วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายนนี้ ชาวอังกฤษ จะไปลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ ร่วมกันตัดสินใจว่า ต้องการให้ อังกฤษออกจาก การเป็นสมาชิก สหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันว่า Brexit หรือไม่
คำว่า Brexit มาจาก Britain บวก Exit ล้อคำว่า Grexit เมื่อตอนที่กรีซ มีปัญหาหนี้สิน จนทำท่าว่า จะต้องออกจากอียู
สาเหตุที่กรีซจะต้องออกจากอียู ในครั้งนั้น เป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่Brexit เป็นเหตุผลเรื่องการเมือง ที่คนอังกฤษจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะนักการเมือง ที่ตั้งคำถามต่อการเข้าเป็นสมาชิกอียูว่า เป็นความคิดที่ดีแล้วหรือ เพราะ สิ่งที่อังกฤษได้ ไม่คุ้มกับที่ต้องจ่ายไป
สิ่งที่ได้คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการค้าขาย ลงทุน โดยเสรี ปลอดภาษีในตลาดอียู ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ส่วนรายจ่าย นอกจาก เงินอุดหนุน ที่อังกฤษต้องควักกระเป๋าจ่ายให้อียู ปีละหลายพันล้านเหรียญ ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยเข้ามาอยุ่ในประเทศอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นช้อผูกพันที่สมาชิกกลุ่มอียูต้องปฏิบัติตาม
นอกจากนั้น ยังต้องขึ้นต่อ “กลุ่มอำนาจที่บรัสเซลล์” ซึ่งหมายถึง คณะกรรมมาธิการยุโรป ที่มีสถานะเป็นรัฐบาลกลางของอียู มีสำนักงานในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม มีอิสระเสรีที่จะออกกฎหมายของตัวเองน้อยลง เพราะต้องทำตามกฎกติกาของอียู
อังกฤษสมัครเข้าเป็นสมาชิกอียู เมื่อปี 1973 ก่อนหน้านี้เคยขอเข้าร่วมมาแล้ว 2 ครั้งคือ ในปี 1963 และ 1967 แต่ไม่สำเร็จ เพราะฝรั่งเศส ในสมัยประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ คัดค้าน ต้องรอให้เดอโกลล์ตายก่อน อังกฤษจึงได้เข้าร่วมกับอียู
ตอนนั้นอียู ยังเป็น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ EEC ( European Economic Council) คือ เป็น การรวมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ก่อนจะเปลี่ยนเป็น สหภาพยุโรป หรือ อียู ( European Union ) ซึ่งเป็นองค์กรด้านเศรษฐกิจและการเมือง ในปี 1993
แม้ว่าจะเป็นสมาชิกอียู แต่อังกฤษยังใช้เงินปอนด์ ไม่ได้ใช้ยูโร เหมือนสมาชิกส่วนใหญ่ของอียู ซึ่งมี 28 ประเทศ มีเพียง 9 ประเทศรวมทั้งอังกฤษ ที่คงใช้เงินสกุลประจำชาติเดิม และยังคงใช้วีซ่าเข้าประเทศของตัวเอง ไม่ใช้ระบบวีซ่ารวมของอียู ที่เรียกว่า Schengen
อังกฤษเคยมีการลงประชามติ ว่า จะอยู่ในอียูต่อไปหรือไม่ เมื่อปี 1975 ผลปรากฎว่า 2 ใน 3 ของผู้ลงประชามติ บอกให้อยู่ต่อ
การลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ สืบเนื่องจากการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว พรรคการเมืองคู๋แข่งของพรรคอนุรักษ์นิยม ชูเรื่อง การแยกตัวออกจากอียู เป็นประเด็นหนึ่งในการหาเสียง ซึ่งได้รับการตอบรับสูงมาก จนนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเคยปฏิเสธไม่ยอมให้มีการลงประชามติมาแล้ว เมื่อ ปี 2012 ต้อง สัญญาว่า หากพรรคอนุรักษ์นิยมชนะ เขาจะจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องนี้
ในหมู่นักการเมือง แม้จะอยู่ในพรรคเดียวกัน ก็มีความเห็นที่ต่างกันว่า ควรจะอยู่หรือไม่อยู่ในอียู ตัวนายคาเมรอนเอง ต้องการให้อังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไป ต้นปีนี้ เขาเจรจากับคณะกรรมาธิการอียู ขอเงื่อนไขผ่อนปรน ที่จะทำให้อังกฤษมีสถานะพิเศษ ในอียู เพื่อแลกกับ การที่อังกฤษจะยังเป็นสมาชิกต่อไป
ในบรรดาเงื่อนไขเหล่านั้น ซึ่งแม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข่าวแพร่งพรายออกมาคือ อังกฤษจะไม่เปลี่ยนมาใช้เงินยูโร และอังกฤษจะขอลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิกา ร ของผู้ลี้ภัยในอียู นายคาเมรอนหวังว่า เงื่อนไขใหม่นี้ จะเป็นแรงจูงใจสำหรับการลงประชามติให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไป
คนที่มีสิทธิลงประชามติ นอกจากคนที่ถือสัญชาติ อังกฤษที่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว พลเมืองของประเทศสมาชิกเครือจักรภพ เฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ก็มีสิทธิด้วย
ในอดีต เคยมีการลงประชามติของประเทศสมาชิกอียูเพียงครั้งเดียว คือ กรีนแลนด์ เมื่อปี 1982 หลังจากที่ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองจาก เดนมาร์ก ซึ่งชาวกรีนแลนด์ ลงประชามติด้วยคะแนนร้อยละ 52 ต่อ 48 แยกตัวออกจากอียู แต่กรีนแลนด์ เป็นประเทศเล็กมาก การอยู่หรือออกไปจ่ากอียู ไม่มีผลอะไรเลย
อังกฤษมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญต่ออียู และเศรษฐกิจโลก ผลการลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจทั้งของอังกฤษเอง ของอียูและของโลก แต่ยังไม่มีใครรู้ว่า ผลกระทบนั้นจะคืออะไร ดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะเป็นครั้งแรกที่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น
การสำรวจความเห็นประชาชนล่าสุด เสียงที่ต้องการให้อังกฤษออกจากอียู มีมากกว่าเสียงที่ต้องการให้อยู่ต่อ จากเดิมที่ก้ำกึ่ง แพ้ชนะกันไม่มาก
สมมติว่า การลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน เสียงข้างมากต้องการให้อังกฤษออกจากอียู ก็ยังไม่สามารถออกได้ทันที ตามกฎของอียู อังกฤษมีเวลา 2 ปี ในการเจรจากับอียูว่า กฎกติกาในการค้าขาย ลงทุน การเดินทางและอื่นๆ ระหว่างอังกฤษกับสมาชิกอียู จะเป็นอย่างไร