xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กไทยคมวอนรัฐฯลดค่าต๋ง แข่งขันตปท.พาประเทศเดินหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศักยภาพของอุตสาหกรรมดาวเทียมไทย มีแนวโน้มว่าจะถูกประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก แซงหน้า!ถ้านโยบายภาครัฐไม่เอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนและแข่งขัน

หนึ่งในปัญหาสำคัญก็คือเรื่องของ “ต้นทุน” ที่ประเทศผู้ให้บริการส่วนใหญ่ จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่แพงเกินไป เพราะต้องการให้ Operator ของเขา มีหน้าตักเหนือกว่าคู่แข่งในตลาด

เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มค่าสัมปทานดาวเทียมสื่อสารเป็น20% ... แจ็คพอตมาตกอยู่ที่ ดาวเทียม “ไทยคม 7” ซึ่งยิงขึ้นเมื่อปี 2557 และ “ไทยคม 8” เพิ่งยิงขึ้นไป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่ ดาวเทียมสองดวงนี้ ได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. ไปแล้ว โดยมีเงื่อนไขให้เสียค่าธรรมเนียม 5%ของรายได้ และได้รับอนุญาตให้ใช้ “วงโคจร” จากกระทรวง ICT แล้วเช่นกัน

การส่งสัญญาณขึ้นค่าสัมปทานครั้งนี้ ถูกมองว่าสวนทางกับชาวโลก ที่มีแต่จะปลดล็อคค่าธรรมเนียมให้แก่เอกชนเพราะปัจจุบัน ทั้งสิงคโปร์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฮ่องกง สหรัฐ ลักเซมเบิร์ก และเวียดนาม ล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น

“ถ้าจะเก็บค่าธรรมเนียมแพงๆ เพราะคิดว่าวงโคจรเป็นทรัพยากรของชาติ ต่อไปก็ไม่มีเอกชนทำดาวเทียมไทย เพราะแข่งขันไม่ได้ เมื่อไม่มีดาวเทียมก็ไม่มีสิทธิใน วงโคจร เพราะจะรักษาสิทธิในวงโคจร ต้องมีดาวเทียมขึ้นให้บริการ เราไม่มีดาวเทียม ก็เสียสิทธิไป” บิ๊กวงการโทรคมนาคมกล่าว

ยกตัวอย่าง ดาวเทียม ST-2 ของสิงคโปร์ เสียค่าธรมเนียมรายปีเพียง 1% ของกำไร หรือขั้นต่ำ 5.16 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเพื่อนบ้านของเรา เขาส่งเสริมภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ผู้ประกอบการต้องเสียกับให้กสทช. 5% ต่อปี

หรือกรณีดาวเทียม Intelsat ของสหรัฐ ซึ่งอยู่ในวงโคจร 84.85E มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าประมาณ 4.62 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมรายปีประมาณ 4.24 ล้านบาท ส่วนดาวเทียม SES ของประเทศลักเซมเบิร์ก มีต้นทุนเป็นค่าใช้จ่ายควบคุมดาวเทียมประมาณ 2 แสนบาทเท่านั้น

ปัญหานี้ ยังได้ย้อนกลับมาถึงประเทศไทยด้วย เพราะขณะนี้มีดาวเทียมต่างชาติ เข้ามาขายช่องสัญญาณให้กับผู้ใช้บริการชาวไทยเป็นจำนวนมาก โดยใช้ช่องว่าง ในช่วงที่ยังไม่มีมาตรการควบคุมจากภาครัฐ

โดยหนึ่งในกรณีตัวอย่างที่เห็นชัด คือการที่ บมจ.ซีทีเอช (CTH) จะยกเลิกการออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคม ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และหันไปใช้บริการเช่าทรานสปอนเดอร์จากVinasat ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติเวียดนามเพียงแห่งเดียว จนมีการออกข่าวว่าทางไทยคม จะฟ้อง CTH ที่ผิดสัญญา ตรงนี้สะท้อนภาวะต้นทุนการแข่งขันของอุตสาหกรรมดาวเทียมไทยเทียบกับต่างชาติได้เป็นอย่างดี!

ไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐ เห็นความสำคัญในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทยในระยะยาว พิจารณาเทียบเคียงกับแนวทาง การกำกับดูแลและค่าธรรมเนียมของต่างประเทศ เพราะสภาพการแข่งขันในธุรกิจดาวเทียมทั่วโลกนั้นสูงมาก

“ถ้าดาวเทียมไทย มีต้นทุนที่สูงกว่าดาวเทียมต่างชาติ ก็จะแข่งขันได้ยาก ซึ่งในตอนนี้ เฉพาะค่าธรรมเนียมในอนุญาตของ กสทช. ก็สูงกว่าค่าธรรมเนียมของต่างประเทศมากอยู่แล้ว”

การกำหนดนโยบาย และค่าธรรมเนียม จึงต้องคำนึงเรื่อง ความสามารถในการแข่งขัน ของเอกชนไทยในระยะยาว และควรเทียบเคียงกับค่าธรรมเนียมของต่างประเทศด้วย

“อยากให้ภาครัฐมีแนวทางกำกับดูแลให้ภาคเอกชนทุกๆ ราย แข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมกันและรัฐก็จะได้ไม่เสียผลประโยชน์ด้วย” ซีอีโอ บมจ.ไทยคมระบุ

สถานการณ์ที่รุมเร้าอุตสาหกรรมดาวเทียมสื่อสารของไทย ทำให้คนในแวดวงโทรคมนาคม ทั้งในและต่างประเทศ ต้องการเห็นทิศทางที่ชัดเจน โปร่งใส เท่าเทียม และเป็นธรรม จากภาครัฐโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ เดินหน้า แข่งขัน กับต่างชาติ สามารถเป็นหัวหอกในการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจ และเกิดประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศอย่างแท้จริง.
“ประจิน” นัดเคลียร์ กสทช.ร่วมกับ “อุตตม” ปมไลเซนส์ดาวเทียม หวังเพิ่มเนื้อหา พ.ร.บ.กสทช.
“ประจิน” นัดเคลียร์ กสทช.ร่วมกับ “อุตตม” ปมไลเซนส์ดาวเทียม หวังเพิ่มเนื้อหา พ.ร.บ.กสทช.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุมร่วมกับกสทช.พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลและการบริหารงานกิจการอวกาศ และการออกใบอนุญาตสำหรับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 หลังจากที่ดาวเทียมไทยคม 8 เพิ่งยิงขึ้นสู่วงโคจร 78.5 องศาตะวันออกเมื่อวันที่ 29 พ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น