ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์”รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาตอนหนึ่งระหว่างร่วมคณะโรดโชว์ญี่ปุ่น ในเวทีนิคเคอิ ฟอรั่ม ครั้งที่ 22 ในหัวข้อ อนาคตของเอเชียในงาน"Nikkei Forum 22nd International Conference on the Future of Asia"โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมรับฟัง 500 คนว่า รัฐบาลไทยเตรียมขยายพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด “ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา”เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมไฮเทค พร้อมทั้งจะลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือน้ำลึกอู่ตะเภาให้เป็นเชิงพาณิชย์ และการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง “Eastern Economic Corridorกับกรุงเทพฯ” หรือที่ นายสมคิด ได้ให้ชื่อการขับเคลื่อนว่า “ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”
“ซึ่งจะใช้เงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.8 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.3-3.5%”
สอดคล้องกับที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน กระทรวงการคลัง ระบุว่า เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...ให้ ครม.พิจารณา หากครม.เห็นชอบจะมีการประกาศให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กว่า 2.4 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนเป็นการเฉพาะ
เช่นเดียวกับ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานประสานการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (สปพ.) ระบุว่าได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา โดยหน่วยงานที่บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อช่วยให้การทำงานมีความเป็นอิสระและคล่องตัว
สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรม ซุปเปอร์คลัสเตอร์ และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)ให้เกิดขึ้นได้รวดเร็ว รวมทั้งจะจัดตั้งศูนย์วันสตอปเซอร์วิส เพื่ออำนวยความสะดวก ในการออกใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และ กนอ.ได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการภายในนิคมฯ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว
“ในเขตเศรษฐกิจฯดังกล่าว จะต้องมีการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับโรงงาน เช่น การขยายท่า อากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 การสร้างมอเตอร์เวย์ คาดว่าการสร้างสาธารณูปโภคเหล่านี้ ต้องใช้เม็ดเงิน 100,000 ล้านบาท คาดว่าจะดึงเงินลงทุนที่เข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 200,000 ล้านบาท ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ 300,000 ล้านบาท รวมแล้วเบื้องต้นจะมีการลงทุนเกิน 500,000 ล้านบาท ภายในปี 2560 และในอนาคตจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก”
ทั้งนี้ กนอ.ได้เตรียมพื้นที่รองรับนักลงทุนเพิ่มเติมใน 3 ส่วน คิดเป็นพื้นที่ 31,000 ไร่ อาทิ นิคมฯในปัจจุบัน ที่พร้อมจะขยายพื้นที่ได้ทันที 7,000 ไร่ นิคมฯที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 11 นิคมฯ มีพื้นที่ 20,000 ไร่ และนิคมฯ ที่ กนอ.จะพัฒนาเอง 3 นิคมฯ พื้นที่ 4,000 ไร่
ย้อนดูนโยบายรัฐบาลหลังจากมีการประชุมล่าสุดในประเด็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด ใน 7 คลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจ มีความพยายามที่ผลักดันในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ให้มีคลัสเตอร์ด้าน “อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” สอดคล้องกับการเตรียมขยายพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด นอกจาก “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด”และ “การขยายท่าเรือแหลมฉบัง”ตั้งเป้าให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 15,000-20,000 ไร่
ตั้งเป้าจะขยับไปยังจังหวัดใกล้เคียง คำพูดหนึ่งของ นายสมคิด ระบุถึงการ เพิ่มสิทธิพิเศษทางภาษีและอัตราค่าเช่าสูงสุดเต็มเพดาน เพื่อสร้างแรงจูงใจ ตรึงนักลงทุน โดยเฉพาะญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีนไม่ให้ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเวียดนาม และเพื่อนบ้านประเทศอื่น ๆ
ตามข้อมูลของ“การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”แล้ว “การขยายท่าเรือแหลมฉบัง”จะดำเนินการได้ตามแผนเฟส 1-2 ในกรณีที่มีขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนการเพิ่มสิทธิพิเศษทางภาษีและอัตราค่าเช่าในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้ได้ ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้อีก 50% อีก 5 ปี และอัตราค่าเช่าสำหรับ 50 ปีแรก และต่ออายุรอบ 2 อีก 50 ปี ที่กำหนดไว้ในแต่ละเขต แม้จะเต็มเพดานแล้ว แต่ต้องเสนอแนวทางให้ลดอัตราภาษี และลดอัตราค่าเช่าลงอีก เพื่อจูงใจเอกชนให้มากขึ้น
ประเภทกิจการที่ได้สิทธิพิเศษจากบีโอไอ 13 กลุ่มกิจการ ซึ่งบางจังหวัดถือว่ายังมีบางกิจการได้รับสิทธิ์น้อยเกินไปก็จะเปิดโอกาสให้จังหวัดร่วมกับหอการค้า เสนอขอเพิ่มประเภทกิจการได้
ขณะที่ข้อมูลของ“กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย”พบว่าผังเมืองรวมมาบตาพุด กรมได้ถ่ายโอนภารกิจให้ทางเทศบาลมาบตาพุดเป็นผู้ดำเนินการวางผังทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างปิดประกาศรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หากมีการร้องเรียนหรือปรับผังปรับแก้ ขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณา ขั้นตอนจากนี้ หากมีการปรับปรุงปรับแก้จะต้องปิดประกาศอีก 90 วัน คาดว่ากว่าจะมีผลบังคับใช้ต้องใช้เวลา 1 ปี
หากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็สามารถ "ปลดล็อก" เพิ่มพื้นที่ได้ แต่ต้องดำเนินการตาม 3 เงื่อนไขคือ 1. ต้องควบคุมให้การลงทุนอุตสาหกรรมเป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด 2. พื้นที่ที่เคยกำหนดโซนอุตสาหกรรมไว้แล้ว ต้องเป็นไปตามเดิมเช่น พื้นที่เกษตร , พื้นที่พาณิชยกรรมและพื้นที่อยู่อาศัย 3. พื้นที่สีม่วงที่เคยอนุมัติไว้แต่ยังไม่มีการลงทุน ต้องใช้พื้นที่ส่วนนี้เต็ม
สรุปแล้ว“แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) นอกจากให้สิทธิประโยชน์สูงสุดของบีโอไอแล้ว ยังจะมีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ การปลดล็อกประเด็นที่เป็นอุปสรรคการลงทุน เช่น กรณีของกฎหมายผังเมือง กฎหมายการถือครองหุ้นในกิจการบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมการบิน กิจการเพื่อการวิจัยและพัฒนา ที่ปัจจุบันติดเงื่อนไขว่าต้องมีคนไทยเป็นเจ้าของเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และใน 5 ปีข้างหน้าจะมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ชัดเจนทั้งการลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการนำโครงการต่างๆ เข้ามาพิจารณาให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนด้วย
การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ นายสมคิด ให้ความสำคัญอย่างมาก ดังที่เขากล่าวว่า "เมื่อเส้นทางดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับเซาเทิร์นคอริดอร์ จะเชื่อมโยงอีสเทิร์นอีโคโนมิกคอริดอร์มายังกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อไปยัง จ.กาญจนบุรี บริเวณนี้ทั้งหมดจะกลายเป็นแหล่งของการพัฒนา ในอีก 5 ปีข้างหน้าบริเวณนี้จะกลายเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่พัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ ดังนั้นจึงได้ชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน ประเทศไทยไม่ได้มีแค่เรื่องรถไฟ มีสารพัดเรื่อง สังเกตว่าทางญี่ปุ่นมีความว่องไวอยู่ 2 เรื่อง คือรถยนต์กับรถไฟ”
“สิ่งที่อยากให้ญี่ปุ่นโฟกัส ไม่ใช่แค่เฉพาะรถไฟ เพราะญี่ปุ่นเวลาจะทำอะไรค่อนข้างจะละเอียดอ่อน ทำให้ช้า ขณะนี้เมืองไทยกำลังพัฒนาไปในหลายอุตสาหกรรม กำลังเริ่มโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)เป็นต้น จะมีการจัดงานดิจิทัลเดย์ ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งในช่วง 5 ปีนี้ ทางกระทรวงไอซีที จะมีการลงทุนร่วมลงทุนในเรื่องดิจิทัลอีโคโนมีกับเอกชนมูลค่าเป็นแสนล้าน ก็เชิญชวนให้มาร่วมและให้ไปชักชวนบริษัทเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุนกับเรา”
ทั้งหมดนี้ รัฐบาลไทยเตรียมขยายพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด “ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา”เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยใช้เงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.8 แสนล้านบาท พื้นที่สำหรับรองรับนักลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดนำร่อง ประมาณ2.6 หมื่นไร่ เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมไฮเทค ตามชื่อการขับเคลื่อน“ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”