xs
xsm
sm
md
lg

เย้ยแผนปฏิรูปสปท.ส่อเหลว ได้แต่ท่อง"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (29มิ.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมด้วยประธานกรรมาธิการฯ สปท.หลายคณะ ได้เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรค เพื่อนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ โดยนายอลงกรณ์ ระบุว่า การปฏิรูปประเทศมีความคืบหน้าเกินครึ่งของเป้าหมาย และได้ส่งแผนงานให้ฝ่ายบริหารไปแล้ว และคาดว่าระยะเวลาการทำงานของสปท.น่าจะอยู่ในราวอีก 6 เดือน หากร่างรธน.ผ่านการประชามติ
ด้านนายอภิสิทธิ์ แสดงความเป็นห่วงว่า การปฏิรูปประเทศอาจจะไม่สำเร็จ หากไม่มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ได้แต่ท่องคำว่า "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ซึ่งไม่ใช่หลักคิด แต่เป็นเป้าหมาย และในขณะที่ สปท.ทำงาน ครม. และ สนช. ก็เดินหน้าบริหารราชการ โดย สนช.ออกกฎหมายไปแล้วกว่า 170 ฉบับ ในจำนวนนี้หนักไปในทางขยายบทบาทราชการ เพิ่มอำนาจ เพิ่มงบประมาณ ให้กับหน่วยงาน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการกระทำที่สวนทางกับการปฏิรูป
"สปท. แม้จะมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูป แต่อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ที่ ครม. และ สนช. โดย สปท.ทำได้เพียงเป็นคนที่นั่งเบาะข้าง หรือเบาะหลังเท่านั้น ไม่ใช่คนขับ ผมจึงเป็นห่วง เนื่องจากโครงสร้างเช่นนี้ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า คนที่มีอำนาจจะเชื่อท่าน หรือเชื่อกูเกิ้ลแมป สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง"
การปฏิรูปประเทศจะเกิดได้จริง ต้องมีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเรื่องการออกเสียงประชามติ ร่างรธน. เพราะเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ หากไม่ได้รับการยอมรับ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือปฏิรูปตำรวจ ก็ต้องส่งไม้ต่อให้กับคณะกรรมการที่ รธน.กำหนดไว้ แต่หลักการก็ไม่กำหนดชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปตำรวจ มีการยุบพนักงานสอบสวน รวบอำนาจการแต่งตั้ง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักคิดของการปฏิรูป อีกทั้งเนื้อหาในร่าง รธน. ก็ถดถอย ในเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับรธน.ปี 40 และ 50
"เมื่อขาดหลักคิดชัดเจน มีปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ในร่างรธน. และยังมีปัญหาเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้มีความวิตกกังวลว่าจะถูกยุบรวมหรือไม่ รวมถึงการปรับลดงบท้องถิ่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะทำให้งานของสปท. ยากขึ้นจากสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ เพราะไม่มีหลักคิดและภาพใหญ่ เมื่อเสนอแผนผู้มีอำนาจก็เลือกทำเฉพาะที่อยากทำ แล้วอ้างว่าเป็นการปฏิรูป โดยส่วนใหญ่เป็นการหยิบเฉพาะส่วนที่จะเป็นการขยายอำนาจ และองค์กรภาครัฐ ที่ทำให้มีงบเพิ่มขึ้น จึงฝาก สปท.ไปคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะตอนนี้ไม่ใช่การปฏิรูป เป็นเพียงแค่การปรับปรุงการบริหารเท่านั้น"
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หากกระบวนการการเมืองของประเทศยังไม่ดีขึ้นงานปฏิรูปประเทศก็เดินยาก ซึ่งตนมองเห็นความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น เพราะในขณะที่สังคมต้องการการเมืองที่โปร่งใส มีเสถียรภาพ แต่ความขัดแย้งมีตั้งแต่กติกาสูงสุดก็คงไม่สามารถทำให้การเมืองที่มีเสถียรภาพกลับมาได้ และกระบวนการทำประชามติ ทีเป็นอยู่ ก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ประชาชนจะยอมรับ เนื่องจากมีการใช้กลไกรัฐเข้าไปวุ่นวายกับสาระของร่างรธน. แม้ว่าผลจะออกมาว่าผ่านการทำประชามติ แต่จะสร้างความชอบธรรมได้อย่างไร เพราะประชาชนไม่มีใครมองว่ามีความเป็นกลาง ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ผ่าน ประชามติก็จะกลายเป็นประเด็นการเมือง เกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบทิศทางการปฏิรูป แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น