xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง ม.61 ทำประชามติล่มเสียเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ทำท่าจะบานปลายเสียแล้ว แม้ว่าในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านฉลุยวาระสามไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559

แต่ภายหลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า มีปัญหาในการนำไปปฏิบัติขึ้นมาทันที

ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ต้องการจะให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เนื้อหาของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ จึงเต็มไปด้วยข้อบังคับที่เข้มงวด และกำหนดโทษไว้ค่อนข้างรุนแรง บางมาตราโทษหนักกว่าฆ่าคนตายเสียอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 61 ซึ่งกำลังเป็นปัญหา จนทำให้มีกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่

มาตรา 61 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ บัญญัติไว้ว่า

“ ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(๒) ให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(๓) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง

(๔) เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์ นำไปหรือขัดขวางการส่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียง เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย

(๕) เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(๖) เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(๗) ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกาของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง

ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ผู้ใดกระทำการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้

ในกรณีการกระทำความผิดตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) เป็นการกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

ผู้ใดกระทำการตาม (๗) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่ผู้กระทำการตาม (๖) เป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายก่อนหรือในวันออกเสียง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”


ด้วยเกรงว่ามาตรา 61 จะก่อปัญหาขึ้นภายหลัง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พร้อมด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้เป็นตัวแทนนักวิชาการกว่า 100 คนเข้าชื่อยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 61 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีคำว่า “รุนแรง ก้าวร้าว และปลุกระดม” ซึ่งไม่เคยมีคำนิยามอยู่ในกฎหมายใดมาก่อน ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างไรจะผิดกฎหมาย

ส่วนที่กำหนดห้ามใช้ถ้อยคำหยาบคาย แม้คำนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย จึงเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต ไม่มีเหตุอันสมควร อีกทั้งบทกำหนดโทษก็มีความรุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้นเทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

หลังจากนายจอนและคณะยื่นคำร้องแล้ว วันที่ 24 พฤษภาคม มีการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินและมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยคณะทำงานได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมไปยังผู้ร้อง สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

ต่อมา ในการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่ามาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่นายจอนขอให้วินิจฉัย โดยจะมีการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ตามมาตรา 61 วรรคสองนั้น แม้จะมีพจนานุกรมระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจจะมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าวจนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ถึงแม้สุดท้ายแล้วศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ระหว่างที่ถูกดำเนินการ ก็ต้องถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งโทษตามกฎหมายดังกล่าวเป็นโทษทางอาญา การดำเนินการทางคดีอาญาผู้ตรวจฯ ก็เห็นว่าจะต้องมีความชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จะขัดต่อหลักการพิจารณาคดีทางอาญา และในที่สุดการออกเสียงประชามติครั้งนี้อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวยืนยันว่า สนช.ดำเนินการออกกฎหมายฉบับนี้ไปตามอำนาจหน้าที่ โดยคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยเป็นธรรม ป้องกันไม่ให้มีการข่มขู่ ใช้กลยุทธ์ เล่ห์เหลี่ยมมากระทบต่อการลงคะแนน หากศาลชี้ว่ามาตรา 61 วรรคสอง กระทบต่อรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล สนช.และ กกต.ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องมาพิจารณาร่วมกัน ถ้าจะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายดังกล่าว สนช.ก็พร้อมจะทำให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อย่ากังวล ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะต้องการเลื่อนการทำประชามติออกไปจากเดิมวันที่ 7 สิงหาคมหรือไม่นั้น ขณะนี้ กกต.ยังต้องจัดให้มีการทำประชามติภายใน 120 วันตามรัฐธรรม(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และหากไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ สามารถจัดได้ตามปกติและตามวันเวลาเดิม แต่กระบวนการก่อนทำประชามติ อาจเกิดปัญหาในเรื่องการบิดเบือน ให้ข้อมูลเท็จได้ ซึ่งจะไม่มีกฎหมายไปเอาผิดคนเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกเลือกตั้ง กล่าวว่า หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดในลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ก็จะไม่ถูกตีความว่าเป็นการกระทำที่ก่อความวุ่นวายจนเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ แต่ก็ยังอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นได้ เช่น ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผิด พ.ร.บ.การพิมพ์ แต่โทษก็อาจจะแตกต่างไป

“การกระทำทุกเรื่องมีกฎหมายอื่นรองรับ เพียงแค่ไม่ถือว่าเป็นการก่อความวุ่นวายเท่านั้น และหากศาลจะวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสองขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าไม่ได้ส่งผลต่อตัว พ.ร.บ.ประชามติทั้งหมด การออกเสียงประชามติก็จะยังเดินหน้าต่อไปได้ และวันที่ 7 สิงหาคม ก็ยังจะเป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดิม”นายสมชัยกล่าว

จากคำกล่าวของนายสมชัย เห็นได้ชัดว่า แม้ไม่มีบทบัญญัติตามมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ก็ยังมีกฎหมายอื่นที่จะเอาผิดผู้ที่บิดเบือน ให้ข้อมูลเท็จ หรือสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นกับการออกเสียงประชามติฯ ได้

รัฐบาล และ คสช.ควรจะกลับไปพิจารณาใหม่หรือไม่ ว่า เพื่อให้การลงประชามติฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น ควรจะเลือกวิธีใด ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด กับการออกกฎหมายใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำให้ภาพลักษณ์ความเป็นเผด็จการของ คสช.ถูกตอกย้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น