xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.ไม่รับฟ้องภาค ปชช.ขอชงศาล รธน.วินิจฉัยบทบัญญัติ รธน.-กม.ประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศาลปกครอง” ไม่รับคำฟ้องภาคประชาชนขอให้พิจารณาชงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.ประชามติขัดรัฐธรรมนูญ เหตุเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

วันนี้ (28 มิ.ย.) ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องที่ พ.ท.หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี พร้อมพวกรวม 17 คน ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 กรณีขอให้ศาลปกครองพิจารณาว่ามาตรา 54 มาตรา 178 ของร่างรัฐธรรมนูญ และมาตรา 10 มาตรา 56 มาตรา 60 มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่เกี่ยวกับการห้ามแสดงความคิดเห็นของประชาชน การห้ามบันทึกภาพบัตรออกเสียงที่ตนได้ลงคะแนนแล้ว การห้ามนำบัตรออกเสียงที่ลงคะแนนแล้วมาแสดงต่อผู้อื่น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 4 และขัดต่อหลักกติกาสากลระหว่างประเทศหรือไม่ โดยให้ศาลปกครองส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมถึงให้รัฐแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

โดยศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 39/1 ได้บัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้ง กรธ.ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง แล้วให้ กรธ.แจ้ง ครม. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และแจ้ง สนช.ทราบ รวมถึง กกต. เพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกสียงประชามติ และโดยที่รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ กกต.ต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ต่อนายกฯ จนถึง สนช.เพื่อพิจารณาและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมีผลใช้บังคับต่อไป การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าจึงเป็นการใช้อำนาจและหน้าที่กระทำการในกระบวนการนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครอง หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองที่จะเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากาษาของศาลปกครอง จึงไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น