xs
xsm
sm
md
lg

สปท.แจงปฏิรูป ปชป. เจอตอกไร้หลักคิด ส่อเหลว เหตุผู้มีอำนาจหยิบเฉพาะการขยายบทบาทราชการ เพิ่มอำนาจภาครัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
สปท.ตบเท้าพบ “อภิสิทธิ์” แจงความคืบหน้าการปฏิรูป เจอสวนกลับไร้หลักคิด ปฏิรูปส่อเหลว เปรียบ สปท.แค่คนนั่งเบาะหลัง ผู้มีอำนาจเชื่อกูเกิลแมป หยิบใช้เฉพาะที่เป็นประโยชน์ ทั้งขยายบทบาทราชการ เพิ่มอำนาจองค์กรภาครัฐ ทำให้มีงบฯ เพิ่มขึ้น ชี้ปฏิรูปจะเกิดได้ต้องมีบรรยากาศการมีส่วนร่วม แนะ สปท.ประสานเปิดช่องพรรคการเมืองประชุมปฏิรูปองค์กรเหตุการเมืองไม่ดีเดินหน้าไม่ได้ ด้าน “อลงกรณ์” อ้างไม่ใช่หน้าที่



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (29 มิ.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมด้วยประธานกรรมาธิการ สปท.หลายคณะได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรคฯ เพื่อนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ โดยนายอลงกรณ์ระบุว่า การปฏิรูปประเทศมีความคืบหน้าตามลำดับ เป็นการสานต่องานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และได้ส่งแผนงานให้ฝ่ายบริหารไปแล้วซึ่งถือว่าได้ทำงานเกินครึ่งของเป้าหมายแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าระยะเวลาการทำงานของ สปท.น่าจะอยู่ในราวอีก 6 เดือน หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์แสดงความเป็นห่วงว่าการปฏิรูปประเทศอาจจะไม่ประสบความสำเร็จหากไม่มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน โดยยกตัวอย่างหลักคิดสมัยที่นายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานทำงานด้านการปฏิรูป มีหลักคิดลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยในขณะนี้สิ่งที่ยึดถือคือคำว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่หลักคิดแต่เป็นเป้าหมาย ในขณะที่ สปท.ทำงาน ครม. และ สนช.ก็เดินหน้าบริหารราชการโดย สนช.ออกกฎหมายไปแล้วกว่า 170 ฉบับ ในจำนวนนี้หนักไปในทางขยายบทบาทราชการเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงาน สำหรับตนเป็นการกระทำที่สวนทางต่อการปฏิรูป เช่น การตั้งศาลทุจริตคอร์รัปชัน ชาวบ้านดีใจ แต่กลับไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองเลย อีกทั้งกฎหมายที่ออกมาก็เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งศาลเท่านั้น ต้องรอกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทุจริตออกมาอีกครั้ง ถ้าประชาสัมพันธ์แบบนี้สุดท้ายสาระการปฏิรูปจะเดินไม่ได้

“สปท.แม้จะมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูป แต่อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ที่ ครม. และ สนช. โดย สปท.ทำได้เพียงเป็นคนที่นั่งเบาะข้าง หรือเบาะหลังเท่านั้น ไม่ใช่คนขับ ผมจึงเป็นห่วงเนื่องจากโครงสร้างเช่นนี้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคนที่มีอำนาจจะเชื่อท่าน หรือเชื่อกูเกิลแมป สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง”

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปประเทศจะเกิดได้จริงต้องมีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเรื่องการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ หากไม่ได้รับการยอมรับก็จะเป็นปัญหาในอนาคต เนื่องจากไม่มีอะไรใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรือปฏิรูปตำรวจก็ต้องส่งไม้ต่อให้กับคณะกรรมการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่หลักการก็ไม่กำหนดชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปตำรวจมีการยุบพนักงานสอบสวน รวบอำนาจการแต่งตั้ง ไม่เป็นไปตามหลักคิดการปฏิรูป อีกทั้งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญก็ถดถอยในเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ยิ่งมีการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวก็เกิดข้อวิตกว่าการปฏิรูปจะได้รับการสนองตอบและทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร

“เมื่อขาดหลักคิดชัดเจน มีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญ และยังมีปัญหาเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะนี้มีความวิตกกังวลว่าจะถูกยุบรวมหรือไม่ รวมถึงการปรับลดงบท้องถิ่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะทำให้งานของ สปท.ยากขึ้นจากสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ เพราะไม่มีหลักคิด และภาพใหญ่เมื่อเสนอแผนผู้มีอำนาจก็เลือกทำเฉพาะที่อยากทำแล้วอ้างว่าเป็นการปฏิรูป โดยส่วนใหญ่เป็นการหยิบเฉพาะส่วนที่จะเป็นการขยายอำนาจและองค์กรภาครัฐที่ทำให้มีงบเพิ่มขึ้น จึงฝาก สปท.คิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะตอนนี้ไม่ใช่การปฏิรูป เป็นเพียงแค่การปรับปรุงการบริหารเท่านั้น”

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า หากกระบวนการการเมืองของประเทศยังไม่ดีขึ้น งานปฏิรูปประเทศก็เดินยาก ตนมองเห็นความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น เพราะในขณะที่สังคมต้องการการเมืองที่โปร่งใส มีเสถียรภาพ แต่ความขัดแย้งมีตั้งแต่กติกาสูงสุดก็คงไม่สามารถทำให้การเมืองที่มีเสถียรภาพกลับมาได้ และกระบวนการทำประชามติที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ประชาชนจะยอมรับ เนื่องจากมีการใช้กลไกรัฐเข้าไปวุ่นวายกับสาระของร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่าผลจะออกมาว่าผ่านการทำประชามติ แต่จะสร้างความชอบธรรมได้อย่างไร เพราะประชาชนไม่มีใครมองว่ามีความเป็นกลาง ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ผ่านประชามติก็จะกลายเป็นประเด็นการเมืองเกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องใหญ่ที่จะกระทบต่อทิศทางการปฏิรูปแน่นอน

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองต้องการปฏิรูปพรรค แต่ไม่สามารถทำได้เพราะประชุมพรรคไม่ได้ ตนไมได้เรียกร้องถึงขั้นให้อนุญาตทำกิจกรรมปราศรัยได้ แต่การประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนปฏิรูปองค์กรของตนเองเป็นเรื่องจำเป็น หากจะอนุญาตเมื่อเหลือเวลาประมาณ 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองก็จะยุ่งกับการหาเสียง อีกทั้งกระบวนการปฏิรูปตามกฎหมายต้องใช้เวลากว่าที่ กกต.จะรับรอง ถ้าเป็นเช่นนี้พรรคที่จะทำการปฏิรูปไม่ตายหรือในช่วงการเลือกตั้ง เพราะอยู่ในระหว่างครึ่งๆ กลางๆ จึงเป็นสิ่งที่ สปท.จะต้องแสดงออกว่าหากอยากให้มีการปฏิรูปต้องเปิดช่องทางนี้

“ยิ่งขณะนี้ตอกย้ำว่านักการเมือง พรรคการเมือง มีหน้าที่แค่รอเลือกตั้ง แล้วจะสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองผ่านการเมืองระบบตัวแทนได้อย่างไร ยิ่งเวลาสั้นการแข่งขันก็จะย้อนกลับไปสู่เรื่องประชานิยมเหมือนเดิม ถ้าเปิดพื้นที่การเมืองจะช่วยบีบให้ประเด็นการปฏิรูปซึมลึกลงไปในสังคม เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งคนก็จะสอบถามพรรคการเมืองว่าจะปฏิรูปแต่ละด้านอย่างไร แต่ถ้าไม่มีการสอบถามเรื่องนี้และไม่มีพรรคการเมืองไหนพูดเรื่องการปฏิรูป ยกนโยบายอื่นที่จะมีผลต่อคะแนนเสียง แสดงว่าการปฏิรูปล้มเหลวเดินต่อไม่ได้ เป็นการบ้านใหญ่ที่ สปท.ต้องไปคิด เพราะบ้านเมืองหนีเส้นทางประชาธิปไตยและการเมืองระบบตัวแทนไม่ได้”

ภายหลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมง นายอลงกรณ์เปิดเผยว่า หลังจากได้รับฟังข้อเสนอจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ทาง สปท.จะไปพิจารณาปรับปรุงข้อบกพร่อง แต่ส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ สปท.คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีหน้าที่เพียงแค่ผลิตแผนปฏิรูป และเปิดกว้างอยู่เพราะมีสมาชิกพรรคเกือบทุกพรรค รวมทั้งกลุ่มการเมืองเข้าร่วม ส่วนข้อเรียกร้องที่อยากให้ สปท.ประสานเพื่อให้เกิดการอนุญาตให้ประชุมพรรคการเมืองได้นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของ สปท. แต่ก็รับฟังความเห็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์


กำลังโหลดความคิดเห็น