ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อย่าได้แหลมเข้ามาในคูหา “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. คำรามใส่ “ตุ๊ดตู่”จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังออกมาแถลงจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ โมโหถึงขั้นประณามในลักษณะศูนย์เถื่อน ไม่มีกฎหมายรองรับ หนำซ้ำยังย้อนเกล็ดกันในที ทีกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โกงกันบานตะไท ทำไมนิ่งเป็นสากกะเบือ ไม่เห็นไปจับผิดเหมือนกับการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้
โดนอาการเบรกศูนย์ปราบโกงยี่ห้อ นปช. เอาเป็นว่า คสช. และรัฐบาล รู้เจตนาว่า แนวร่วมเสื้อแดงไม่ได้หวังดีอยากจะให้การทำประชามติเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างปากพูด แต่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงเป็นแน่ ในฐานะที่เป็นศัตรูทางการเมืองย่อมไม่ได้หวังดี ขืนปล่อยให้มีอิสระในการเคลื่อนไหว ไม่ต่างอะไรกับการยื่นดาบให้ศัตรูมาฟาดฟันตัวเอง จากเดิมที่ประชามติก็ร่อแร่อยู่แล้ว ถ้ามีศูนย์ปราบโกงเข้ามา ตอกฝาโลงไปเลย ไม่มีหรอก 7 สิงหาคม 2559
โดยนิสัยฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็หาช่องทางจับผิด ทำนองความผิดคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดเราเท่าเส้นขน เรื่องร้องเรียนคสช.และรัฐบาลมาเป็นกุรุด เดี๋ยวร้องๆ จนกองเต็มคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้ในบางกรณีจะไม่มีหลักฐานชัดแจ้ง แต่ผลข้างเคียงจากการขี้ฟ้องบ่อยๆ ก็ทำให้การทำประชามติเสียศูนย์ เสียความชอบธรรมต่อสายตาต่างชาติได้พอสมควร จนอาจเกิดวาทกรรม“ประชามติอัปยศ”
จริงๆ ถ้านปช. คิดจะทำผิดการทำประชามติครั้งนี้ ไปซุ่มเงียบหาหลักฐานมาประจานคสช.และรัฐบาลเสียยังได้น้ำได้เนื้อมากกว่า เผลอๆได้หลักฐานเด็ดๆ เพียบ เหมือนกับตอนทำประชามติปี 2550 ที่ตัวเองก็ไปเฝ้าจับผิด ตอนนั้นไม่เห็นต้องตั้งศูนย์ล่อเป้าทหารยังทำได้ แต่หนนี้มาตีฆ้องร้องป่าวกันเอิกเกริก แทบไม่ต่างอะไรกับการแหวกหญ้าให้งูตื่น คนที่จะโกงรู้ตัวยิ่งระแวดระวังตัว มันก็ไม่สมเหตุสมผล
นปช.เองแม้ปากจะพร่ำว่าต้องการจะให้มีประชามติ แสแสร้งว่า คสช.และรัฐบาลอย่าล้มไปเสียก่อน แต่ในความเป็นจริงคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน หรือประชามติล้มไปก่อน ก็คือ ฝ่ายตรงข้ามอันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย และนปช.เอง อย่างที่รู้กันว่า กติกาสูงสุดของประเทศฉบับนี้ เป็นการปิดประตูตายสำหรับการหวนคืนสู่อำนาจของระบอบทักษิณ
แม้การที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน หรือประชามติล้มไปก่อนดูเหมือนจะเข้าทางคสช. มากกว่าในฐานะที่มี มาตรา 44 อยู่ในมือ สามารถมัดมือชกยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประกาศใช้แบบไม่ทำประชามติย่อมได้ อีกทั้งยังสามารถร่างเนื้อหาได้สุดโต่งกว่าเดิม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว นปช. ย่อมเชื่อว่า คสช.และรัฐบาลจะไม่สามารถทำอะไรได้ง่ายอย่างนั้นอีกครั้งแน่ ถ้าประชามติเที่ยวนี้ไม่ผ่าน หรือแท้งก่อนกำหนด
ถ้าประชามติล่ม หรือร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ไพ่ต่อในมือจะย้ายฟากไปอยู่อีกฝั่งทันที โดยเฉพาะถ้าเป็นอย่างหลัง พรรคเพื่อไทยและนปช. ย่อมตีกินว่า คะแนนเสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือ พวกเดียวกับตน และคนที่อยู่ตรงข้ามคสช.และรัฐบาล พร้อมกับเอาความชอบธรรมตรงนั้นไปเคลื่อนไหวในการรบราต่อ
อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ไม่ใช่แค่คสช.และรัฐบาลที่เห็นวัตถุประสงค์ร้ายนี้ เพราะจะว่าไป ความชอบธรรมดังกล่าวมันสิ้นสภาพไปตั้งแต่คนที่จัดตั้งศูนย์นี้ นำโดย “ตุ๊ดตู่”และแก๊งแดง แง่หนึ่งเพราะนปช.คือ กลุ่มที่ออกมาแถลงว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นลำดับแรกๆ ทั้งที่เนื้อหาบางมาตรายังไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำ ง่ายๆคือ ต่อให้ร่างเลิศเลอเพอร์เฟกต์แค่ไหน อย่างไรก็จะล้มอยู่วันยันค่ำอยู่ดี
อีกทั้งหัวขบวนในการนำครั้งนี้อย่าง“จตุพร” หรือ “จอมเผา”ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ภาพลักษณ์ถือว่าติดลบทางสังคมอย่างสูง โน้มเอียงชัดเจน ไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่ละคนมีคดีความในศาลและองค์กรอิสระเป็นกระบุงๆ เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ หรือเรื่องทุจริตก็ตั้งเยอะแยะ ถ้าตั้งมาก็มีแต่ให้คนนินทาหมาดูถูกเปล่าๆ มีแต่คนเย้ยหยัน
ถ้าศูนย์ปราบโกงครั้งนี้เป็นคนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง มีภาพลักษณ์ความเป็นกลาง ชัดเจนได้ว่าไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ความชอบธรรมในการตั้ง หรือ
การคัดค้านการมีของศูนย์นี้จะมีน้อย ดังนั้น มันผิดตั้งแต่ที่ นปช. คิดตั้งแล้ว แผลเหวอะหวะเต็มตัว อยู่ดีไม่ว่าดี หาเรื่องให้คนด่า
เรื่องความเป็นกลางไม่ต้องพูดถึง ไม่มีอยู่แล้วสำหรับศูนย์นี้ เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ปราบประชามติ”น่าจะตรงจุดมากกว่า เพราะเป้าหมายจริงๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วัตถุประสงค์ของศูนย์ดังกล่าวนี้น่าจะคล้ายกับศูนย์บัญชาการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกลายๆ ที่คอยตีประเด็นเรื่องการทำประชามติให้ดูอัปยศมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ ยังคอยเป็นศูนย์กลางในการร้องแรกแหกกระเชอทางอ้อม เบื้องหน้าเป็นศูนย์ปราบโกง แต่เบื้องหลังตั้งใจให้ตัวเองยังคงอยู่ในกระแส จุดยืน นปช.ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า ต้องการ“คว่ำ” ดังนั้น ขอแค่ให้ตัวเองมีบทบาทในหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบกลโกง หรือการเคลื่อนไหวรายวัน เหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับโฆษณาหรือรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแบบแฝง เรียกว่า ถ้าคสช. และรัฐบาลปล่อยให้มีศูนย์นี้มีรายการยึดหน้าสื่อ สร้างกระแสได้จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2559 วุ่นแน่
ในซีกของคสช. และรัฐบาลเอง ก็ไม่ใช่ว่าภาพลักษณ์งดงาม วันนี้ยังถูกคนค่อนแคะถึงเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอยู่ กฎเหล็กหลายข้อทำให้คนเกิดความรู้สึกว่า กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างสองมาตรฐานอยู่หรือไม่ เพราะในขณะที่ตัวเองกำลังชี้หน้าด่านปช.ปาวๆ เรื่องการตั้งศูนย์ดังกล่าว ก็ใช้องคาพยพทุกส่วนของรัฐเท่าที่มี ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน
แน่นอนรัฐอาจปฏิเสธว่า แค่ชี้แจง แต่ไม่ได้ชี้นำว่าให้รับ หรือไม่รับ แต่ในทางปฏิบัติแล้วการชี้แจงทำความเข้าใจไม่มีที่ไหนพูดถึงข้อเสียของตัวเอง และการพูดแต่ข้อดี มันก็ไม่ต่างอะไรกับการโน้มน้าวใจให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญทางอ้อมดีๆ นี่เอง
ขณะเดียวกัน การเข้าไปตรวจสอบการทำประชามติครั้งนี้ว่ามีการเล่นตุกติกอะไรหรือไม่ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีการเปิดกว้างเท่าที่ควร มุมหนึ่งมันก็ไม่ผิดที่จะมีใครสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล
คสช.และรัฐบาลควรเปิดให้มีการสอดส่องมากกว่านี้ เพียงแต่อาจจะตรวจตราหน่อยว่าใครเป็นใคร ไม่เช่นนั้นมันจะดูรวบหัวรวบหางกันเกินงาม !