xs
xsm
sm
md
lg

Brexit และสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องเรียนรู้จากอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอเอฟพี
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


วันที่ 23 มิถุนายนนี้ ประชาชนในสหราชอาณาจักร จะได้มีโอกาสลงมติเพื่อตัดสินว่า สหราชอาณาจักรจะยังอยู่ไปต่อ หรือจะขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องขอเล่าเรื่องการบูรณาการเศรษฐกิจให้คุณๆ ได้เข้าใจก่อนครับ

การบูรณาการทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ตามคำจำกัดความของ Professor Bela Balassa ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศได้จำแรกไว้ด้วยกัน 7 ระดับ โดยประเทศเอกราชที่ทำการบูรณาการจนถึงระดับที่ผูกพันกันอย่างลึกซึ้งมากที่สุดในโลก ณ ขณะนี้คือกลุ่ม Euro Zone 19 ประเทศรวมกลุ่มกันในระดับที่เรียกว่า Economic and Monetary Union หรือสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน (ระดับที่ 6 จากทั้งหมด 7 ระดับ) โดยทั้ง 19 ประเทศประกาศจะใช้ 2 ใน 3 เครื่องมือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลของแต่ละประเทศร่วมกัน นั่นคือการใช้นโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนร่วมกัน และนั่นเองที่ทำให้ทั้ง 19 ประเทศใช้เงินสกุลเดียวกัน คือ เงินยูโร แต่อย่างไรก็ตามเครื่องมือทางเศรษฐกิจเครื่องมือสุดท้ายคือ นโยบายการคลัง ก็มีการตกลงแนวทางการใช้นโยบายการคลังให้สอดคล้องพ้องกันในบางระดับ แต่ยังไม่ถึงขนาดจะใช้นโยบายการคลังร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว (ถ้าใช้นโยบายการคลังร่วมกัน และมีการใช้นโยบายการเมืองร่วมกันด้วย เช่นนี้จะเป็นระดับที่ลึกซึ้งที่สุด นั่นคือระดับที่ 6 Complete Economic Integration) แต่ในที่นี้ต้องเข้าใจนะครับว่า สมาชิกทั้ง 28 ประเทศของสหภาพยุโรป (European Union) ยังไม่ได้มาไกลถึงจุดนี้ มีเพียง 19 ประเทศเท่านั้นที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน และอังกฤษก็ยังไม่ได้มาถึงจุดนี้ด้วยเช่นกัน (ขออนุญาตใช้ว่า อังกฤษ แทนคำว่า สหราชอาณาจักรละกันนะครับ เพราะพวกเราชาวไทยจะติดปากเรียกรวมๆ กันว่า อังกฤษมากกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้วยังมี เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ รวมเป็นสหราชอาณาจักร) คำถามก็คือ แล้วอังกฤษ รวมตัวกับอีก 27 ประเทศภาคพื้นทวีปยุโรปในระดับไหนกันล่ะ

ถ้าเอากันตามคำจำกัดความจริงๆ ทางเศรษฐศาสตร์ อังกฤษหรือสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปก็บูรณาการระบบเศรษฐกิจกันในระดับสหภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Union, ระดับการรวมกลุ่มระดับที่ 5 จาก 7 ระดับ) ที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อมเท่านั้น เพราะการจะเป็น Economic Union ที่สมบูรณ์พร้อมนั้น ต้องมี 2 องค์ประกอบ นั่นคือ ต้องเป็น Customs Union และ Common Market ซึ่งในกรณีของอังกฤษและสหภาพยุโรปนั้นมีการประกาศเป็น Customs Union ไปแล้วตั้งแต่ก่อนปี 1992 (ก่อนการลงนามในสนธิสัญญามาสทริชต์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป (Maastricht Treaty, the Treaty on European Union, TEU) โดยการเป็นสหภาพศุลกากร (การบูรณาการเศรษฐกิจในระดับที่ 3) หมายถึงการที่อังกฤษและสหภาพยุโรปจะใช้ มาตรการต่างๆ ตลอดจนมีนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรปร่วมกัน แต่ในกรณีของ Common Market ซึ่งเป็นระดับการรวมกลุ่มในระดับที่ 4 นั้น อังกฤษยังขอสงวนสิทธิ์บางประการใน Schengen Agreement ที่จะมีการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาได้อย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิก นั่นจึงทำให้ความสัมพันธ์ทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรปอยู่ในขั้นตอน Economic Union ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น

แต่เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้หลายๆ คนในอังกฤษอยากจะออกจากสหภาพยุโรปแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะต้นทุนที่สูงที่สุดในการบูรณาการเศรษฐกิจคือ การสูญเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วนของประเทศ ในกรณีของอังกฤษเรื่องที่คนของเขา โดยเฉพาะนักการเมือง พิจารณาว่าเป็นการสูญเสียอธิปไตยมากที่สุดก็คือ การเสียสิทธิในการปกป้องทางด้านการค้า และการเสียสิทธิในการเจรจาสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศกับประเทศอื่นๆ เพราะสหภาพยุโรปต้องใช้นโยบายกับต่างประเทศร่วมกัน นั่นจึงทำให้เกิดความพยายาม Brexit ขึ้นมา
ภาพเอเอฟพี
ผลจากการเลือกครั้งนี้ หากอังกฤษออกจากยุโรป นั่นเท่ากับ อังกฤษจะสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ที่สหภาพยุโรปเคยตกลงเอาไว้ โดยจะสูญเสียใน 2 มิติ นั่นคือ มิติแรก นั่นคือ อังกฤษจะสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนแบบเสรีกับสหภาพยุโรป และ มิติที่สอง คือ อังกฤษจะสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่เจรจาทั้งหมดของสหภาพยุโรป ซึ่งตรงนี้จะสุ่มเสียงต่อการที่อังกฤษซึ่งพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศกว่า 60% ของ GDP จะศูนย์เสียตลาดการค้า และในขณะเดียวกันอังกฤษก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะการเป็นจุดศูนย์กลางทางการเงินของยุโรปไป เพราะไม่มีใครรู้ว่า หลังจากการออกจากสหภาพยุโรป อังกฤษและสหภาพยุโรปจะสามารถตกลงทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้มาก-น้อยเพียงใด

คราวนี้เราก็เข้าใจแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น ต่อมาก็คือ แล้วสหภาพยุโรปต้องเรียนรู้อะไรจากอาเซียน?

เรื่องที่ผมคิดว่า สหภาพยุโรปต้องเรียนรู้จากอาเซียน มีอย่างน้อย 2 เรื่อง โดยประการแรก นั่นคือ การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเกิดขึ้นโดยความพยายามที่จะทำให้สมาชิกทุกคนต้องมีคุณลักษณะเดียวกัน หรือต้องผ่านกระบวนการ Standardized จนทำให้ยุโรปกลายเป็นประชาคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเรื่องนี้สามารถพิจารณาได้่จาก Copenhagen Criteria 1993 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของประเทศที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปว่าจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด 3 ข้อ นั่นคือ 1) ต้องเป็นประเทศประชาธิปไตย ต้องเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบบกฎหมาย (Rule of Law, หลักนิติธรรม) ต้องเคารพในสิทธิมนุษยชน (Human Right) และยอมรับความแตกต่างของกลุ่มชนกลุ่มน้อย (Minority) 2) ต้องเป็นประเทศทุนนิยมที่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างแทรกแซงน้อยที่สุด และ 3) ต้องยอมรับในแนวทางของสมาชิกเดิมในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ยุโรปกลายเป็นประชาคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่างอย่างหลาย แม้จะมีคุณสมบัติกล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและชนกลุ่มน้อย

แต่ในสภาพความเป็นจริง คนยุโรปเองก็มีขนม มีเงื่อนไขทางสังคม และวัฒนธรรมที่อาจจะแปลกแยกแตกต่างจากกลุ่มคนที่เข้าไปในยุโรปในระยะหลังๆ เช่น กลุ่มมุสลิมที่อพยพเข้าไปจากตะวันออกกลาง กลุ่มชนผิวสีที่เดินทางเข้าไปจากทวีปแอฟริกา และกลุ่มคนเอเชียที่เข้าไปตั้งรกราก เหล่านี้ทำให้ยุโรปกลายเป็นพื้นที่อุปมาดั่งการตัดเสื้อขึ้นมาไซส์เดียว แล้วคนทุกคนต้องพยายามทำตัวเองให้ใส่เสื้อตัวนี้ให้ได้เพื่อจะได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป

ซึ่งแน่นอนว่านี่คือความแตกต่าง และอาเซียนเองก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างประชาคมที่ยอมรับความสวยงามของความแตกต่างหลากหลาย อาเซียน คือประชาคมของประชากร 610 ล้านที่มีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างหลากหลายตั้งแต่ ประชาธิปไตย (ซึ่งก็มีหลายๆ รูปแบบ) สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และคอมมิวนิสต์ เรามีประชากรที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทในภูมิภาคอาเซียนภาคพื้นทวีป เรามีประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกคืออินโดนีเซีย และเรามีประเทศฟิลิปปินส์ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ดังนั้นอาเซียนจึงน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างประชาคมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

ประเด็นที่ 2 ที่ยุโรปควรจะต้องพิจารณาจากอาเซียน นั่นคือ สถาปัตยกรรมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเดินหน้าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป กระบวนการตัดสินใจทางด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจึงกำหนดให้สหภาพยุโรปมีลักษณะเป็น องค์กรระดับเหนือรัฐ (Supra-National Identity) นั่นคือสหภาพยุโรปมีอำนาจในการตัดสินใจและบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจเหนืออำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศสมาชิก (แต่ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะ เรื่องการเมือง-ความมั่นคง สมาชิกยังมีอำนาจเต็มสมบูรณ์) แน่นอนว่าวิธีการแบบนี้ทำให้หลายๆ ฝ่ายพิจารณาว่า เกิดการแทรกแซงกิจการภายใน เกิดการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิก (ซึ่งนี่คือ ประเด็นหลักของผู้สนับสนุน Brexit)

แต่ในประชาคมอาเซียน ทุกๆ การตัดสินใจจะใช้กระบวนการ Inter-Governmental Method ซึ่งอาศัยการใช้มติเอกฉันท์ของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาเซียนยอมรับและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก แน่นอนว่ากระบวนการแบบนี้ อาจจะทำให้การผลักดันเรื่องต่างๆ ในอาเซียนเกิดขึ้นด้วยความล่าช้า ใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน แต่อย่างน้อยคำกล่าวที่ว่า ช้าแต่ชัวร์ ก็เกิดขึ้น เดินช้าๆ ไปพร้อมๆ กัน โดยที่ทุกๆ ฝ่ายสบายใจ จึงน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาเซียนน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สหภาพยุโรป เพราะในความเป็นจริงแล้ว การบูรณาการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่เราต่างคนต่างก็หวังผลดีในระยะยาว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง เพราะบางครั้งความสวยงาม และความเป็นหนึ่งเดียวของการเดินหน้าประชาคมก็เป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น