xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีสมคบคิด ต้นตอ “ลัทธิต้านวัคซีน” งานวิจัยชี้ชัดทำพ่อแม่ตื่นกลัว ไม่ยอมพาลูกไปฉีด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์เปิดต้นตอ “ลัทธิต่อต้านวัคซีน” มาจาก “ทฤษฎีสมคบคิด” เชื่อบริษัทยา - รัฐ ร่วมมือปกปิดข้อมูลผลข้างเคียงต่อ ปชช. ระบุงานวิจัยชี้ชัดส่งผลพ่อแม่ไม่อยากพาลูกไปฉีดวัคซีน เผย สหรัฐฯ กลัววัคซีน เหตุเคยมีงานวิจัยเรื่องวัคซีน MMR ส่งผลเด็กเป็นออทิสติก แม้พบภายหลังเป็นเรื่องหลอกลวง

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี “ลัทธิต่อต้านวัคซีน” ซึ่งกำลังมีการแชร์ผ่านเฟซบุ๊กโดยให้ข้อมูลว่าการฉีดวัคซีนทำให้เป็นโรค หรือหากไม่ฉีดวัคซีนก็ไม่ทำให้ป่วย ซึ่งความเชื่อนี้มีการแพร่ระบาดอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ว่า เรื่องนี้เป็นถือเป็นความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) ซึ่งบนโลกนี้มีความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมาก เช่น ทฤษฎีสมคบคิดเรื่อง จอห์น เอฟ เคเนดี, เรื่องเจ้าหญิงไดอานา, กรณี 9/11, เรื่องการลงจอดบนดวงจันทร์ของนาซา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดอาจส่งผลกระตุ้นต่อมความอยากรู้อยากเห็น แต่ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพของเราแม้แต่น้อย ยกเว้นทฤษฏีสมคบคิดเรื่องวัคซีน ซึ่งเป็นที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทฤษฎีสมคบคิดนี้อยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจที่มีต่อบริษัทยาและผู้มีอำนาจของรัฐที่ทำสัญญากับบริษัท

นพ.วรตม์ กล่าวว่า ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องวัคซีนนี้ คนส่วนหนึ่งเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ทั้งสององค์กรจะมีความพยายามร่วมกันในการปกปิดข้อมูลบางอย่างกับประชาชน โดยบริษัทยาอาจผลิตวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพ ปกปิดผลข้างเคียงที่อันตราย ไปจนถึงกระทั่งปลอมแปลงข้อมูลงานวิจัยและติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทยาสามารถทำกำไรได้มากที่สุด ทั้งนี้ ในปี 2014 มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคนท์ ประเทศอังกฤษ ยืนยันว่า ความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเรื่องวัคซีนส่งผลต่อการที่พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกฉีดวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ

จากการแบ่งผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 246 คน ออกเป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลที่ดีของวัคซีน กับ กลุ่มที่ได้รับการใส่ข้อมูลทฤษฎีสมคบคิด พบว่า พ่อแม่ที่ได้รับข้อมูลใหม่เกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดวัคซีน มีแนวโน้มที่จะคล้อยตาม และไม่อยากให้ลูกตัวเองต้องฉีดวัคซีนชนิดนั้น ๆ อีกต่อไป ซึ่งการไม่อยากให้ลูกฉีดวัคซีนนั้นเกิดจากกระบวนความคิดของพ่อแม่ 4 อย่าง คือ 1. ความรู้สึกกลัวในอันตรายของวัคซีน 2. ความรู้สึกไร้อำนาจของพ่อแม่ 3. ความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง และ 4. ความไม่เชื่อใจต่อผู้มีอำนาจในการผลิตยา ดังนั้น ความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเรื่องวัคซีน จึงเป็นเรื่องอันตรายมาก ความเชื่อแบบนี้ไม่เข้ามาในไทยเลยจะดีกว่า” นพ.วรตม์ กล่าว

นพ.วรตม์ กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่สหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากับปัญหาความกลัววัคซีน และมีอัตราการเกิดโรคที่ป้องกันได้จากวัคซีนเพิ่มขึ้นนั้น เพราะเมื่อปี 1998 มีงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet ว่า วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR vaccine) สัมพันธ์กับการเกิดโรคออทิสติกในเด็ก หลังจากตีพิมพ์ได้ 4 ปี ทำให้พ่อแม่ในประเทศอังกฤษมีความต้องการฉีดวัคซีนชนิดนี้ต่ำกว่า 50% ซึ่งต่ำกว่าระดับที่จะควบคุมโรคระบาดได้ แม้คณะวิจัยนี้ได้รับรางวัลและเงินสนับสนุนมากมาย แต่ในปี 2011 มีการประกาศอย่างชัดเจนว่า งานวิจัยชิ้นดังกล่าวเป็นเรื่องหลอกลวง และมีบทลงโทษต่อคณะผู้วิจัยอย่างรุนแรง แต่ไม่ได้ทำให้ความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเรื่องวัคซีนหมดไปจากสังคม

อนึ่ง ทฤษฎีสมคบคิด คือ เรื่องเล่า บทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคนหรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่น ๆ เพื่อให้ประโยชน์ หรือให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่ง หรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลักษณะของทฤษฎีสมคบคิดโดยทั่วไปมีข้อเท็จจริงประกอบอยู่เพียงเล็กน้อย หรือส่วนหนึ่ง เพียงเพื่อเสริมให้เกิดความน่าเชื่อถือว่ามีหลักฐานสนับสนุนที่ดูเหมือนเกี่ยวข้องกันเท่านั้น อาจมีเหตุผลสนับสนุนจากความเชื่อส่วนบุคคล ความเชื่อเกี่ยวกับทางศาสนา การเมือง หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างไป เรื่องเหล่านี้นักวิชาการจะไม่ใช้อ้างอิง ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณก่อนที่จะเชื่อเรื่องนั้น ๆ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น