xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการสื่อสารของนักวิทยาศาสตร์ : ยากก็จริง แต่ฝึกกันได้ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับบุคคลสำคัญของโลก 2 ท่าน ในภาพนี้เป็นอย่างดี คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์คนเด่นคนดัง และชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกระดับโลก ผมได้รับภาพทางซ้ายมือจากเฟซบุ๊กของ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ขอขอบคุณไว้ในที่นี้ ส่วนภาพทางขวามือผมได้มาจากการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต

เท่าที่ผมได้ตรวจดูพบว่า บุคคลที่ยิ่งใหญ่ 2 ท่านนี้ได้พบปะกันจริง ดังภาพทางขวามือ พร้อมกับคำพูดที่ทำให้ผมต้องขำทุกครั้งที่อ่าน ขำเสียจนไม่สามารถนำไปเล่าต่อให้ใครฟังได้ อย่างไรก็ตาม การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะขำหรือไม่ขำ มันขึ้นกับภูมิหลังของแต่ละคนด้วย ผมเองเคยนำเรื่องทางคณิตศาสตร์ที่ผมขำมากๆ และสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ไปเล่า แต่คนฟังเขาไม่รู้สึกขำกับผมด้วยเลย คงไม่ใช่ เพราะว่าผมเล่าไม่เก่งอย่างเดียว แต่มันต้องมีพื้นฐานเฉพาะอย่างของคนในวงการอาชีพต่างๆ ด้วย ซึ่งเขาเรียกว่า Professional Joke จะขำกันเฉพาะในวงการอาชีพของตนเท่านั้น อาชีพใครอาชีพมัน คนต่างอาชีพไม่รู้เรื่องจึงไม่ขำด้วย

ถ้าเราจะขำในคำพูดที่อยู่ในรูปข้างต้นนี้ได้ เราจำเป็นต้องรู้ภูมิหลังของคนทั้งสองก่อน ชาร์ลี แชปลิน เป็นราชาของผู้แสดงตลกที่ใช้ท่าทางมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เป็นผู้สร้างหนังใบ้ เขียนบท กำกับ และแสดงเองหลายชุดมาก ผมได้ตัดภาพบางส่วนมาให้ดูด้วยครับ ส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาสังคม การขูดรีดแรงงานของทุนอุตสาหกรรมในขณะนั้น ในเทศกาลสงกรานต์นี้ หากใครพอมีเวลาว่างก็เชิญเข้าไปดูในยูทิวบ์ได้ครับ รับรองว่าต้องขำแน่ ๆ 
 

 
สำหรับไอน์สไตน์นั้น มีผลงานทางวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่เข้าใจได้ยาก แม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ด้วยกันก็ยังอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่นอกจากผลงานทางวิทยาศาสตร์ของเขาแล้ว เขายังมีผลงานทางสังคมศาสตร์ ทางการศึกษาที่น่าสนใจอีกมาก เช่น “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” “สูตรดอกเบี้ยทบต้นคือ สิ่งประดิษฐ์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างโลกมากที่สุด” “สิ่งที่มีขนาดใหญ่เข้าใกล้อนันต์ (Infinity) นั้น ในความเป็นจริงมี 2 อย่างเท่านั้น คือ ขอบเขตของจักรวาล และความโง่ของมนุษย์ แต่อย่างแรกนั้นผมไม่แน่ใจนะ” เป็นต้น

คงด้วยคำพูดธรรมดาๆ แต่คมคาย และหักมุมของเขากระมัง จึงทำให้คนทั่วโลกรู้จัก และรู้สึกทึ่งรวมทั้งศรัทธาในตัวเขาเป็นอย่างมาก ผมได้นำผลงานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนของไอน์สไตน์มาลงให้ดูด้วยครับ ซึ่งผลงานที่ทำให้ท่านได้รับรางวัลโนเบลนั้นคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกัน และมักจะเข้าใจผิดว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) คือ ผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล
 

 
เป็นอย่างไรครับ อ่านมาถึงตอนนี้แล้วเรารู้สึกชื่นชมในผลงาน และเริ่มสัมผัสกับ “ความไม่รู้เรื่อง” ในผลงานของเขาบ้างแล้วหรือยังครับ ถ้าอย่างนั้น กรุณากลับไปอ่านคำพูดของทั้ง 2 ท่านในรูปแรกอีกครั้งครับ ใครจะขำหรือไม่ขำก็ถือเป็นความสามารถส่วนบุคคล อย่ามากล่าวโทษผมก็แล้วกันนะครับ

ปัจจุบัน เรื่องการสื่อสารมีความสำคัญมาก ไม่เฉพาะแต่ในวงการสื่อมวลชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั่วโลกเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่มีความยากลำบากแล้ว แต่ก็ยังยากน้อยกว่าการสื่อสารเรื่องราวในวงการวิทยาศาสตร์หลายเท่านัก

นี่คือ บทสรุปของ ชาร์ลี แชปลิน ต่อผลงานของไอน์สไตน์ที่ว่า “คนทั้งโลกชื่นชมคุณได้โดยไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูด” ผมเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะว่า คนทั้งโลกรู้สึกศรัทธาในความสามารถ ความดี และมุมมองเพื่อสาธารณะของไอน์สไตน์มาก่อนแล้ว แม้จะไม่เข้าใจในปัญญาของเขาก็ตาม

สมเด็จพระมหาโฆษนันทะ สมเด็จพระสังฆราช จากประเทศกัมพูชา ที่เคยมาร่วมเดินธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา (2535) เคยกล่าวไว้ว่า“การเดินธรรมยาตราครานี้ให้มีการสมดุล ให้มีศรัทธาสมดุลกับปัญญา แล้วก็ให้มีปัญญาสมดุลกับศรัทธา เหมือนนกที่บิน ต้องมีปีกสองปีกจึงจะบินได้” (ที่มา 8 ขวบธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา - ประสาท มีแต้ม 2549)

ในกรณีผลงานของไอน์สไตน์ แม้ปีกทางด้านปัญญาของชาวโลกเราจะยังน้อยไปสักหน่อยก็เป็นความจริงที่ต้องใช้เวลาเพราะมันยากจริงๆ ครับ มันยากกว่าการแสดงท่าทางของร่างกายโดยไม่ต้องพูดจาเพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกอย่างที่ ชาร์ลี แชปลิน ทำได้อย่างยอดเยี่ยม

เมื่อพูดถึง “ปัญญา” แล้วก็ทำให้นึกถึง “วาทกรรม (Discourse)” ซึ่งมักจะเป็น “ความคิด” ไม่จำเป็นต้องว่าเป็นความจริงหรือไม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลวงให้คนหลงเพื่อความสำเร็จในบางอย่างของกลุ่มบุคคล เช่น “ถ่านหินสะอาด” ว่ากันว่า กลุ่มพ่อค้าถ่านหินระดับโลกได้ทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อว่าจ้างให้คนกลุ่มหนึ่งคิดวาทกรรมดังกล่าวแล้วกระจายออกไปทั่วโลก แล้วมันก็แพร่ไปได้จริง รวมทั้งในบ้านเราด้วย แล้วคนก็เข้าใจเอาเองอย่างผิดๆ ว่ามันสะอาดจริง เพราะฝุ่นละอองที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ลดน้อยลง แต่มลพิษที่มีขนาดเล็กกว่าก็ยังอยู่เท่าเดิม รวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของโลกร้อนก็ยังมีเท่าเดิม

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกมาแก้วาทกรรมถ่านหินสะอาดด้วย “ถ่านหินสะอาดก็เท่ากับบุหรี่เพื่อสุขภาพ” ซึ่งไม่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ค่อยจะแพร่หลายนักเพราะไม่มีทุนพอที่จะกระจายได้

กลับมาที่ความพยายามในการสื่อสารเพื่ออธิบายผลงานของนักวิทยาศาสตร์ให้สังคมเข้าใจ ผมว่าคนหนึ่งที่อธิบายได้ดีมากๆ คือ สตีฟ จอบส์ บุคคลอัจฉริยะผู้ล่วงลับแห่งค่ายคอมพิวเตอร์ยี่ห้อแอปเปิล

เมื่อปี 2526 ขณะที่เขามีอายุเพียง 28 ปี ในวันนั้นชาวโลกเพิ่งมีคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ใช้ได้ 36 ปี คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก และไม่เคยเห็นคอมพิวเตอร์ สตีฟ จอบส์ ได้ตั้งคำถามในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า “คอมพิวเตอร์คืออะไร” แล้วเขาก็ตอบเองว่า “คอมพิวเตอร์ก็คือเครื่องมือง่ายๆ อย่างหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือชนิดใหม่ ที่เกียร์และลูกสูบได้ถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอน ซึ่งจะมีอิเล็กตรอนนับล้านๆ ตัวเคลื่อนที่ไปมา โดยที่มันสามารถทำงานได้รวดเร็วมาก” 

ผมชอบคำอธิบายเรื่องนี้มาก ก็เพราะว่าเขาสามารถอธิบายอยู่บนฐานของความรู้เดิมที่คนคุ้นเคย แล้วจึงตามด้วยสิ่งใหม่ที่แตกต่างออกไป “เป็นเครื่องจักรที่ไม่มีเกียร์ และไม่มีลูกสูบแต่ใช้อิเล็กตรอนแทน”

นอกจากความสามารถในการสื่อสารของ สตีฟ จ๊อบส์ แล้ว นักวิเคราะห์ที่ได้ฟังคำบรรยายในวันนั้นหลายคนกล่าวตรงกันว่า สิ่งที่เขาได้พยายามอธิบายในวันนั้นก็คือ iPad ซึ่งได้ออกสู่ตลาดให้คนทั้งโลกได้ใช้ในอีก 15 ปีต่อมา นั่นคือ เขาสามารถคิดล่วงหน้าได้หลายปี และทำได้จริง อัจฉริยะเหลือเกินจริงๆ

อีกคนหนึ่งที่สามารถอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายได้ดี ก็คือ AL Gore ผู้เขียนหนังสือ โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง (AN INCONVENIENT TRUTH) อันโด่งเมื่อปี 2549 ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับ IPCC ในปี 2550

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 AL Gore ได้บรรยายในรายการ TED Talks หลังจากเขาพูดจบ (โดยใช้เวลา 21 นาที) พิธีกรได้ตั้งคำถามว่า “คุณได้ผสมผสานทักษะได้อย่างเหลือเชื่อ คุณได้ใช้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์อย่างครบถ้วน แล้วสามารถเปลี่ยนมาเป็นภาษาที่มีชีวิตชีวาอย่างที่สุด ไม่มีใครทำได้อย่างคุณ ทำไมคุณจึงทำได้อย่างน่าทึ่งเช่นนี้” 

AL Gore ตอบว่า “คุณสุภาพมากที่กล่าวเช่นนี้ แต่จริงๆ แล้ว ผมมีเพื่อนดีๆ จำนวนมากในชุมชนของนักวิทยาศาสตร์ คนเหล่านี้มีความอดทนอย่างเหลือเชื่อเพื่อที่จะนั่งลงแล้วอธิบายให้ผมฟังครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งผมสามารถรับ และเข้าใจมันด้วยภาษาที่ง่ายพอ และนี่คือกุญแจสำคัญในความพยายามที่จะสื่อสาร” 

สุดท้ายนี้ ผมขอนำสไลด์ของ AL Gore มาลงไว้ในที่นี้ แผ่นแรกเป็นการเปรียบเทียบปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้นสะสมไว้ในโลกนี้ คือ ในแต่ละวันพลังงานความร้อนได้เพิ่มขึ้นเท่ากับ 4 แสนเท่าของปริมาณความร้อนที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ลงเมืองฮิโรชิมา 
 

 
อีกสไลด์หนึ่งแสดงถึงเมืองที่มีประชากรมากที่สุด จำนวน 10 เมืองในโลก ที่จะต้องได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 0.5 เมตร ในปี 2070 หรืออีก 50 กว่าปีเท่านั้น ปรากฏว่า กรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับที่ 7 ที่จะต้องอพยพประชากรถึง 5.1 ล้านคน สำหรับภาพทางขวามือเป็นภาพที่ผมค้นมาประกอบ พื้นที่สีแดงคือ บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร ถ้าคิดเป็นมูลค่าที่เสียหายก็ประมาณ 1.1 ล้านล้านเหรียญ
 

 
ดังนั้น โปรดอย่าคิดว่า เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยเรา แท้ที่จริงแล้วขณะนี้คนไทยเรากำลังเผชิญต่ออุณหภูมิ และภัยแล้งอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ดังนั้น ในปี 2070 สถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มขึ้นขนาดไหน คนไทยที่มีอายุไม่เกิน 30 ปีในวันนี้ คงมีโอกาสได้สัมผัสอย่างแน่นอน หากชาวโลกไม่ร่วมกันแก้ไขกันอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้

การนำเรื่องใกล้ตัวมาพูดอย่างถูกกลุ่มผู้ฟัง ถูกเวลา ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคการสื่อสารด้วยนะครับ 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น