษาว่า กกต.ไม่ผิด และ 3.รับและเห็นว่ากกต.ผิด ในฐานะกกต.น้อมรับคำวินิจฉัยทุกกรณี ถ้าผิดพร้อมถอนประกาศฉบับดังกล่าว แต่ถามกลับไอลอว์ว่า ถ้าศาลปกครองมีคำวินิจฉัยออกมาทางใดทางหนึ่ง ไอลอว์ จะยอมรับหรือไม่ หรือยังจะตีรวนเหมือนตอนที่ศาลรธน.วินิจฉัย มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดรธน. ก็บอกว่าไม่เป็นธรรม หรือต้องให้ศาลทุกศาลต้องตัดสินตามใจไอลอว์เท่านั้นหรือ จึงจะยอมรับ" นายสมชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น