xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ขออย่ากลัวแสดงความเห็น รับยากเข้าข่ายผิด กม. เล็งเพิ่มอำนาจทีมสืบสวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน (แฟ้มภาพ)
“บุญส่ง” แจง ม.61 พ.ร.บ.ประชามติไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนะ ปชช.อย่ากลัวที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะหากผิดต้องครบองค์ประกอบ 3 อย่างซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เตรียมยกเครื่องพนักงานสืบสวน เตรียมรับมือเลือกตั้งในอนาคต เล็งขอแก้กฎหมายขยายอำนาจเทียบพนักงานสอบสวนตำรวจ

วันนี้ (30 พ.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า กกต.ได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำการออกเสียงประชามติบริเวณปริมณฑล จำนวน 11 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง กลุ่มการเมืองที่ลงพื้นที่ แสดงความคิดเห็น และร้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจกระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งฝ่ายสืบสวนสอบสวนตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย และบางเรื่องเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ประชามติมีผลบังคับใช้ จึงได้สั่งยุติเรื่อง ถือว่าไม่มีเรื่องร้องเรียนใน กกต. ขณะเดียวกัน พบว่ามีการแจ้งเบาะแสแอปพลิเคชันตาสับปะรด โดยนับตั้งแต่เปิดตัวแอปฯ จนถึงวันที่ 16 พ.ค. 2559 จำนวน 2 เรื่อง โดยร้องว่านายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคไทยรักไทย และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวมเสื้อรับ และไม่รับที่มีลักษณะชี้นำ ซึ่งได้ส่งไปยัง กกต.กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ในการตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดอาญาหรือไม่

นายบุญส่งยังมองว่า แม้มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติจะถูกมองว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการกระทำที่จะถือว่าเข้าข่ายผิดมาตราดังกล่าวต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. ต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง 2. ต้องไม่ก้าวราว รุนแรง ข่มขู่ ปลุกระดม และ 3. การกระทำนั้นมีเจตนามุ่งให้ประชาชนออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง จึงยากมากที่จะมีการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวได้ จึงไม่อยากให้ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นแกรงกลัวมากเกินไป เพราะตัวกฎหมายมีเจตนาปรามเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งกฎหมายไม่ได้อำนาจ กกต.ในการชี้ขาด ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดก็สามารถที่จะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนได้เลย ถ้ามาแจ้ง กกต.ก็จะรวบรวมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ไปดำเนินการ ซึ่งแนวปฏิบัตินี้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2559 ว่าตำรวจจะดำเนินการอย่างไร

นายบุญส่งยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นมากขึ้นว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. แต่ส่วนตัวมองว่าผู้ออกกฎหมายควบคุมสถานการณ์มีเจตนาที่ดี เพราะขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงที่มีความขัดแย้งอยู่

ทั้งนี้ นายบุญส่งยังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักสูตรวิชาชีพพนักงานสืบสวนสอบสวนและประมวลจริยธรรม ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานศาลยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สถาบันส่งเสริมงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยามเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายบุญส่งเปิดเผยว่า หลังการประชุมวันนี้คณะกรรมการฯ จะนำหลักสูตรดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ให้ความเห็นชอบ เพื่อพิจารณาอนุมัติการอบรมหลักสูตรวิชาชีพพนักงานสืบสวนสอบสวนต่อไป เพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงานสืบสวนของ กกต.มีความเป็นมืออาชีพ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือและเชื่อมั่นในการรองรับภารกิจการควบคุมการเลือกตั้ง และสามารถป้องปรามการทุจริตเลือกตั้งได้ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะมี 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง มีเนื้อหาในเรื่องการสืบสวนเส้นทางการเงิน การสะกดรอย การสอบปากคำโดยใช้เทคนิคทางจิตวิทยา เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าในระหว่างนี้ก่อนที่จะมีเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น กกต.จะสามารถจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวได้อย่างน้อย 2 รุ่น และการเลือกตั้งในอนาคต กกต.จะขอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้พนักงานสืบสวนของ กกต. มีอำนาจเหมือนพนักงานสอบสวนของตำรวจ โดยมีอำนาจจับกุมซึ่งหน้า ตรวจค้น เชื่อว่าหากมีอำนาจดังกล่าวก็จะสามารถดำเนินการต่อนักการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้งได้


กำลังโหลดความคิดเห็น