xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผย “ฟอร์ด” เพิ่มลงทุนผลิตรถกระบะในไทย ด้าน “เมอส์ก กรุ๊ป” ขอร่วมมือพัฒนาลอจิสติสก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฟอร์ดเพิ่มลงทุนในไทย ตั้งไลน์ผลิตรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เพิ่ม ก่อนดันส่งออกไปทั่วโลก คาดเริ่มผลิตได้ ต.ค.นี้ พร้อมสอบถามความคืบหน้าเจรจา RCEP และการเข้าร่วม TPP หวังช่วยเปิดทางส่งออกรถยนต์อีกทาง ด้านสายเดินเรือเมอส์ก กรุ๊ป ยันพร้อมร่วมมือไทยพัฒนาระบบลอจิสติกส์ หลังเห็นไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนาย Ziad S. Ojakli รองประธานอาวุโส ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และนาย Stephen E. Biegun รองประธานฝ่ายรัฐกิจระหว่างประเทศ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี สหรัฐฯ และคณะเข้าหารือ ว่า ฟอร์ดได้ยืนยันที่จะเพิ่มการลงทุนในไทยเพื่อผลิตรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ มีกำลังการผลิต 4 หมื่นคัน ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นคน และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ประมาณเดือน ต.ค. 2559

“ฟอร์ดได้ยืนยันว่ามีความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมั่นใจในนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้ให้คำมั่นกับฟอร์ดไปว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนนักลงทุนอย่างเต็มที่ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย และนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้ โดยได้มีการเชิญผู้บริหารค่ายรถยนต์ต่างๆ เข้ามาหารือโดยตรงไปแล้ว”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนในการส่งออกของไทยสูงถึง 12% ของยอดการส่งออกทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 25,608 ล้านเหรียญสหรัฐ และล่าสุดรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า

นางอภิรดีกล่าวว่า ฟอร์ดยังได้สอบถามความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพราะถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ และมีส่วนที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังตลาด RCEP ได้ ซึ่งไทยได้แจ้งว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา และคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน ฟอร์ดยังได้สอบถามความคืบหน้ากรณีที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) โดยได้แจ้งไปว่าขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการศึกษาผลดีผลเสียให้รอบด้าน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเชื่อมั่นว่าหลังจากได้ข้อสรุปแล้วรัฐบาลก็จะตัดสินใจได้

นางอภิรดีกล่าวอีกว่า ตนยังได้หารือกับนายมิเคล เหมนิธิ วินเธอร์ เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และนายนิลส์ เอส. แอนเดอร์เสน ผู้บริหารเมอส์ก กรุ๊ป (Maersk) ซึ่งเป็นสายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Maersk ได้แสดงความสนใจที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านลอจิสติกส์กับไทย เพราะเห็นศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาด CLMV และพร้อมที่จะร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้และนำเสนอแนวทางในการพัฒนาด้านลอจิสติกส์ให้กับไทย

นอกจากนี้ ทาง Maersk ยังได้แจ้งว่ามีแผนลงทุนสร้างท่าเรือใหม่ที่ไนจีเรียกับกานา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทั้งสองประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ที่เป็นตลาดใหม่ที่ไทยให้ความสนใจในการขยายตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น