ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับบุคคลสำคัญของโลก 2 ท่านในภาพนี้เป็นอย่างดี คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์คนเด่นคนดัง และชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกระดับโลก ผมได้รับภาพทางซ้ายมือจากเฟซบุ๊กของ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ขอขอบคุณไว้ในที่นี้ ส่วนภาพทางขวามือผมได้มาจากการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต
เท่าที่ผมได้ตรวจดูพบว่า บุคคลที่ยิ่งใหญ่สองท่านนี้ได้พบปะกันจริง ดังภาพทางขวามือ พร้อมกับคำพูดที่ทำให้ผมต้องขำทุกครั้งที่อ่าน ขำเสียจนไม่สามารถนำไปเล่าต่อให้ใครฟังได้ อย่างไรก็ตาม การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะขำหรือไม่ขำ มันขึ้นกับภูมิหลังของแต่ละคนด้วย ผมเองเคยนำเรื่องทางคณิตศาสตร์ที่ผมขำมากๆ และสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ไปเล่า แต่คนฟังเขาไม่รู้สึกขำกับผมด้วยเลย คงไม่ใช่เพราะว่าผมเล่าไม่เก่งอย่างเดียว แต่มันต้องมีพื้นฐานเฉพาะอย่างของคนในวงการอาชีพต่างๆ ด้วย ซึ่งเขาเรียกว่า Professional Joke จะขำกันเฉพาะในวงการอาชีพของตนเท่านั้น อาชีพใครอาชีพมัน คนต่างอาชีพไม่รู้เรื่องจึงไม่ขำด้วย
ถ้าเราจะขำในคำพูดที่อยู่ในรูปข้างต้นนี้ได้ เราจำเป็นต้องรู้ภูมิหลังของคนทั้งสองก่อน ชาร์ลี แชปลิน เป็นราชาของผู้แสดงตลกที่ใช้ท่าทางมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เป็นผู้สร้างหนังใบ้ เขียนบท กำกับและแสดงเองหลายชุดมาก ผมได้ตัดภาพบางส่วนมาให้ดูด้วยครับ ส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาสังคม การขูดรีดแรงงานของทุนอุตสาหกรรมในขณะนั้น ในเทศกาลสงกรานต์นี้ หากใครพอมีเวลาว่างก็เชิญเข้าไปดูในยูทูบได้ครับ รับรองว่าต้องขำแน่ๆ
สำหรับไอน์สไตน์นั้นมีผลงานทางวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่เข้าใจได้ยาก แม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ด้วยกันก็ยังอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่นอกจากผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขาแล้ว เขายังมีผลงานทางสังคมศาสตร์ ทางการศึกษาที่น่าสนใจอีกมาก เช่น “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” “สูตรดอกเบี้ยทบต้นคือสิ่งประดิษฐ์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างโลกมากที่สุด” “สิ่งที่มีขนาดใหญ่เข้าใกล้อนันต์ (Infinity) นั้น ในความเป็นจริงมี 2 อย่างเท่านั้น คือขอบเขตของจักรวาลและความโง่ของมนุษย์ แต่อย่างแรกนั้นผมไม่แน่ใจนะ” เป็นต้น
คงด้วยคำพูดธรรมดาๆ แต่คมคายและหักมุมของเขากระมัง จึงทำให้คนทั่วโลกรู้จักและรู้สึกทึ่งรวมทั้งศรัทธาในตัวเขาเป็นอย่างมาก ผมได้นำผลงานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนของไอน์สไตน์มาลงให้ดูด้วยครับ ซึ่งผลงานที่ทำให้ท่านได้รับรางวัลโนเบลนั้นคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกัน และมักจะเข้าใจผิดว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) คือผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล
เป็นอย่างไรครับ อ่านมาถึงตอนนี้แล้วเรารู้สึกชื่นชมในผลงานและเริ่มสัมผัสกับ “ความไม่รู้เรื่อง” ในผลงานของเขาบ้างแล้วหรือยังครับ ถ้าอย่างนั้น กรุณากลับไปอ่านคำพูดของทั้งสองท่านในรูปแรกอีกครั้งครับ ใครจะขำหรือไม่ขำก็ถือเป็นความสามารถส่วนบุคคล อย่ามากล่าวโทษผมก็แล้วกันนะครับ
ปัจจุบัน เรื่องการสื่อสารมีความสำคัญมาก ไม่เฉพาะแต่ในวงการสื่อมวลชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้ง การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั่วโลกเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีความยากลำบากแล้ว แต่ก็ยังยากน้อยกว่าการสื่อสารเรื่องราวในวงการวิทยาศาสตร์หลายเท่านัก
นี่คือบทสรุปของชาร์ลี แชปลินต่อผลงานของไอน์สไตน์ที่ว่า “คนทั้งโลกชื่นชมคุณได้โดยไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูด” ผมเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะว่า คนทั้งโลกรู้สึกศรัทธาในความสามารถ ความดี และมุมมองเพื่อสาธารณะของไอน์สไตน์มาก่อนแล้ว แม้จะไม่เข้าใจในปัญญาของเขาก็ตาม
สมเด็จพระมหาโฆษนันทะ สมเด็จพระสังฆราชจากประเทศกัมพูชาที่เคยมาร่วมเดินธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา (2535) เคยกล่าวไว้ว่า “การเดินธรรมยาตราครานี้ให้มีการสมดุล ให้มีศรัทธาสมดุลกับปัญญา แล้วก็ให้มีปัญญาสมดุลกับศรัทธา เหมือนนกที่บิน ต้องมีปีกสองปีกจึงจะบินได้” (ที่มา 8 ขวบธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา- ประสาท มีแต้ม 2549)
ในกรณีผลงานของไอน์สไตน์ แม้ปีกทางด้านปัญญาของชาวโลกเราจะยังน้อยไปสักหน่อยก็เป็นความจริงที่ต้องใช้เวลาเพราะมันยากจริงๆ ครับ มันยากกว่าการแสดงท่าทางของร่างกายโดยไม่ต้องพูดจาเพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกอย่างที่ชาร์ลี แชปลินทำได้อย่างยอดเยี่ยม
เมื่อพูดถึง “ปัญญา” แล้วก็ทำให้นึกถึง “วาทกรรม (Discourse)” ซึ่งมักจะเป็น “ความคิด” ไม่จำเป็นต้องว่าเป็นความจริงหรือไม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลวงให้คนหลงเพื่อความสำเร็จในบางอย่างของกลุ่มบุคคล เช่น “ถ่านหินสะอาด” ว่ากันว่ากลุ่มพ่อค้าถ่านหินระดับโลกได้ทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อว่าจ้างให้คนกลุ่มหนึ่งคิดวาทกรรมดังกล่าวแล้วกระจายออกไปทั่วโลก แล้วมันก็แพร่ไปได้จริงรวมทั้งในบ้านเราด้วย แล้วคนก็เข้าใจเอาเองอย่างผิดๆ ว่ามันสะอาดจริง เพราะฝุ่นละอองที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ลดน้อยลง แต่มลภาวะที่มีขนาดเล็กกว่าก็ยังอยู่เท่าเดิม รวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของโลกร้อนก็ยังมีเท่าเดิม
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกมาแก้วาทกรรมถ่านหินสะอาดด้วย “ถ่านหินสะอาดก็เท่ากับบุหรี่เพื่อสุขภาพ” ซึ่งไม่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ค่อยจะแพร่หลายนักเพราะไม่มีทุนพอที่จะกระจายได้
กลับมาที่ความพยายามในการสื่อสารเพื่ออธิบายผลงานของนักวิทยาศาสตร์ให้สังคมเข้าใจ ผมว่าคนหนึ่งที่อธิบายได้ดีมากๆ คือ สตีฟ จอบส์ บุคคลอัจฉริยะผู้ล่วงลับแห่งค่ายคอมพิวเตอร์ยี่ห้อแอปเปิล
เมื่อปี 2526 ขณะที่เขามีอายุเพียง 28 ปี ในวันนั้นชาวโลกเพิ่งมีคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ใช้ได้ 36 ปี คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและไม่เคยเห็นคอมพิวเตอร์ สตีฟ จอบส์ ได้ตั้งคำถามในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า “คอมพิวเตอร์คืออะไร” แล้วเขาก็ตอบเองว่า “คอมพิวเตอร์ก็คือเครื่องมือง่ายๆ อย่างหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือชนิดใหม่ ที่เกียร์และลูกสูบได้ถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอน ซึ่งจะมีอิเล็กตรอนนับล้านๆ ตัวเคลื่อนที่ไปมา โดยที่มันสามารถทำงานได้รวดเร็วมาก”
ผมชอบคำอธิบายเรื่องนี้มาก ก็เพราะว่าเขาสามารถอธิบายอยู่บนฐานของความรู้เดิมที่คนคุ้นเคย แล้วจึงตามด้วยสิ่งใหม่ที่แตกต่างออกไป “เป็นเครื่องจักรที่ไม่มีเกียร์และไม่มีลูกสูบแต่ใช้อิเล็กตรอนแทน”
นอกจากความสามารถในการสื่อสารของ สตีฟ จอบส์ แล้ว นักวิเคราะห์ที่ได้ฟังคำบรรยายในวันนั้นหลายคนกล่าวตรงกันว่า สิ่งที่เขาได้พยายามอธิบายในวันนั้นก็คือ iPad ซึ่งได้ออกสู่ตลาดให้คนทั้งโลกได้ใช้ในอีก 15 ปีต่อมา นั่นคือเขาสามารถคิดล่วงหน้าได้หลายปี และทำได้จริง อัจฉริยะเหลือเกินจริงๆ
อีกคนหนึ่งที่สามารถอธิบายเรื่องยากๆให้เข้าใจง่ายได้ดีก็คือ AL Gore ผู้เขียนหนังสือ โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง (AN INCONVENIENT TRUTH) อันโด่งเมื่อปี 2549 ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับ IPCC ในปี 2550
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 AL Gore ได้บรรยายในรายการ TED Talks หลังจากเขาพูดจบ (โดยใช้เวลา 21 นาที) พิธีกรได้ตั้งคำถามว่า “คุณได้ผสมผสานทักษะได้อย่างเหลือเชื่อ คุณได้ใช้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วน แล้วสามารถเปลี่ยนมาเป็นภาษาที่มีชีวิตชีวาอย่างที่สุด ไม่มีใครทำได้อย่างคุณ ทำไมคุณจึงทำได้อย่างน่าทึ่งเช่นนี้”
AL Gore ตอบว่า “คุณสุภาพมากที่กล่าวเช่นนี้ แต่จริงๆ แล้ว ผมมีเพื่อนดีๆ จำนวนมากในชุมชนของนักวิทยาศาสตร์ คนเหล่านี้มีความอดทนอย่างเหลือเชื่อเพื่อที่จะนั่งลงแล้วอธิบายให้ผมฟัง ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งผมสามารถรับและเข้าใจมันด้วยภาษาที่ง่ายพอ และนี่คือกุญแจสำคัญในความพยายามที่จะสื่อสาร”
สุดท้ายนี้ ผมขอนำสไลด์ของ AL Gore มาลงไว้ในที่นี้ แผ่นแรกเป็นการเปรียบเทียบปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้นสะสมไว้ในโลกนี้ คือในแต่ละวันพลังงานความร้อนได้เพิ่มขึ้นเท่ากับ 4 แสนเท่าของปริมาณความร้อนที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ลงเมืองฮิโรชิมา
อีกสไลด์หนึ่งแสดงถึงเมืองที่มีประชากรมากที่สุดจำนวน 10 เมืองในโลก ที่จะต้องได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 0.5 เมตรในปี 2070 หรืออีก 50 กว่าปีเท่านั้น ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับที่ 7 ที่จะต้องอพยพประชากรถึง 5.1 ล้านคน สำหรับภาพทางขวามือเป็นภาพที่ผมค้นมาประกอบ พื้นที่สีแดงคือบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร ถ้าคิดเป็นมูลค่าที่เสียหายก็ประมาณ 1.1 ล้านล้านเหรียญ
ดังนั้น โปรดอย่าคิดว่า เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยเรา แท้ที่จริงแล้วขณะนี้คนไทยเรากำลังเผชิญกับอุณหภูมิและภัยแล้งอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ดังนั้น ในปี 2070 สถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มขึ้นขนาดไหน คนไทยที่มีอายุไม่เกิน 30 ปีในวันนี้ คงมีโอกาสได้สัมผัสอย่างแน่นอน หากชาวโลกไม่ร่วมกันแก้ไขกันอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้
การนำเรื่องใกล้ตัวมาพูดอย่างถูกกลุ่มผู้ฟัง ถูกเวลา ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคการสื่อสารด้วยนะครับ