xs
xsm
sm
md
lg

“จอน” ควง “ประชาธิปไตยใหม่” ร้องศาลฯ เพิกถอนประกาศ กกต. - ยกเลิกรายการทีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“จอน อึ๊งภากรณ์” นำแกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และ 13 นักวิชาการร้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนประกาศ กกต.หลักเกณฑ์ประชามติ อ้างถูกปิดปาก แสดงความคิดเห็นไม่ได้อย่างเสรี เชื่อรณรงค์ประชามติไม่ผิด และให้ยกเลิกรายการทีวีของ กกต.ทางฟรีทีวี เสนอแต่ด้านดี

วันนี้ (6 ก.ค.) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนักวิชาการด้านสิทธิมุษยชน รวม 13 ราย นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์, นายเอกชัย ไชยนุวัฒน์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม, นางศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุดขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 พร้อมขอให้ศาลไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้สั่งระงับการใช้ประกาศ กกต.ดังกล่าว และระงับการออกอากาศรายการ “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” ที่มีการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในขณะนี้ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

นายจอนกล่าวว่า ภาคประชาชนเห็นว่าประกาศดังกล่าวละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ส่งผลให้ประชาชนขาดข้อมูลที่จะใช้ในการไตร่ตรองว่าจะลงประชามติอย่างไร นอกจากนี้ เนื้อหาของประกาศดังกล่าวยังไปไกลเกินกว่าที่ พ.ร.บ.ประชามติกำหนด เช่น กำหนดห้ามจำหน่ายเสื้อ ห้ามจัดเวทีพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งภาคประชาชนเห็นว่าการรณรงค์ประชามติไม่ผิด เป็นสิ่งที่ทำได้และทั่วโลกก็จะเปิดอิสระให้มีการแสดงความคิดเห็น แต่ กกต.ซึ่งมีทำหน้าที่ที่ทำให้การเลือกตั้งสุจริตกลับไม่ทำหน้าที่ แต่ไปปิดปากจำกัดสิทธิของประชาชนที่เห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังทำผิดหน้าที่จัดให้มีรายการที่นำกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเสนอด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเหมือนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ต้องเปิดโอกาสให้คนเห็นแย้งแสดงความคิดเห็นด้วยและต้องทำตัวเป็นกลาง

ด้านนายเอกชัยกล่าวว่า ประกาศ กกต.ที่มีปัญหาคือข้อ 5 (5) ห้ามชักชวนรณรงค์ให้ใส่เสื้อเพราะจะเข้าข่ายเป็นการปลุกระดมซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้ง (4) ที่การจัดเวทีแสดงความคิดเห็นจะทำได้ต้องมีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานของรัฐรับรอง ถือเป็นการจำกัดสิทธิบุคคลธรรมดา ถ้าไปดูกฎหมายประชามติในปี 2550 มีทั้งหมด 11 หมวด ไม่มีหมวดใดที่กำหนดว่าประชาชนจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร แต่ทำประชามติครั้งนี้กฎหมายจำกัดสิทธิชัดเจน ซึ่งเราหวังว่าศาลทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเพราะถ้าประชาชนไม่แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เราไม่สามารถเรียกว่าการออกเสียงครั้งนี้คือการทำประชามติ

ส่วน น.ส.ชนกนันท์กล่าวว่า เป็นตัวแทนของนักกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวที่เห็นว่าการรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้ ก่อนมีประกาศ กกต.ก็ขายเสื้อโหวตโนได้ แต่เมื่อประกาศบังคับใช้ มีการนำเสื้อไปขายหรือใส่เสื้อก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นข่มขู่ว่าถ้าไม่ถอดจะถูกจับกุม เราเห็นว่าการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญควรมีพื้นที่ที่จะแสดงออกได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญจะมาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ควรที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่








กำลังโหลดความคิดเห็น