xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถกซีอีโอค่ายรถญี่ปุ่น ชูหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อน ศก.เพื่ออนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.พาณิชย์นำซีอีโอค่ายรถญี่ปุ่นเยี่ยมคารวะนายกฯ แลกเปลี่ยนความเห็นการลงทุน ขอบคุณไม่เคยทิ้งประเทศไทย มีปัญหาขอให้แจ้ง ย้ำนโยบายหนุนรถยนต์ประหยัดพลังงาน ค่ายรถหนุนไทยเป็นฐานผลิตรถใหม่ รถไฟฟ้า นายกฯ ชี้ยานยนต์ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมขับเคลื่อน ศก.เพื่ออนาคต ยกข้อเสนอค่ายรถสอดคล้องแนวทางรัฐ ยินดีให้ลงทุนเพิ่ม ย้ำไทยเป็น hub มุ่งเปิดตลาดใหม่เพิ่มความสามารถส่งออก

วันนี้ (7 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ นาย Kyoichi TANADA จากบริษัท Toyota Motor, นาย Takashi KIKUCHI จาก Isuzu, Mr.Kazutaka NAMBU จาก Nissan, นาย Noriaki ABE จาก Honda เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ตามกำหนดการ “Prime Minister meet CEOs” ครั้งที่ 2 การพบหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าการลงทุน การส่งออก และการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามของรัฐบาลไทย ขอบคุณ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคยทอดทิ้งประเทศไทย โดยที่รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนในไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและขอให้ยังคงรักษาฐานการผลิตในไทยต่อไป หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ขอให้แจ้งเพื่อจะนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสม พร้อมย้ำนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานแบบ Eco Car รถยนต์ Hybrid ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ รวมถึงรถยนต์ไฮโดรเยนที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับรถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซ co2 และรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเอธานอลและไบโอดีเซล ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนความต้องการใช้พืชพลังงานชนิดอื่นๆ อาทิ ปาล์มและอ้อยในประเทศ ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง

พล.ต.วีรชนกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นกล่าวถึงการดำเนินการของบริษัทในประเทศไทย รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลนำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป

โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ Toyota, Isuzu, Nissan และ Honda ต่างกล่าวถึงแผนการและเป้าหมายในอนาคตที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยสำหรับหลายบริษัทแล้ว ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดรองจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ บริษัท TOYOTA มีแผนที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ Hybrid ซึ่งจะเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับการพัฒนายานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงในอนาคตที่จะขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าและเซลล์พลังงาน

สำหรับบริษัท ISUZU มีแผนที่จะต่อยอดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรถกระบะ Hybrid รวมทั้งจะมีการใช้ผลิตผลทางเกษตรส่วนเกินที่มีอยู่ในการผลิตน้ำมัน BIO-DIESEL

บริษัท NISSAN นับเป็นบริษัทแรกๆ ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicles - EV) และมีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อการส่งออก ในขณะที่ บริษัท HONDA ต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานในการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนารถยนต์ พร้อมแสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ได้ปรับแก้กฎหมาย ที่ช่วยให้การนำเข้าส่งออกรถต้นแบบไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาต่ำลงและมีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้ง ยังช่วยสนับสนุนไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย

พล.ต.วีรชนเปิดเผยต่อว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งข้อเสนอแนวทางการพัฒนายานยนต์ของค่ายรถยนต์ทุกค่ายสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และสามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ไทยยินดีที่จะเห็นการลงทุนเพิ่มเติมของกลุ่มยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งการเปิดโรงงาน การเปิดศูนย์ทดสอบ แต่ขอให้กลุ่มขยายการผลิตโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสูง และถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนไทยและ SMEs ไทยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ เป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ โรงงานผลิตแบตเตอรี่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเคยหารือกับนายกรัฐมนตรีอาเบะ เกี่ยวกับการที่ไทยพร้อมที่จะเปิดศูนย์ทดสอบรถยนต์ต้นแบบบางชนิดให้กับญี่ปุ่น อาทิ การรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งไม่สามารถทำการทดสอบที่ญี่ปุ่นได้

ในแง่การส่งออก ประเทศไทยพร้อมเป็น hub ในการกระจายสินค้า ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลกำลังเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรีกับตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย ตะวันออกกลาง ประเทศในแถบแอฟริกา ตลอดจน ประเทศหมู่เกาะ และกำลังพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง TPP ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตที่ใช้ไทยเพื่อเป็นฐานในการส่งออกด้วย

พล.ต.วีรชนกล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมีความกังวล อาทิ ปัญหาเรื่องการขนส่งรถจากลานจอดรถในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมไปยังท่าเรือ การเสนอให้ปรับความสูงของรถบรรทุกรถยนต์ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการซื้อรถ Pick-Up ของราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาและความกังวลเหล่านี้โดยเร็วที่สุด

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ศึกษาลู่ทางการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อใช้ประโยชน์จากการทีไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น