xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ตรวจฯ” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 61 แล้ว - นปช.จี้ให้เสร็จใน 7 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งตัวแทนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นปช.สบช่องยื่นจี้เร่งรัดคดี 7 วัน

วันนี้ (6 มิ.ย.) รายงานจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุม เพื่อตรวจคำร้องก่อนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งคำร้องพร้อมความเห็น เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 หรือไม่

โดยในช่วงเช้าวันนี้ได้มีการหารือครั้งสุดท้ายหลังจากที่มีการปรับแก้ถ้อยคำเพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากคำพูดกับภาษาเขียนมีความแตกต่างกัน เป็นการเขียนให้โน้มน้าวใจเพื่อให้ศาลได้เห็นว่ามาตราดังกล่าวมีปัญหาอย่างไร ซึ่งการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการอ้างอิงข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา และหลักการต่างๆ

ทั้งนี้ ยืนยันไม่ได้มีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย ยังคงยืนยันที่จะให้ศาลพิจารณามาตรา 61 วรรคสองทั้งวรรค ไม่ใช่เพียงแค่คำสามคำ “ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ที่บรรจุอยู่ในวรรคดังกล่าว ซึ่งหลังจากยื่นแล้วก็เป็นดุลพินิจของศาลที่เชื่อว่าจะพิจารณาโดยเร็ว

จากนั้นในเวลา 12.40 น. ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มอบหมายให้นายปรีดา เวทยาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 และนายสนธยา ทองดี นิติกรสำนักกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

อีกด้านหนึ่ง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ และนายเหวง โตจิราการ เข้ายื่นหนังสือถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้เร่งวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณี พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายใน 7 วัน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติชะลอกระบวนการในการเตรียมการต่างๆ ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าเกรงจะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก

โดยนายจตุพร กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยก่อนวันออกเสียงประชามติเพียงไม่กี่วัน ก็ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศชาติ เสียงบประมาณไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน นปช. จึงมาเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญให้เร่งพิจารณาวินิจฉัย ใช้ความสามารถเหมือนตอนพิจารณายุบพรรคพลังประชาชน ที่เขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวนับร้อยหน้าโดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง อย่าให้ประเทศไทยจ่ายค่าโง่การทำประชามติ เพราะถ้าหากไปวินิจฉัยหลังวันที่ 7 ส.ค. อาจทำให้การทำประชามติเป็นโมฆะได้ แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการกดดันการทำงานของศาลแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเคยทำให้เกิดวิกฤติ

“ครั้งนี้จึงอยากให้ศาลวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนและรวดเร็ว ว่าถ้าหากขัดเพียงมาตราเดียว ประชามติจะมีต่อหรือล้มไปทั้งฉบับ อย่าให้เหมือนตอนวินิจฉันมาตรา 291 รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ทำให้ต้องไปตีความกันเอง และอย่าไปวินิจฉัยตอนใกล้จะออกเสียง แล้วเห็นแววว่ารัฐจะแพ้ประชามติ เพราะมันจะเข้าทฤษฎีสมคบคิด ให้เหมือนตอนวินิจฉันมาตรา 291 รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ทำให้ต้องไปตีความกันเอง ส่วนกรณีที่เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการพิจารณาอยู่พยานหลักฐานนั้น เรื่องดังกล่าวมีหลักฐานแค่ 2 ชิ้น คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร ยังกล่าวถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่กลุ่ม นปช. ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ว่า การตั้งศูนย์ดังกล่าวก็เพื่อช่วยในการทำประชามติให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ได้สร้างปัญหาตามที่ได้กังวลกัน หากไม่มีการโกงเกิดขึ้น พวกตนจะไปบอกว่ามีการโกงก็ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ควรที่จะขอบคุณพวกตนด้วยซ้ำ ที่ช่วยทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นไม่ให้อายพม่า และการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกงก็จะต้องไม่ผ่านประชามติด้วยการโกง อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปากกับใจตรงกัน หากเกลียดการโกงก็ต้องทำทั้งกายวาจาใจ อย่าปากว่าตาขยิบ ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าทำไม นปช. ไม่ตั้งศูนย์ปราบโกงตอนโครงการรับจำนำข้าวบ้าง เรื่องดังกล่าวมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทั้ง ป.ป.ช. และฝ่ายค้าน หากมีการตั้งศูนย์ปราบโกงในตอนนั้นก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกันเข้าข้างกันก็จะไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ขณะนี้เรื่องดังกล่าวก็อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว

ขณะที่นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การที่บรรดาโฆษก คสช. หรือโฆษกกรรมร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาตอบโต้ที่ นปช. ตั้งศูนย์ปราบโกงนั้น เหมือนเป็นการเล่นลิเก มัดมือชกประชาชน การกระทำเช่นนี้เหมือนเป็นการเล่นลิเกหลงโรง ยัดเยียดให้ประชาชนต้องเลือก ยืนยันว่าตนจะไม่ดูลิเกหลงโรงนี้แน่นอน เพราะถ้าไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง การทำประชามติจะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก เราต้องการแค่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่วนขั้นตอนที่จะบอกว่ารับหรือไม่รับเป็นเรื่องของประชาชน ตนอยากให้นายกรัฐมนตรีระวังเรื่องอารมณ์ของตนเอง เพราะถ้าแสดงอะไรออกมาจะส่งถึงวุฒิภาวะ และจะทำให้ประชาชนอึดอัด ลูกน้องก็พลอยที่จะโมโหตามไปด้วย ก็จะเข้ากับคำขวัญลงเรือแป๊ะตามใจแป๊ะ ถ้าแป๊ะยิ้มก็ยิ้มตาม ถ้าแป๊ะโมโหก็ต้องโมโหตามไปด้วย การตรวจสอบของ นปช. เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง ตอนตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์หรือทหารผ่านศึก ก็โดนเรียกไปปรับทัศนคติ แล้วจะให้พวกตนทำอย่างไร การที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า นปช. อยากตั้งศูนย์ปราบโกงก็ตั้งไป อย่าทำผิดกฎหมาย แต่ทำไมตอนคดีจำนำข้าว นปช. ไม่ตั้งศูนย์ปราบโกงบ้าง แล้วถ้าตนถามกลับว่าทำไมตอน กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้งทำไมไม่เห็นจัดการ การตั้งข้อสงสัยเช่นนี้จะทำให้เกิดคำถามไม่จบไม่สิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น