ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่แล้วมีข่าว กรณีของ"การจัดสรรที่ดินของรัฐ" ที่น่าสนใจ 2 เรื่อง
เรื่องแรกที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์"เตรียมเสนอร่างประกาศคำสั่งเพื่อเรียกคืนพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จากผู้ที่ครอบครองนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน
ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรี แต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวไว้ว่า “ยังไม่มีการเสนอเรื่องนี้เข้ามา แต่ตามกฎหมายเดิม เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจในการเรียกคืนที่ดิน สปก. ที่ถูกใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์อยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ดิน สปก. ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ เพราะที่ดิน สปก. ขายต่อไม่ได้”
ก็หมายความว่า สปก. ยังไม่มีการเสนอร่างประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อเรียกคืนพื้นที่ สปก. จากผู้ที่ครอบครองมากกว่า 500 ไร่ ใน 25 จังหวัด รวม 4.3 แสนไร่ เพื่อนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน แต่อย่างใด
เช้าวันรุ่งขึ้น 15 มิ.ย.59 "นายวิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ยอมรับว่าสาเหตุที่ยังไม่มีมติครม. เพราะที่ผ่านมาได้บอกให้“พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์”รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปร่างประกาศคำสั่งดังกล่าว หลังจากรับทราบปัญหา ผู้ถือครองผิดกฎหมายในพื้นที่สปก. ที่มีมากกว่า 500 ไร่ ในเขตประกาศปฏิรูปที่ดิน ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปทั่วประเทศ
“ยังนึกไม่ออกว่า จะออกมาอย่างไร จะออกเป็นพ.ร.บ. หรือ มาตรา 44 เพราะยังไม่ทราบเนื้อหาว่าจะมีใจความอย่างไร” นายวิษณุ กล่าวเอาไว้ และว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องร่างมาก่อน แล้วจะมาดู เพราะเรื่องการร่างมานั้น เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว (7 มิ.ย.59) บางกระทรวง ร่างมา 10 ฉบับ ตนต้องนำมาพิจารณาร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และก็ได้ตีกลับไปทั้งหมด 10 ฉบับ ให้ไปออกเป็นกฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.ธรรมดา เพื่อความละเอียดรอบคอบ จะได้ดูกันในสภาและเข้ากฤษฎีกาต่อไป
การออกเป็นคำสั่ง มาตรา 44 แม้จะมีการตรวจ แต่ไม่พิถีพิถัน เพราะรู้อยู่ว่าเป็นมาตรการชั่วคราว อะไรที่ต้องการแก้เพื่อหวังผลยั่งยืนถาวร ก็ควรออกเป็นกฎหมายธรรมดา
สอดคล้องกับที่ “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุในวันเดียวกันว่า ได้เตรียมเสนอ“ร่าง พ.ร.บ. เรียกคืนที่ดินจากผู้ครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ...” หรือ “ที่ดิน สปก.ผิดกฎหมาย”เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ถือครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายฯ จากเดิมที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามความใน มาตรา 44 มาสนับสนุนเรียกคืนที่ดิน สปก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายดังกล่าวมาแก้ไข
“ร่าง พ.ร.บ. เรียกคืนที่ดินจากผู้ครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ...” จะกำหนดมาตรการให้เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจพื้นที่เป้าหมายตามพยานหลักฐานเบื้องต้นและเปิดโอกาสให้ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ออกมาแสดงตนและพยานหลักฐานว่ามีสิทธิในที่ดินหรือไม่ หากไม่ออกมาแสดงตนหรือไม่มีสิทธิในที่ดิน ดีกว่าให้รัฐมีอำนาจยึดที่ดินนั้นมาดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ผู้ไร้ที่ดินทำกินต่อไป
เรื่องนี้“นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก.”ยอมรับว่าได้เตรียมเสนอครม. เพื่อพิจารณาออกกฎหมายสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาผู้ถือครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการบังคับคดีกับผู้ถือครองรายใหญ่ตามคำพิพากษา รวมทั้งผู้ที่กว้านซื้อที่ดินที่ได้จัดสรรออก ส.ป.ก.4-01 ให้แก่เกษตรกรไปแล้ว
“ที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่สามารถเสนอเรื่องสู่การพิจารณาของครม.ได้ทันในการประชุมในวันที่ 14 มิ.ย.59 เนื่องจาก เห็นว่าหลักเกณฑ์ในการป้องกันไม่ให้ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ถ่ายเท หรือกระจายที่ดินไปยังตัวแทนอำพรางหรือนอมินี ของส.ป.ก. ยังไม่รัดกุมและรอบคอบพอ จึงให้ส.ป.ก. ไปดำเนินการแก้ไขและเสนอ ครม. ให้ทันในการประชุมในวันที่ 21 มิ.ย.59 ต่อไป”
ก็หมายความว่าครม. สั่ง“เบรกใช้ ม.44 เพื่อมาใช้กฎหมายปกติ แก้ปัญหาส.ป.ก.”นั่งเอง
เรื่องที่ 2 เป็นของ“กรมธนารักษ์”กระทรวงการคลัง ที่ล่าสุด“มีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์การเก็บค่าเช่าที่ดินราชพัสดุที่ครอบครองโดยส่วนราชการ จำนวน 500 แห่ง กว่า 8,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานราชการคืนพื้นที่มาจำนวน 50 แห่ง หรือจำนวน 1,000 ไร่ เท่านั้น
ตามข้อมูลจากปี 58 จากคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) “กรมธนารักษ์”ได้เตรียมจัดทำยุทธศาสตร์การจัดระเบียบที่ราชพัสดุทั่วประเทศใหม่ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีแผนการจัดระเบียบที่ราชพัสดุ ระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ราชพัสดุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่“ที่ราชพัสดุ 12.5 ล้านไร่”แยกเป็นการใช้ในราชการ 10.466 ล้านไร่ จัดให้เช่า 0.185 ล้านไร่ และสงวนไว้ใช้ในราชการ อีก 1.859 ล้านไร่ การจัดเก็บรายได้ของ “กรมธนารักษ์”กรณีประเภทค่าเช่าที่ราชพัสดุปีงบประมาณ 2553 ถึงปีงบประมาณ 2557 เก็บค่าเช่าได้ 17,086.265 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2558 (1 ต.ค. 57 - 28 ก.พ. 58) จัดเก็บได้จำนวน 2,793 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ไว้ว่า จะจัดเก็บได้ถึงสิ้นปี จำนวน 5,570 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีเพียงพื้นที่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ “กรมธนารักษ์”สามารถเก็บรายได้เข้ารัฐ ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในครอบครองของหน่วยงานราชการนั้น “ไม่มีการเก็บค่าเช่า”
ข้อมูลของ คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน พบว่าตัวแทนกรมธนารักษ์ ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ไว้ว่าที่ราชพัสดุส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในราชการประมาณร้อยละ 98.6 และมีเพียงร้อยละ 1.4 ที่นำไปจัดหาประโยชน์ โดยการนำมาใช้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ต้องให้ส่วนราชการที่ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นๆ ส่งคืนให้กรมธนารักษ์ก่อน ซึ่งเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะส่วนราชการต่างๆ ไม่ให้ความร่วมมือ
ล่าสุด มีความพยายามประสานงานกับหน่วยงานราชการทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือให้ตรวจสอบพื้นที่ราชพัสดุในสังกัดว่า มีพื้นที่ใดบ้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่พบว่ามีบางหน่วยงานราชการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ แต่บางส่วนใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ซึ่งรวมทั้งพื้นที่ที่ครอบครองโดย“กองทัพ”
ข้อมูลของ“กรมธนารักษ์”ระบุว่า กว่าร้อยละ 90 ประมาณ 7.5 ล้านไร่ เป็นที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของ“3 เหล่าทัพ”เพื่อใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง ใช้ในราชการ รวมถึงสวัสดิการข้าราชการ แต่กลับพบว่า มีบางส่วนที่ใช้พื้นที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์และอยู่ระหว่างการแก้ไขให้ถูกต้อง
วันก่อน “สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส”ทำสกู๊ปข่าวเรื่องนี้ (http://news.thaipbs.or.th/clip/2186)“เปิดพื้นที่ราชพัสดุทำเลทองในครอบครองของกองทัพ”ระบุว่า “กรมธนารักษ์”เตรียมคลอดหลักเกณฑ์ใหม่ของการใช้พื้นที่จะแยกระหว่างพื้นที่สวัสดิการโดยตรง เช่น บ้านพักอาศัย จะไม่มีการเก็บค่าเช่า แต่การใช้พื้นที่ราชพัสดุไปจัดทำสวัสดิการเชิงธุรกิจ เช่น สนามกอล์ฟ สโมสร หรือ หาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ควรมีการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุในอัตราผ่อนปรน คือ ต่ำกว่าราคาตลาดร้อยละ 70
ระเบียบของกรมธนารักษ์ ระบุว่า ที่ดินราชพัสดุที่ส่วนราชการนำไปใช้ประโยชน์ ถ้าใช้เป็นสวัสดิการจะไม่ต้องจ่ายค่าเช่า แต่ถ้าใช้ในลักษณะสวัสดิการเชิงธุรกิจต้องจ่ายค่าเช่าเพื่อนำเงินส่งเข้ารัฐ ตัวอย่างของพื้่นที่เหล่านี้ ได้แก่
“สนามมวยลุมพินีแห่งใหม่ บนถนนรามอินทรา”ที่กรมธนารักษ์ ระบุว่า หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ที่ดินผืนนี้ไม่เคยจ่ายค่าเช่า แต่มีการใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจ มีการชกทุกวันอังคาร ศุกร์และเสาร์ ค่าบัตรเข้าชมสำหรับคนไทย 200-300 บาท ชาวต่างชาติคนละ 2,000-3,000 บาท แต่ละวันมีผู้เข้าชม 2,000-3,000 คน มีรายได้เข้าสนามมวยไม่ต่ำกว่า 400,000 บาทต่อวัน
“สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต”กรมธนารักษ์พบว่า มีการแบ่งเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้ร้านค่าต่างๆ เช่า แต่ไม่มีการแบ่งรายได้ให้รัฐ ซึ่งตามระเบียบแล้วต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราสูงสุด เช่น ร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่จะต้องจ่ายในราคา 13 บาท ต่อตารางเมตร ต่อเดือน ส่วนที่อยู่ภายนอกอาคารต้องจ่าย 30 บาท ต่อตารางวา ต่อเดือน
“สถานพักฟื้นและพักผ่อน ทบ.สวนสนประดิพันธ์”ตั้งอยู่บน ถ.เพชรเกษม อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่ามีผู้เข้าพักเต็มในทุกวันเสาร์ -อาทิตย์ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์สวยงาม ไม่ต่างจากคอนโดมีเนียม มีราคาเข้าพักตั้งแต่ 1,000-7,600 บาทต่อคืน คาดว่ารายได้จากค่าเช่าในช่วงสุดสัปดาห์ ไม่ต่ำกว่าคืนละ 140,000 บาท
“อาคารที่พักสวัสดิการกองทัพอากาศ บ่อฝ้าย”ที่พักแห่งนี้อยู่ติดชายหาดทะเลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้พื้นที่ส่วนเกินจากสนามบินบ่อฝ้ายทำเป็นที่พัก เปิดให้บริการแก่ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปในอัตราค่าที่พัก 800-4,000 บาทต่อคืน มียอดจองเต็มพื้นที่แทบทั้งปี หากผู้ต้องการเข้าพักต้องจองล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2 เดือน คาดว่ามีรายได้ต่อวันไม่ต่ำกว่า 92,000 บาท
โดย “นายปรีชา มงคลหัตถี”รองอธิบดีกรมธนารักษ์ บอกกับ “ไทยพีบีเอส”ว่า การพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการเชิงธุรกิจ อาจต้องเข้าสู่ระเบียบการใช้พื้นที่ราชพัสดุในเชิงธุรกิจ เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ราชพัสดุคืนกลับมาเป็นรายได้รัฐในรูปของค่าเช่าที่เหมาะสม ที่ผ่านมาก็เคยมีการคุยกับหน่วยทหาร
“อธิบดีกรมธนารักษ์”ได้ให้นโยบายว่า “เพื่อให้เข้ามาสู่ระบบการจัดเก็บค่าเช่า ก็ให้มาเริ่มต้นคุยกันใหม่ ส่วนที่ผ่านไปแล้ว ถ้ายกเว้นได้ก็ยกเว้นไป เพราะผลประโยชน์ก็เข้ากับส่วนราชการไปหมดแล้ว จะไปเอาคืนมาก็คงยาก ในส่วนของสวัสดิการบ้านพักข้าราชการเราจะไม่เก็บค่าเช่า แต่บ้านพักข้าราชการที่ทำในลักษณะบ้านพักตากอากาศเราจะต้องมีการเก็บค่าเช่าตามที่อธิบดีกรมธนารักษ์ให้นโยบาย"