ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “คณะศิษย์เห็นพ้องว่าพระธัมมชโยควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยการมอบตัวก็ต่อเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพราะขณะนี้ขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรม”
คำประกาศต่อหน้าสาธารณชนของคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายในวันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกเข้าไปตรวจค้นตามหมายศาลเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ผ่านทั้งเสียงตามสายและแถลงการณ์ที่แจกจ่ายสื่อมวลชนนั้น ถือเป็น “วาทกรรม” ที่สำคัญยิ่ง
เพราะสะท้อน “จุดยืน” ได้อย่างชัดเจนว่า นอกจากวัดพระธรรมกายกำลังท้าทายอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตรงแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า องค์กรและสถาบันต่างๆ ที่เป็นสถาบันหลักของราชอาณาจักรไทยมิได้มีความหมายในสายตาของวัดพระธรรมกายเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาลยุติธรรม”
ที่สำคัญคือ ยังสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมมฺชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้เป็นอย่างดี
ยิ่งเมื่อหยิบโยงสถานการณ์ที่ผ่านมาในอดีตนับจนถึงปัจจุบันแล้ว ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนถึงสภาวะความเป็น “รัฐคู่ขนาน” อันเป็นแนวร่วมซึ่งกันและกัน
ฝ่ายหนึ่งครองความยิ่งใหญ่ทาง “อาณาจักร” โดยมีเป้าหมายคือ “รัฐไทยใหม่” ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งครองความยิ่งใหญ่ทาง “ศาสนจักร” โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้าง “รัฐธรรมกาย”
และจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดมีที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาวัดสระเกศ”
กล่าวสำหรับพระธัมมชโยนั้น จนถึงขณะนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “ไม่ยอมมอบตัว” ตามข้อกล่าวหา “ฟอกเงิน” และ “รับของโจร” ในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น พร้อมกับสำแดงความยิ่งใหญ่ให้เห็นว่า ในผืนแผ่นดินของราชอาณาจักรสยาม กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำอะไรเขาได้ถ้าไม่ยินยอมพร้อมใจ
คณะเจรจา 3 ฝ่ายที่ฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักรพยายามเจรจาประนีนอมเรื่องการมอบตัวของพระธัมมชโยก็ได้ยุติบทบาทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ตัดสินใจสรุปสำนวน คดี และ “ส่งฟ้อง” พระธัมมชโย โดยมอบให้ “สำนักงานอัยการสูงสุด” รับไม้ต่อในการดำเนินคดี พร้อมกับการที่คณะลูกศิษย์แสร้งออกมาตีโพยตีพายในทำนองว่า แล้วจะมีคณะเจรจา 3 ฝ่ายมาทำพระแสงของ้าวอะไร ซึ่งก็มิได้มีสาระอะไรให้น่าสนใจเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า คณะศิษยานุศิษย์ที่เข้าร่วมในการเจรจาครั้งนี้มีเป้าประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร
ขณะที่ปฏิบัติการตามแผน “กบิล 59” ในการบุกเข้าไปตรวจค้นและแจ้งข้อหาตามหมายศาลในวันที่ 16 มิถุนายน 2559 เพื่อนำตัวพระธัมมชโยไปส่งให้คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมี “นายชาติพงษ์ จีระพันธุ” รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นหัวหน้า ให้ทันวันนัดหมายสั่งคดีในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า พระธัมมชโยไม่ยอมมอบตัว
แม้ภาพลักษณ์จะจัดฉากว่า ทางวัดพระธรรมกายยินดีให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คือ การผลักดันลูกศิษย์ที่ถูกระดมเข้ามาภายในวัดให้ทำตนเป็น “โล่มนุษย์” และไม่ยินยอมพร้อมใจให้จับต้นธาตุต้นธรรมของตนเอง
การประกาศจะยินยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต่อเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้วคือการประกาศเบี่ยงเบนประเด็นเรื่องฟอกเงินและรับของโจรไปเป็นประเด็นทางการเมือง โดยแสดงให้เห็นว่า การจับกุมและดำเนินคดีพระธัมมชโยในครั้งนี้ เป็นประเด็นทางการเมือง ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว นี่คือคดีความปกติที่เกิดขึ้นจากการยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยปรากฏหลักฐานเป็นเช็คที่สั่งจ่ายพระธัมมชโยและเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย
ทั้งนี้ การประกาศจุดยืนดังกล่าว รวมถึงการระดมม็อบเสื้อขาวเข้ามาภายในวัด ได้เปลือยตัวตนของวัดพระธรรมกายให้เห็นว่า เป็นแนวร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่เป็นเครือข่ายอำนาจเก่า
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมพระธัมมชโยถึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำไมพระธัมมชโยถึงอยู่เหนือกฎหมาย และทำไมพระธัมมชโยถึง “กล้าทำ” ในสิ่งที่คนธรรมดาๆ หรือพระธรรมดาๆ ทำไม่ได้
คำตอบก็คือ พระธัมมชโยไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นพระธรรมดาๆ หากแต่คิดว่าตนเองคือผู้ยิ่งใหญ่แห่ง “รัฐธรรมกาย” ซึ่งมีแก้ว 3 ประการอยู่ในมือครบครัน ทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์และอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่อยู่เหนือการควบคุมของทั้งรัฐไทยและมหาเถรสมาคม(มส.) อันเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย
หากใครติดตามข้อมูลข่าวสารของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย การเทศนาของพระธัมมชโย รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้คนในสำนักนี้ ก็จะเห็นได้ชัดถึง “สถานะ” ของพระธัมมชโยอย่างชัดแจ้ง
พระธัมมชโยเป็นยิ่งกว่านักโทษชายหนีคดีทักษิณผู้ศรัทธาในทุนนิยมสามานย์เสียยิ่งกว่าความเป็นชาติ เพราะประกาศชัดว่า ตนเองคือ “ต้นธาตุต้นธรรม” ซึ่งถือเป็นการยกระดับตัวเองให้สูงส่งเสียยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า
ถ้าตรวจสอบจากข้อมูลที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือต่อ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เพื่อให้กล่าวโทษพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เนื่องจากกระทำผิดวินัยสงฆ์ตามระเบียบของมหาเถรสมาคม โดยต้องให้สละสมณเพศ ก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะมีหลักฐานบันทึกสิ่งที่พระธัมมชโยอวดอุตริมนุสธรรมเอาไว้ชัดเจน
ในหนังสือที่นายไพบูลย์ ยื่นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ได้กล่าวหาพระธัมมชโยใน 4 กรณี คือ 1.อวดอ้างว่าพบเห็นวิญญาณของนายชาติชาย โรจน์กีรติกาญจน์ อยู่สวรรค์ชั้นที่ 2 ฝากข่าวมาบอกให้ลูกทำบุญไปให้มากๆ ทั้งที่ความจริงนายชาติชายยังไม่เสียชีวิต 2. อ้างว่าพบเห็นวิญญาณของสตีฟ จ็อบส์ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา 3. เรื่องพบเห็นพุทธทาสภิกขุตกอยู่ในนรก เพราะสอนธรรมะผิดและเป็นมิจฉาทิฏ เรื่องพบเห็นพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ในนรก เพราะหลงว่า ตนเป็นพระอรหันต์ พระธัมมชโยจึงช่วยขึ้นมาบำเพ็ญบารมีต่อที่ชั้นดาวดึงส์ 4.อวดอ้างว่า ตนเป็นต้นธาตุ ต้นธรรม เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งฝ่ายโปรดและฝ่ายปราบเหนือกว่าพระพุทธเจ้าธรรมดา สามารถให้ธรรมแก่ผู้ใดให้บรรลุธรรมกาย หรือปราบจับขังไว้ในตู้เซฟไม่ให้ได้ผุดได้เกิดก็ได้ โดยนำเข้าเผยแพร่ทางเว็บไซต์ http://www.dmc.tv เมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2556 และเมื่อวันที่ 11 -15 ตุลาคม 2556
ดังนั้น จะแปลกใจอะไรที่พระธัมมชโยจึงไม่ยอมมอบตัว
ถ้าจะว่าไปแล้ว พระธัมมชโยกับนักโทษชายหนีคดีทักษิณมีเส้นทางที่แทบจะย่ำรอยเดียวกันมาเลยก็ว่าได้ ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม แต่ใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนอื่น มีกองกำลังส่วนตัวที่พร้อมจะปกป้องผู้นำของตนเองให้พ้นจากความผิดต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการติดตั้งเครื่องกีดขวางภายในวัดและการระดมคนเข้าไปเป็นโล่มนุษย์ เหลือเพียงแค่ว่าจะหนีคดีไปต่างประเทศหรือไม่เท่านั้น
ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปในปฏิบัติการยึดอำนาจ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก” ด้วยการตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ก็ยิ่งเห็นร่องรอยของความสัมพันธ์ของรัฐธรรมกายและรัฐไทยใหม่ได้เป็นอย่างดี
รัฐไทยที่มีนายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในขณะที่องค์พระประมุขสงฆ์ไทยยังมีพระชนมชีพ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์
เป็นสมเด็จพระญาณสังวรฯ สังฆบิดรผู้มี “พระลิขิต” ชัดแจ้งว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก
แล้วผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นก็คือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)” เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับรัฐธรรมกาย จากนั้นก็ถูกส่งต่อมายัง “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย และขณะนี้ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
และหากยังจำกันได้คดีของพระธัมมชโยอันเนื่องมาจากพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ก็ถูกอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องในยุคที่นายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีนี่เอง
เป็นไปได้หรือไม่ที่ปฏิบัติการในครั้งนั้นคือใบเสร็จที่ยึดโยงความสัมพันธ์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย?!!
และจากจุดเริ่มต้นที่เรียกว่า “ปฏิญญาวัดสระเกศ” ในครั้งนั้นนั่นเอง ที่ทำให้วัดพระธรรมกายของพระธัมมชโยเติบใหญ่อย่างไม่มีใครหยุดยั้งได้ กระทั่งเกิดคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ปรากฏหลักฐานถึงความเชื่อมโยงปฏิญญาวัดสระเกศที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการแถลงผ่านเครื่องกระจายเสียงของลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เพราะนอกจากจะไม่ยอมรับรัฐบาล คสช.และต้องการจะเข้ามอบตัวกับรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งก็ชวนให้ขบคิดว่า “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ในบริบทของวัดพระธรรมกายกินความหมายลึกซึ้งถึงขนาดไหน เป็นไปในลักษณะเดียวกับ “รัฐไทยใหม่” หรือไม่แล้ว ยังมีข้อความท่อนหนึ่งที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่อีกด้วย เพราะสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่ส่งผ่านจากวัดสระเกศมาถึงวัดปากน้ำอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหลังจบแถลงการณ์ บรรดาศิษยานุศิษย์ต่างปรบมือรับกันอย่างเกรียวกราว
นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยใหม่กับรัฐธรรมกายยังมีความละม้ายคล้ายคลึงในอีกหลายเรื่อง อาทิ รัฐไทยใหม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในองค์กรอิสระและมีอำนาจเหนือองค์กรอิสระได้ฉันใด รัฐธรรมกายก็สามารถแทรกซึมเข้าไปในองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ได้ฉันนั้น กรณีของ “3 หนาห้าห่วง” เป็นอย่างไร กรณีของ มส.ก็ดำเนินไปในร่องรอยนั้น เป็นต้น
ประเด็นที่น่าขบคิดถัดมาก็คือ ทำไม “กลุ่มคนที่ไม่เอาสถาบัน” จึงไปรวมตัวกันอย่างผนึกแน่นกับคนเสื้อแดง แม้บางกลุ่มบางคนจะไม่สนิทชนิดเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ก็เป็น “แนวร่วม” ที่มีความเอื้ออาทรกันอยู่ในที เป็นเพราะตัวเจ้าลัทธิแสดงออกให้เห็นจุดยืนทางด้านนั้น ดังคำปราศรัยหรือคำให้สัมภาษณ์ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ ใช่หรือไม่
ส่วนรัฐธรรมกาย นอกเหนือจากการไม่ยอมรับการตรวจค้นตาม “หมายศาล” แล้ว หากยังจำกันได้ สิ่งที่สังคมตั้งคำถามและมีการตรวจสอบก่อนหน้านี้ก็คือ กรณีการเข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์ของพระธัมมชโย เมื่อคราวได้เลื่อนจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์เป็นพระเทพญาณมหามุนีเมื่อปี พ.ศ.2554 โดยมองว่า พระธัมมชโยมีเจตนาหรือส่อว่าจงใจไม่ไปร่วมพระราชพิธีซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งไม่ไปร่วมพิธีถวายสักการะอวยพรสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ ในขณะนั้นด้วย
นักสืบพันทิปผู้เขียนกระทู้ใช้นามว่า “ราชมัล” ตั้งชื่อกระทู้ว่า “พระเทพญาณมหามุนี วัดพระธรรมกาย สงฆ์ผู้พลิกหน้าประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย” เขียนไว้เมื่อ 7 เมษายน 2555 หลังจากเหตุการณ์ที่พระธัมมชโยไม่ไปร่วมพระราชพิธีในพระมหาราชวังราว 4 เดือน มีใจความสรุปว่า ปกติของราชประเพณีทรงตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์สงฆ์ในรัชกาลนี้กำหนดจัดเป็นประจำในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จไปพระราชทานด้วยพระองค์เองหรืออาจมอบผู้แทนพระองค์ที่มักเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จแทนและกำหนดจัดที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นประจำ
ประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมาเมื่อพระราชาคณะที่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์รับพระราชทานพัดยศและตราตั้งแล้วในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 6 ธันวาคมจะพร้อมกันไปสักการะสมเด็จพระสังฆราช (ในขณะนั้นคือสมเด็จญาณสังวรฯ) กำหนดการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาได้แจ้งไว้คือให้ไปที่อุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
ในปีพ .ศ. 2554 เป็นปีที่ พระธัมมชโย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนจาก พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ขึ้นเป็น พระเทพญาณมหามุนี ปรากฏในบัญชีรายชื่อแต่งตั้งสมณศักดิ์ลำดับที่ 11 แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้พบเห็นพระธัมมชโยไปร่วมงานพระราชพิธีทั้งที่ในพระบรมมหาราชวัง และยังไม่ไปร่วมพิธีสักการะสมเด็จพระสังฆราชเหมือนกับราชาคณะรูปอื่นๆ
ความผิดปกติอย่างยิ่งของเรื่องนี้คือ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 หรือเพียง 2 วันให้หลังวันพระราชพิธีกลับปรากฏว่าพระธัมมชโยได้ปรากฏตัวในงานรับมอบพัดยศเลื่อนสมณศักดิ์ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพระพุทธศาสนา โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จวัดปากน้ำ ช่วง วรปุญฺโญ) พระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโยเป็นผู้มอบให้แทนท่ามกลางพิธีกรรมที่จัดอย่างยิ่งใหญ่สวยงาม
“ราชมัล” ผู้ตั้งกระทู้รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ผิดปกติมากที่ราชาคณะรูปหนึ่งซึ่งได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์แต่กลับหายตัวไม่ไปร่วมพระราชพิธีแต่กลับแยกมาจัดงานเองในอีกสองวันถัดมา หากจะอ้างว่าอาพาธหนักไปร่วมพระราชพิธีและไปถวายสักการะพระสังฆราชไม่ได้ แต่ภาพถ่ายที่เผยแพร่ก็ยังผ่องใสดูแข็งแรงดี
ความผิดปกติยังรวมไปถึงการตั้งคำถามต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาที่จัดงานนี้ขึ้นว่าเป็นเพราะอิทธิพลทางการเมืองของนางลีลาวดี วัชโรบล เลขานุการกรรมาธิการศาสนาศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นผู้ประสานจัดให้โดยไม่มีธรรมเนียมหรือกฎหมายรองรับหรือไม่ ?
“ราชมัล” ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติรวม 4 ข้อสรุปความได้ดังนี้
ข้อแรก - การที่สมเด็จวัดปากน้ำไปเป็นประธานมอบพัดยศเลื่อนสมณศักดิ์ให้กับพระธัมมชโยถูกต้องดีแล้วหรือ เพราะยังไม่มีมติมหาเถรสมาคมให้ส่งผู้แทนไปถวายพัดยศ สัญญาบัตรให้กับพระเทพญาณมหามุนีถึงที่วัดพระธรรมกาย
ข้อที่สอง - ตั้งข้อสังเกตการทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งที่ถูกก็แค่นำพัดยศและสัญญาบัตรไปถวายให้ก็จบ ในเมื่อออกฎีกาแล้วพระสงฆ์ไม่มารับ ก็ต้องเอาไปถวายถึงที่ เพราะจะเก็บไว้ก็ไม่ได้ประโยชน์อันใด
ข้อที่สาม - ตั้งข้อสังเกตความลักลั่นของการจัดงานเพราะเป็นเรื่องประหลาดที่สมเด็จวัดปากน้ำฯ ผู้เป็นประธานมอบไม่ได้มีสายบังคับบัญชา โดยตรง เป็นแค่พระอุปัชฌาย์
“ถ้าจะเอากันให้ตรงตามแบบแผน แม้จะมาลักลั่นเอาตอนนี้ ก็ต้องให้พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้มอบถวายให้ หรือไม่ก็เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งคือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชัยญาติการาม นั้นเอง ถึงจะถูกต้องตามสายการบังคับบัญชา”
ข้อที่สี่ - พบว่ามีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองคือ จากเลขานุการกรรมาธิการศาสนาศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร (ลีลาวดี วัชโรบล) ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจัดงานถวายพัดยศ สัญญาบัตรที่แยกออกมาจากพระราชพิธีปกติ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เว็บไซต์วัดพระธรรมกาย http://www.dhammakaya.org ซึ่งมีผู้ตั้งคำถามกรณีพระธัมมชโยไม่ไปร่วมพระราชพิธีวันที่ 5 ธันวาคม 2554 และไม่ไปถวายพระพรให้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้มีผู้เข้าไปตอบว่า“ขออนุญาตตอนแทนนะครับ หลวงพ่อธัมมชโย ท่านไม่ได้ไปรับพระยศด้วยตัวท่านเองครับ ทราบว่าช่วงวันงานหลวงพ่อธัมมชโยท่านอาพาธหนักครับ” (อ้างอิงhttp://www.dhammakaya.org/forum/index.php?topic=916.20;wap2)
ประเด็นก็คือ แม้ว่าทางฝ่ายวัดพระธรรมกายและสาวกจะพยายามนำเสนอแก้ต่างว่าการที่แยกออกมาจัดพิธีมอบพัดยศและสัญญาบัตรที่วัดพระธรรมกาย ไม่เข้าร่วมพระราชพิธีที่พระบรมมหาราชวังเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยเพราะการอาพาธหนัก ก็ยังมีคำถามตามมาอยู่ดีว่าเหตุใดการจัดงานมอบพัดยศให้แก่พระธัมมชโยวันนั้นจึงมีความพร้อมมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากประกอบทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ และฝ่ายอื่นๆ ราวกับมีการเตรียมไว้ล่วงหน้า หากพระธัมมชโยฟื้นจากอาพาธหนักในเย็นวันที่ 6 ธันวาคม แสดงว่าประสิทธิภาพในการจัดงานของทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายราชการและฝ่ายสงฆ์ช่างยอดเยี่ยมมากเพราะใช้เวลาประสานงานและเตรียมงานเพียงคืนเดียวเท่านั้น
งานนี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นต้นธาตุต้นธรรมของพระธัมมชโยนั้นหนักหนาสาหัสเช่นไร เพราะพระธัมมชโยไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นพระสงฆ์ผู้แสวงหาความหลุดพ้นแบบธรรมดาๆ เท่านั้น ซึ่งจำเป็นยิ่งสำหรับใน “ยุคเปลี่ยนผ่าน” ที่ “รัฐบาล คสช.” ซึ่งมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่เต็ม 100% จะต้องจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดก่อนที่ “รัฐธรรมกาย” จะผนึกและหลอมรวมกับ “รัฐไทยใหม่” หลังการเลือกตั้งตามโรดแมปอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว และยากต่อการจัดการได้
เพราะวันนี้พิสูจน์ชัดแล้วว่า
“ทักกี้” = รัฐไทยใหม่?
“ธัมมี่”=รัฐธรรมกาย?
เป็นฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในลักษณะ “รัฐคู่ขนาน” โดยมุ่งเน้นไปที่ “ลัทธิทุนนิยม” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
ที่สำคัญคือความสำเร็จของ “ธรรมกายโมเดล” นั้น มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่จะถูกนำไปใช้กับคดีทุจริตจำนำข้าวของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อันเป็นหมากเด็ดของรัฐไทยใหม่เพื่อโค่นรัฐบาล คสช.
ส่วนจะแตกหักเมื่อไหร่ คงไม่ใช่สิ่งที่จะคาดหวังหรือเกิดขึ้นในช่วงวันสองวันนี้อย่างแน่นอน