ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การที่ใครคนหนึ่งคนใดในโลกจะได้รับการยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะโดยปราศจากข้อโต้แย้งย่อมเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง แต่เมื่อเอ่ยนามของบุรุษผู้หนึ่งขึ้นมาเสียงคัดค้านพลันเงียบงันลง ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎี ผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ และทฤษฎีฟิสิกส์อื่นๆอีกหลายทฤษฎี ซึ่งมีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและความเข้าใจต่อธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งในระดับจักรวาลและระดับควอนตัม
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงของไอน์สไตน์ต่อมวลมนุษยชาติคือเขาเป็นตัวแบบที่สร้างแรงบันดาลใจแก่อนุชนรุ่นหลังทั่วโลกในการเรียนรู้ การแสวงหาความรู้ และการพัฒนาปัญญา และด้วยความที่ไอน์สไตน์เป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งสามัญชนทั่วไปสามารถนำแนวทางไปเป็นต้นแบบเพื่อปฏิบัติตามได้ ทำให้อิทธิพลของเขาต่อผู้คนในโลกมีขอบเขตที่กว้างขวาง
ไม่เหมือนกับผู้เป็นศาสดาในศาสนาต่างๆ ซึ่งมีความศักดิสิทธิ์เป็นคุณสมบัติหลัก แต่กลายเป็นว่าความศักดิ์สิทธิ์นั่นเองกลับทำให้สามัญชนไม่สามารถนำศาสดาไปใช้เป็นตัวแบบสำหรับการปฏิบัติตามได้
คำถามคือไอน์สไตน์ทำอย่างไรในการศึกษาค้นคว้า จนกระทั่งค้นพบทฤษฎีสำคัญจำนวนมาก เพราะหากเข้าใจวิถีที่ไอน์สไตน์ใช้เพื่อนำไปสู่การค้นพบความจริงว่ามีอย่างไรบ้าง เราก็สามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตามได้
จากการศึกษาในสิ่งที่ผู้คนพยายามเลียนแบบและนำคำพูดของไอน์สไตน์ไปอ้าง รวมทั้งการศึกษาวิธีคิดและการทำงานของไอน์สไตน์อย่างละเอียด ศาสตราจารย์ จอห์น นอร์ตัน ซึ่งเป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กได้กล่าวว่ามี “มายาคติ” หรือ “ความเชื่อที่ผิด” สี่ประการเกี่ยวกับวิถีทางของไอน์สไตน์ที่คนจำนวนมากเชื่อตามๆกันมา นั่นคือ การคิดเสมือนเด็ก การคิดแบบนิยามเชิงปฏิบัติการ การคิดแบบทำลายระเบียบ และการคิดแบบใช้การทดลองเดียวอธิบายทุกสิ่ง
มีความเชื่อกันแพร่หลายว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของไอน์สไตน์มาจากความคิดที่บริสุทธิ์คล้ายกับความคิดเด็ก ความเชื่อนี้เกิดจากการตีความวลีที่ไอน์สไตน์เคยพูดและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อย่างตื้นเขินนั่นเอง ผู้คนจำนวนมากจึงเข้าใจว่าการใช้จินตนาการเสมือนกับเด็กคือกุญแจดอกสำคัญสำหรับการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของไอน์สไตน์ ความเชื่อเช่นนี้จึงเป็นการลดรูปความรู้และความคิดเชิงสร้างสรรค์ของไอน์สไตน์ลงไปนั่นเอง
ในอีกด้านหนึ่งมีความเชื่อซึ่งดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากความเชื่อแรกค่อนข้างมาก นั่นคือความเชื่อที่ว่าไอน์สไตน์ใช้ความคิดแบบ “นิยามเชิงปฏิบัติการ” ซึ่งหมายถึงการนิยามหรือให้ความหมายแนวความคิดที่เป็นนามธรรมไปเป็นการสร้างมาตรวัดที่เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน วิธีการแบบนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ที่มีกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมใช้กัน หากไอน์สไตน์ใช้ความคิดในลักษณะนี้จริง เขาก็อาจจะไม่สามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆได้เลย เพราะความคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่ใช้ในการทดสอบและพิสูจน์ทฤษฎีเดิมเท่านั้น
อีกเรื่องหนึ่งที่นำมาตีความจนกลายความเชื่อที่ผิดพลาดเกี่ยวกับวิธีคิดของไอน์สไตน์ นั่นคือนำเรื่องที่ไอน์สไตน์เขียนขณะอายุยังน้อยว่า “การเชื่อฟังอำนาจอย่างตาบอดคือศัตรูที่ยิ่งใหญ่ต่อสัจจธรรม” มาเป็นข้อสรุปว่าความสำเร็จของไอน์สไตน์มาจากวิธีคิดที่แหกกฎแหกระเบียบเดิม
และเรื่องสุดท้ายคือ การเชื่อว่าไอน์สไตน์ใช้การทดลองเพียงครั้งเดียว แล้วสามารถอธิบายและตีความสิ่งๆต่างได้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด จึงทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ๆ สิ่งใหม่ขึ้นมา โดยมิได้ศึกษาการทำงานอย่างละเอียดว่ากว่าจะค้นพบสิ่งใหม่ได้ ต้องใช้ความพยายามและการทดลองนับครั้งไม่ถ้วน
ศาสตราจารย์ จอห์น นอร์ตันซึ่งศึกษาประวัติการทำงานและวิธีคิดของไอน์สไตน์อย่างละเอียดได้สรุป “วิถีไอน์สไตน์” ซึ่งทำให้ไอน์สไตน์กลายเป็นผู้ที่สามารถค้นพบความจริงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาจนกลายเป็นรากฐานสำหรับมนุษยชาติในยุคปัจจุบันและอนาคตไว้ ๕ ประการดังนี้
ประการแรก การมีความคิดที่ชาญฉลาดและสร้างสรรค์ สิ่งนี้เป็นรากฐานสำหรับบุคคลที่ยิ่งใหญ่เกือบทุกคน ความคิดที่ชาญฉลาดเกิดจากการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน แต่ความชาญฉลาดอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ได้ จะต้องมีองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเป็นรากฐานด้วย ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ทั้งคู่และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
“การมีความรู้ โดยปราศจากความคิดสร้างสรรค์ เป็นได้เพียงนักจดนักจำทำในสิ่งเดิมเท่านั้น” ส่วน “การมีความคิดสร้างสรรค์ โดยปราศความรู้ก็จะเป็นเพียงนักเพ้อฝันเท่านั้นเอง”
ประการที่สอง การเป็นผู้รอบรู้วิทยาศาสตร์ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สนใจ ซึ่งไอน์สไตน์ทำได้ดีกว่านักวิทยาศาสตร์ก่อนหน้าเขา เพราะว่าเขาดูดซับความรู้ทุกอย่างที่มีมาก่อนและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เขาไม่ต้องใช้เวลามากในการปีนป่ายไปสู่จุดสูงสุดดังที่ผู้มาก่อนทำ แต่เขาอาศัยความรู้จากนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนเป็นฐาน และก้าวไปสู่จุดที่สูงกว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนๆทำเอาไว้มาก
ประการที่สาม ทำงานหนักและอดทนต่อความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า หลายครั้งที่ไอน์สไตน์พบกับทางตันและความผิดหวัง แต่เขาก็ยังคงยืนหยัดทำงานต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่งเริ่มเห็นหนทางและเกิดความคิดที่นำไปสู่ความสำเร็จขึ้นมา
ประการที่สี่ มีความยินดีและความเข้าใจสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายามที่ได้ทำลงไป และตระหนักว่าความสำเร็จคงจะมาถึงในวันใดวันหนึ่ง แม้จะไม่มีหลักประกันก็ตาม
ประการที่ห้า มีความชาญฉลาดในการนำเสนอความคิดที่ซับซ้อนในรูปแบบที่เรียบง่าย ซึ่งจะทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น
การเผยแพร่วิถีทั้งห้าประการแก่เยาวชนและผู้คนในสังคมเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้คนได้ใช้เป็นแนวทางสำหรับการแสวงหาความรู้ การพัฒนาภูมิปัญญาและอารมณ์ ตลอดจนความอดทนอดกลั้นอย่างมีความหวังต่อการทำงานที่ยากลำบากและยาวนานกว่าจะประสบความสำเร็จ