"สมเจตน์" ซัดศูนย์ปราบโกงฯ มีวาระซ่อนเร้น "ทักษิณ" อยู่เบื้องหลัง ชี้ นปช. เป็นปัจจัยที่จะทำให้โรดแมปเลื่อน หากยังทำบ้านเมืองวุ่นวาย คสช. คงต้องยึดอำนาจไปเรื่อยๆ ด้าน คสช. เตรียมเล่นงาน "จตุพร" และกลุ่ม นปช. อ้างผิดข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ดื้อดึงเจอดำเนินคดี
วานนี้ (12มิ.ย.) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี กลุ่มนปช. ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์มีแนวโน้มแล้วหรือว่าจะมีการโกงประชามติ ถึงต้องศูนย์นี้ขึ้นมา ทั้งนี้เหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เพราะนปช. คือมวลชนของพรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นนายทุนอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับนปช. ก็คือ นายทักษิณ เป็นนายทุนคนเดียวกัน ดังนั้นการทำงานของพรรคเพื่อไทยและนปช. จะสอดคล้องกัน เมื่อเพื่อไทยเป็นรัฐบาล กลุ่มนปช. ก็จะเป็นมวลชนสนับสนุนการทำงานของพรรคเพื่อไทย และจะคอยขัดขวางกลุ่มหรือบุคคลไหน ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของตัวเอง แม้กระทั่งปัจจุบัน คสช.ยึดอำนาจจากพรรคเพื่อไทย ดังนั้นทันทีที่นปช.ตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา คนก็มองว่านปช.มีภารกิจแฝง มีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเกี่ยวกับการประชามติอย่างที่กล่าวอ้าง
"ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมไม่ยอมรับการตั้งศูนย์ปราบโกงฯ รู้สึกเป็นห่วงเพราะเจตนาของเขาต้องการให้สถานการณ์บานปลายอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นไม่ทำหรอก เพราะต้องการให้รัฐบาล คสช. หมดความชอบธรรม ไม่ต้องการให้คสช.บริหารประเทศ เป็นที่ถูกใจประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ผมยังมั่นใจว่า ทุกอย่างยังเดินตามโรดแมปของ คสช. อย่างมากที่สุดหากรธน. ไม่ผ่านประชามติ ก็ร่างรธน.ใหม่ อาจใช้เวลาเพียง 2 เดือน อาจไม่มีประชามติ ดังนั้นแม้รธน.จะผ่าน หรือไม่ผ่าน การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นแน่นอน ภายในปี 2560 ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เลื่อนหรือไม่ ก็คือนปช. เพราะหากทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย คิดว่าคสช.ก็คงต้องยึดอำนาจต่อไปเรื่อยๆ" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ด้าน พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ คสช. กล่าวถึงกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช. เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ร้องเรียนกรณีศูนย์ปราบโกงประชามติ ของนปช. ถูกทหารข่มขู่ สั่งห้ามเปิดในภูมิภาคว่า การทำประชามติ มีกกต. เป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ. ออกเสียงประชามติอยู่แล้ว แต่การที่กลุ่มผู้เห็นต่างมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยจัดตั้งศูนย์ปราบโกงฯ นั้น ทางคสช.ได้ติดตามการเคลื่อนไหว และมีข้อสังเกตว่า กลุ่มนี้เคยเป็นคู่ขัดแย้งมาก่อน อีกทั้งมีส่วนได้ส่วนเสียงทางการเมือง เพราะฉะนั้นการออกมาเคลื่อนไหวน่าจะมีนัยยะแอบแฝงทางการเมือง จนนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย ทั้งยังไม่มีกฎหมายรองรับด้วย
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า ผู้เคลื่อนไหวกลุ่มนี้ ก็เคยลงนามในประกาศ คสช. ที่ฉบับ 39/2557 การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. และประกาศ คสช. ฉบับ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยตกลงกันไว้ว่า จะไม่เคลื่อนไหว และเดินทางออกนอกประเทศ โดยการเคลื่อนไหวทางการเมือง คสช.ยังไม่อนุญาตให้ใครสามารถกระทำได้ ถ้าเคลื่อนไหวอีก จะเข้าข่ายผิดข้อตกลง ส่วนทางนปช. จะเปิดศูนย์ฯในวันที่ 19 มิ.ย.นั้น ขอชี้แจงว่า ในพื้นที่ต่างๆเรามีการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่มีเหตุสมควรจะตั้งศูนย์ดังกล่าว ซึ่งพี่น้องประชาชนก็เข้าใจ หากใครก็ตามที่จะเคลื่อนไหว ก็ต้องระมัดระวังให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เพราะคสช. ยังคงบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับอยู่ โดยเฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม เราจะไม่พยายามใช้กฎหมายพิเศษ เพียงแต่ใช้กฎหมายปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยสอดส่องดูแล ทั้งนี้ หากกลุ่มนปช. ยังเคลื่อนไหวอยู่ก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเราก็บอกเขาว่า ถ้าทำอะไรที่ล่อแหลมต่อการขัดประกาศคสช. ก็จะผิดกฎหมาย
" บทบาทและจุดยืนของคนเห็นต่าง ย่อมต้องดำรงสถานะทางการเมืองอยู่ เพื่อรักษาฐานมวลชนไว้ ตรงนี้เราเข้าใจ พวกเขาก็ต้องพยามมีกิจกรรม เพื่อบ่งบอกว่ายังมีมวลชนอยู่ ถ้าไม่เคลื่อนไหวเลย คงไม่มีมวลชน สิ่งเหล่านี้ คสช. เฝ้าติดตามอยู่ พร้อมทั้งบอกให้พี่น้องประชาชนช่วยกันสังเกตเฝ้าดูด้วย"
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายจตุพร อ้างว่า มีทหารไปคุกคามไม่ให้เปิดศูนย์ฯ ตามพื้นที่ต่างๆ คสช.จะชี้แจงอย่างไร พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า คสช.ไม่ไปคุกคามใครหรอก เพราะทุกคนก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น แต่อาจจะแปลเจตนาต่างๆ ว่า การทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ เป็นการคุกคาม เพราะทหารมีอยู่ทุกพื้นที่ ถ้าอะไรที่ไม่ชอบมาพากล เราต้องมีการไปบอกกล่าว ตักเตือน แต่การที่พวกเขาอาจจะใช้คำพูดเช่นนี้ คงหวังจะบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าเป็นการคุกคาม ซึ่งขอย้ำว่า ข้อเท็จจริงเป็นการไปชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และทำผิดกฎหมาย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การคิดจะตั้งศูนย์ หรือกลุ่ม อะไร เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ ทำแล้วเหมาะสมหรือไม่ ตั้งขึ้นแล้วจะได้รับความเชื่อถือหรือไม่
" หากผู้กระทำการในศูนย์ฯ ยังเป็นผู้มีคดีความติดตัว ที่ยังไม่สะสางให้กระจ่าง การจะมาเสนอตัวว่าจะช่วยรักษากฎหมาย ก็คงดูแปลกประหลาด และคงไม่เหมาะสมเท่าไรนัก เพราะคนที่จะมาทำหน้าที่นี้ได้ ควรเป็นคนที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย และมีความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง มิใช่คนที่มีพฤติกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเลือกข้างมาโดยตลอด รวมทั้งขอฝากไปถึงกลุ่มนปช. ว่า ก่อนที่จะคิดไปปราบปราม ว่าใครกระทำผิดกฎหมาย กลุ่ม นปช.เองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้ก่อน อาทิ คำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 เรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ก็ยังมีผลบังคับใช้ และห้ามล่วงละเมิด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีหน้าที่ต้องเข้าไปติดตามดูแลความสงบเรียบร้อยให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย เพื่อมิให้ใครฉวยโอกาสแอบแฝงทำกิจกรรมที่ละเมิดต่อระเบียบของบ้านเมือง"
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า การที่ นปช.กล่าวว่า หากหน่วยงานรัฐไม่ให้ตั้งศูนย์ฯ แสดงว่าหน่วยงานรัฐตั้งใจจะโกงประชามตินั้น ถือเป็นการด่วนสรุปไปเอง ตามความคิด พฤติกรรม และประสบการณ์ ที่คุ้นชินในแวดวงของนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม ขณะที่รัฐบาลไม่เคยมีความคิดแบบนั้น
" ความจริงแล้วกลุ่ม นปช.ไม่ควรวิตกกังวลเรื่องการโกงที่ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก หากใจคิดอยากจะช่วยประเทศชาติโดยบริสุทธิ์ใจแล้ว ควรใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ไปติดตามเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่ถูกนักการเมืองโกงไปแล้วจะดีกว่า ไม่ว่าจะการโกงในคดีจำนำข้าว การโกงในโครงการบ้านเอื้ออาทร การฉ้อโกงในคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น เหล่านี้เป็นการโกงที่เกิดขึ้นแล้ว และประเทศชาติเสียหายแล้วอย่างชัดเจน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว.