xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งจำคุก “วีระกานต์-ตู่-เต้น” คนละ 1 ปี จัดรายการหมิ่น “วัชระ เพชรทอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ASTV ผู้จัดการ - ศาลสั่งจำคุก “วีระกานต์-ตู่-เต้น” แกนนำม็อบ นปช.คนละ 1 ปี จัดรายการหมิ่นประมาท “วัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.ปชป. กล่าวหาตีพิมพ์หนังสือโดยมีเจตนาให้ร้ายอดีตนายกฯ สมัคร แต่ศาลปรานีโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และชดใช้เงินจำนวน 6 แสนบาท

วันนี้ (2 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.4977/2555 ที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ หรือวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 332, 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท เรียกค่าเสียหายร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดยคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2552 จำเลยที่ 1-3 จัดรายการความจริงวันนี้ ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวีของคนเสื้อแดง กล่าวหาว่าโจทก์พิมพ์หนังสือชื่อ “สมัคร จาบจ้วง ป๋าเปรม ถึงนอมินีทักษิณ” ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีถึงแก่อสัญกรรมแล้ว และพวกจำเลยยังเรียกร้องให้คนเสื้อแดงมาคุกคามโจทก์ที่พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่หนังสือดังกล่าวได้พิมพ์เผยแพร่ที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2551 โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธานในพิธีเปิดตัวหนังสือฉบับนี้ ร่วมกับนายปรีชา สามัคคีธรรม ก่อนที่นายสมัครจะถึงอสัญกรรม จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

โดยในวันนี้โจทก์และจำเลยพร้อมทีมทนายความเดินทางมาศาล จากนั้นศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว โจทก์มีพยานหลายปากเบิกความสอดคล้องซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดรายการความจริงวันนี้ ออกอากาศผ่านช่องดาวเทียมทีวีเมื่อค่ำวันที่ 27 พ.ย. 2552 โดยจำเลยทั้งสามนำหนังสือ “สมัคร จาบจ้วง ป๋าเปรม ถึงนอมินีทักษิณ” ที่โจทก์จัดพิมพ์มาแสดงในรายการพร้อมกล่าวหาว่าโจทก์ได้จัดทำหนังสือขึ้นมาใหม่หลังจากที่นายสมัครถึงอสัญกรรมแล้ว จำเลยทั้งสามกล่าวว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี และเมื่อมีผู้รับชมการออกอากาศแล้ว ต่อมาวันที่ 28 พ.ย. 2552 มีผู้ชุมนุมหลายร้อยคนไปชุมนุมหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเรียกร้องให้โจทก์ออกมาขอขมา และยังมีการร้องเรียนสภาผู้แทนราษฎรให้มีการตรวจสอบจริยธรรมโจทก์ ซึ่งทางนำสืบโจทก์มี แผ่นซีดีบันทึกการออกอากาศดังกล่าว มาแสดงพร้อมพยานบุคคลที่เบิกความสอดคล้องต้องกันไม่มีข้อพิรุธ

นอกจากนี้ โจทก์ยังมีพยานที่ได้ร่วมเปิดตัวหนังสือเมื่อปี 2551 มาเบิกความ พร้อมมีพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายซึ่งรับฟังได้ว่า โจทก์ได้จัดพิมพ์หนังสือตั้งแต่ช่วงมีนาคม 2551 ก่อนที่นายสมัครจะถึงอสัญกรรม และจัดพิมพ์เพียงครั้งเดียวไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าปกหนังสือที่เป็นพื้นสีดำและรูปหน้าของนายสมัคร โดยการเปิดตัวหนังสือก็มีสื่อมวลชนและบุคคลอื่นร่วมอยู่ด้วย จึงไม่ใช่การพิมพ์หนังสือไว้อาลัยในช่วงที่นายสมัครเสียชีวิต

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้หนังสือนี้ มาจากผู้สื่อข่าวที่อาคารรับสภาซึ่งระบุว่ามีการนำมาแจกให้แก่ผู้สื่อข่าวนั้น จำเลยก็ไม่ได้มีพยานในส่วนนี้มาเบิกความ และที่อ้างว่าไม่มีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลก่อน ส่วนการกล่าวถึงโจทก์ในรายการเป็นกล่าวในลักษณะตักเตือน ศาลเห็นว่าจำเลยทั้ง 3 เองเคยทำงานการเมืองมาหลายปี อีกทั้งหากจะมีการออกอากาศก็ควรจะต้องใช้ความระมัดระวังตรวจสอบข้อมูลก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายข้อต่อสู้ของจำเลยจึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ

การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ยกหนังสือขึ้นมาพร้อมกล่าวตำหนิโจทก์ ซึ่งมีการเผยแพร่ทางสถานีพีทีวี ที่มีผู้ชมจำนวนมากและยังสามารถดูย้อนหลังได้ผ่านเว็บไซต์ของสถานีโดยที่การกล่าวของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความจริงนั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการละเมิดซึ่งทำให้โจทก์ที่เคยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเคย กมธ.หลายคณะได้เสื่อมเสียกิตติคุณรวมทั้งครอบครัวโจทก์ก็ได้รับผลกระทบด้วย จึงเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสามต้องชดใช้จากการทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย

แต่ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในการนำข้อความที่กล่าวในรายการนำมาลงในเว็บไซต์นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังน่าสงสัยว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือเป็นผู้สั่งการให้กระทำ

จึงพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ ตามมาตรา 328 และ 332 ให้จำคุกจำเลยทั้ง 3 คนละ 1 ปี ปรับ คนละ 5หมื่นบาท หากไม่ชำระค่าปรับก็ให้กักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 แต่ในส่วนของโทษจำคุกนั้นเมื่อศาลพิจารณาพฤติการณ์แล้วเห็นว่าไม่ร้ายแรงจึงให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสามไว้กำหนดคนละ 2 ปี

โดยศาลยังมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดโจทก์จำนวน 6 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ 29 ธ.ค. 55 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ คมชัดลึก และแนวหน้า เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสามชำระค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย 1 หมื่นบาท

นายสุภาพ เพชรศรี ทนายความจำเลยระบุว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์ในส่วนของคดีอาญา และแพ่ง แม้เรายอมรับว่าได้กล่าวถึงโจทก์ในรายการจริง แต่เรายืนยันว่าเจตนาเพื่อตักเตือนโจทก์ อีกทั้งพบว่าหนังสือแม้จะพิมพ์ตั้งแต่ 2551 แต่ก็ยังมีการนำมาแจกอยู่

ด้านนายวัชระกล่าวว่า ตนเคารพในคำพิพากษาของศาล ศาลให้จำคุก 1 ปีแต่ให้รอลงอาญาไว้ แต่กระบวนการพิจารณายังไม่สิ้นสุด ตนก็จะให้ทนายความยื่นอุทธรณ์ต่อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ศาลอุทธรณ์จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาในคดีนี้ต่อไป

เมื่อถามต่อว่า กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกมาแถลงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ สวนทางกับความคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองแบบไหน และพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นไปในทิศทางไหน นายวัชระกล่าวว่า ตนเป็นลูกพรรค คงต้องปฏิบัติตามหัวหน้าพรรค เพราะหัวหน้าพรรคมีความคิดในเรื่องที่จะเสนอให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ตนในฐานะลูกพรรคก็ต้องเห็นด้วยกับความคิดของหัวหน้าพรรค และส่วนความคิดส่วนตัวนั้นตนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ควรผ่านในชั้นของ สปช.เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วไปถึงชั้นของประชามติก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน หากผลประชามติออกมาในทางด้านไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะนำไปสู่เงื่อนไขการขับไล่รัฐบาล คสช. ในที่สุด ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความหวังดีต่อประเทศชาติ จึงเห็นว่า สปช.ควรจะใช้วิจารณญาณให้รอบครอบมาที่สุด เพราะในการพิจารณาร่างฯ ของ สปช. ความขัดแย้งจะยังคงอยู่ที่สภาไม่ได้ขยายวงไปทั่วประเทศ ซึ่งถ้าหากร่างผ่าน สปช.ไปแล้ว รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะห้ามความคิดของประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการปราบปรามทุจริต ซึ่งร่าง รธน.ฉบับใหม่ได้ตัดอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการที่จะวินิจฉัยไต่สวนข้าราชการที่ประพฤติมิชอบตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป และรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตัดอำนาจส่วนที่มีอยู่เดิมทั้งหมด โดยให้วินิจฉัยและไต่สวนได้เพียงหัวหน้าส่วนราชการเท่านั้น ทำให้ ป.ป.ช.ไม่สามารถแสวงหาหลักฐานการประพฤติมิชอบของราชการได้ทั้งระบบ เพราะทุกอย่างมันเป็นกระบวนการ มิได้หมายความว่าหัวหน้าส่วนราชการจะประพฤติมิชอบเพียงคนเดียว แต่เริ่มขึ้นตั้งแต่ระดับร่างขึ้นไปจนถึงหัวหน้าส่วนราชการ

เมื่อถามว่าถ้าหากร่ารัฐธรรมนูญผ่านโหวตแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะมีการเคลื่อนไหวไปในทางใด นายวัชระกล่าวว่า ตอนนี้นายอภิสิทธิ์เดินทางไปต่างประเทศอยู่ ต้องรอฟังว่าหัวหน้าพรรคจะส่งสัญญาณอย่างไรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น