xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน “คึก” รับ “เออีซี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บัวหลวง Money Tips
โดย วนาลี ตรีสัมพันธ์
กองทุนบัวหลวง

เมื่อปี 2014 ยอดผลิตยานยนต์ทั่วโลกสร้างสถิติสูงสุดเกือบ 90 ล้านคัน ขณะที่ปีถัดมา 2015 ก็คาดว่าจะสร้างสถิติใหม่อีกรอบ เพราะเพียงครึ่งปีแรกก็ผลิตไปแล้วถึง 45.6 ล้านคัน และที่สำคัญ ในตลาดผลิตยานยนต์ปัจจุบันทวีปเอเชียครองส่วนแบ่งไปแล้วร้อยละ 50 จากร้อยละ 38 เมื่อ 10 ปีก่อน ส่วนที่เหลือแบ่งให้ทวีปอเมริกาและยุโรปอย่างละครึ่งๆ ประมาณร้อยละ 25 แต่หากพิจารณาเฉพาะประเทศจีน ปัจจุบันคือแชมป์ผู้ผลิตยานยนต์สูงสุดติดต่อกันหลายปีซ้อน มียอดการผลิตถึงร้อยละ 26 ของทั้งโลก เหนือกว่าที่ผลิตในอเมริกาและยุโรปทั้งทวีปในแต่ละปีเสียอีก

เมื่อประชาคมอาเซียน (AEC) กำเนิดขึ้น จะผนวกให้แต่ละประเทศอาเซียนผนึกรวมตลาดเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ยานยนต์ที่ผลิตในภูมิภาคนี้ครองลำดับ 6 ของโลก แม้จะมียอดผลิตรวมเพียงร้อยละ 4-5 หรือราว 4 ล้านคันต่อปีก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับที่ผ่านมา

เห็นชัดจากรายงานข่าวว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เลือกปิดโรงงานในประเทศอื่น เช่น โตโยต้าจะยุติผลิตรถยนต์ในออสเตรเลียภายในปี 2017 แล้วหันมาขยายกำลังการผลิตในอาเซียน ซึ่งมีข้อได้เปรียบสำคัญในด้านค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า

นอกจากนี้ ตลาดภายในภูมิภาคเองก็ขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ และเกิดกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2014 อาเซียนมียอดจำหน่ายรถยนต์เป็นลำดับที่ 6 และคาดว่าภายในปี 2020 จะครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจนก้าวสู่ลำดับที่ 5 ของโลกได้ (คาดการณ์จากองค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก Frost & Sullivan) นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือต่างๆ จากภาคเอกชนของแต่ละประเทศ เช่น นโยบายด้านภาษี การทำ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เป็นต้น

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยนั้นถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เอื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยปี 2014 ไทยผลิตยานยนต์ได้เป็นลำดับที่ 13 ของโลก และอันดับ 6 ในการผลิตรถยนต์เพื่อใช้ในงานพาณิชย์ (Commercial Vehicles) ในแต่ละปีไทยส่งออกยานยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 ของมูลค่าส่งออก และคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของจีดีพี นับว่าเป็นอุตสาหกรรมแขนงสำคัญที่เติบโตมาโดยตลอด จนปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตยานยนต์ทุกโรงงานรวมกันตกปีละประมาณ 2.8 ล้านคัน และคาดว่ากำลังการผลิตจะถึง 3 ล้านคันในอีกไม่กี่ปี โดยมีโปรดักต์แชมเปี้ยนคือปิกอัพและอีโคคาร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถทั้งสองประเภทในระดับโลก

นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐล่าสุดคือเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next - Generation Automotive) เป็น 1 ใน 10 คลัสเตอร์นี้ โดยเน้นยานยนต์ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มุ่งต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมสู่การออกแบบการผลิต การสร้างเครื่องยนต์ และระบบขับเคลื่อนใหม่ นอกจากนี้ยังออกมาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนา หรือศูนย์ทดสอบสมรรถนะยานยนต์ต้นแบบในภูมิภาค ผ่านการปรับลดหรือปรับเพิ่มอัตราภาษีอากร หรือปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณอัตราเพื่อเสียภาษีอากรที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในเชิงการค้า

แม้ประชาคมอาเซียนจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็สร้างการแข่งขันภายในภูมิภาคให้ตามมาด้วย เช่น ประเทศอินโดนีเซียมีนโยบายยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ได้มาตรฐานสากลมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถขนาดเล็กที่จะคล้ายกับอีโคคาร์ของไทย พร้อมทั้งอาศัยความได้เปรียบจากจำนวนประชากร ในฐานะประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 4 ของโลก ประกอบกับความต้องการใช้รถยังเติบโตตามความมั่งคั่งของคนในประเทศ ตลาดอินโดนีเซียจึงใหญ่พอจะดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกให้เข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิต จนตั้งเป้าผลิตในปีนี้ไว้ 1.6 ล้านคัน และมองไปยังปี 2025 ที่ 4.2 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ในอินโดนีเซียเชี่ยวชาญด้านการผลิตรถอเนกประสงค์ (Multi-Purpose vehicle) เป็นหลัก รถที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะเน้นขายในประเทศ ย่อมต้องเกิดข้อจำกัดหากจะมุ่งเน้นผลิตรถปิกอัพมาแข่งกับไทย ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่เกือบทุกบริษัทได้ย้ายฐานการผลิตมาแล้ว และสร้างให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตันในระดับโลกไปเรียบร้อย

ขณะที่ประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญในอาเซียน (ปี 2014 มียอดผลิตราว 6 แสนคัน) และมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นหลัก ก็ออกมาประกาศกร้าวว่าต้องเพิ่มศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน (Energy-Efficient Vehicles หรือ EEVs) โดยเตรียมลดหย่อนความเข้มงวดของกฎหมายปัจจุบันเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติมาใช้มาเลเซียเป็นฐานการผลิต และจะทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงราว 20-30% ภายในปี 2018 ซึ่งเป็นแผนนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับประเทศไทยโดยตรง แต่ไทยเน้นผลิตรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถปิกอัพ

แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของทั้ง 3 ประเทศ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ผู้ผลิตได้วางกลยุทธ์การผลิตให้เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยถูกวางให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือเป็นโรงงานต้นแบบ ดังเช่นมิตซูบิชิให้ไทยเป็นฐานผลิตปิกอัพและรถพีพีวีที่จำหน่ายในไทยและส่งออกไปทั่วโลก พร้อมทั้งเป็นโรงงานต้นแบบให้โรงงานที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่างฮอนด้า ได้ลงทุนสร้างสนามทดสอบรถยนต์ในไทยเป็นแห่งที่ 3 ของโลก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทย รวมทั้งความสำคัญในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างดี ขณะที่ยานยนต์แบบเดิมจะโยกย้ายไปผลิตในประเทศที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ส่วนเวียดนามนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอสำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ ต้องนำเข้าชิ้นส่วนกว่าร้อยละ 80 เข้ามาประกอบ ทำให้ต้นทุนการผลิตยังสูงกว่าประเทศอื่น แต่ก็ยังไม่อาจละสายตาจากประเทศนี้ได้เลย เพราะเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงเติบโตและมีพลวัตต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ “เนื้อหอม” ในหมู่นักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง

เราเชื่อว่าจะได้เห็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายแห่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตที่ภูมิภาคนี้ โดยวางกลยุทธ์การผลิตให้สอดคล้องกับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ของแต่ละประเทศนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น