xs
xsm
sm
md
lg

นายกรัฐมนตรีไทยในเวทีโลกร้อน (ปารีส) : นี่หรือการลดก๊าซเรือนกระจก-เศรษฐกิจพอเพียง!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อปลายปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยได้กล่าวแถลงต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ

(1) ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 ถึง 25% ภายในปี ค.ศ.2030 โดยการใช้พลังงานฟอสซิลให้น้อยลงและใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

(2) จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ

(3) เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทย ในการร่วมผลักดันให้เจรจาการตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศฉบับใหม่ให้สัมฤทธิผล ให้ทุกๆประเทศคำนึงถึงเรื่องโลกร้อนเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้มีการลดก๊าซเรือนกระจก และให้มีการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

บทความนี้จะขอตรวจสอบใน 2 ประการแรก สำหรับประการที่สาม ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะวินิจฉัยได้เองว่า ในความจริงแล้วผู้แทนรัฐบาลไทยจะผลักดันเรื่องสำคัญระดับโลกนี้ไปในทิศทางใด

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยและของชาวโลกทั้งมวล

ความจริงแล้วก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีหลายตัว แต่ตัวที่สำคัญและมีส่วนร่วมก่อปัญหามากที่สุดถึง 72% ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้แก่ ถ่านหิน/ลิกไนต์ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ในที่นี้เราจึงสนใจเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียว

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า ในปี 2558 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 254 ล้านตัน (เฉลี่ย 3.75 ตันต่อคนต่อปี) โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.6 เมื่อแบ่งออกเป็น 4 ภาคเศรษฐกิจ พบว่า ภาคการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงที่สุดคือ 38.4รองลงมาคือ ภาคการขนส่งร้อยละ 28.2 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 26.8 ที่เหลือเป็นอื่นๆ ร้อยละ 7.6

ในช่วงเวลา 3 เดือนแรกของปี 2559 หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดง “เจตจำนงอันแน่วแน่ของประเทศไทย” ในเวทีโลกแล้ว การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 ประเทศไทยเราไม่เพียงไม่ได้ลดลงแล้ว แต่กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ถ้าคิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกเท่ากับ 2.1 ล้านตัน ตารางข้างล่างนี้แสดงปริมาณก๊าซในช่วงปี 2530 ถึง 2559

ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ในช่วงปี 2533 ถึง 2538 อัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นเลขสองหลักติดต่อกันหลายปี จนกระทั่งมาเป็นฟองสบู่แตกในปี 2540 อย่างไรก็ตาม ปริมาณการปล่อยก๊าซเฉลี่ยต่อคนต่อปีก็ไม่ได้ลดลงเลย โดยค่าเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 เท่ากับ 3.86 ตันต่อคน

เพื่อให้เห็นสถานะของประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซของชาวโลกและของบางประเทศ ข้อมูลในกราฟข้างล่างนี้มาจาก Trends in global CO2 emissions : 2015 Report, PBL Netherlands Environmental Assessment Agency

ในปี 2557 ทั่วทั้งโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกัน 35,700 ล้านตัน เฉลี่ยคนละ 4.89 ตันต่อคน ซึ่งมากกว่าของประเทศไทยประมาณหนึ่งตัน โดยที่ 70% ของปริมาณที่ปล่อยทั้งโลกมาจาก 6 กลุ่มประเทศ คือ ประเทศจีน 30% สหรัฐอเมริกา 15% สหภาพยุโรป 28 ประเทศ 9.6% อินเดีย 6.6% รัสเซีย 5.0% และญี่ปุ่น 3.6% (ประเทศไทย ประมาณ 0.8%)

สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซต่อคนต่อปีในปี 2557 ดูได้จากกราฟข้างล่าง พบว่าสหรัฐอเมริกาปล่อยมากที่สุดคือ 16.5 ตันต่อคน เท่ากับ 4.4 เท่าของค่าเฉลี่ยชาวโลก

ที่น่าสนใจมากก็คือ ปริมาณก๊าซที่ปล่อยได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่ในช่วงปี 2555 ถึง 2556 ยังคงมีอัตราการเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าในช่วงของปีก่อน

ปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา ส่วนหนึ่งลงไปอยู่ในมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก อีกส่วนหนึ่งได้ลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศปีแล้วปีเล่า ได้ทำให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ ในเดือนเมษายน 2559 ถึงระดับ 407.57 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าไม่ควรจะเกิน 350 พีพีเอ็ม)

ก๊าซดังกล่าวได้ทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ส่งผลให้อุณหภูมิของอากาศสูงขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ สำหรับผลเสียหายจากโลกร้อนดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บรรยายไว้ดีแล้วในคำแถลงคือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภัยแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ฯลฯ ซึ่งในประการหลังนี้ประเทศไทยเราได้รับผลกระทบอย่างมาก เจ้าของสวนรายหนึ่งที่ผมรู้จักเล่าให้ฟังด้วยเสียงที่สั่นเครือว่า “สวนมะม่วงที่ให้ผลแล้ว 1,200 ต้นที่ราชบุรียืนต้นตายทั้งหมด”

เพื่อเป็นการชดเชยความสูญเสียดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอแนะต่อเวทีโลกว่า “เราควรพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศกำลังพัฒนา และในขณะเดียวกันก็ควรทำให้ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด”

ข้อเสนอเศรษฐกิจพอเพียงกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน


ผมได้เรียนมาแล้วว่า ภาคการผลิตไฟฟ้ามีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดคือ 38.4% และในบรรดาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถ่านหินนี่แหละที่ปล่อยก๊าซมากที่สุด ถ้าคิดเป็นหน่วยไฟฟ้าที่เท่ากันถ่านหินปล่อยเกือบ 2 เท่าของก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวล นักวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่ได้ปล่อยเลย เพราะในวงจรชีวิตของต้นไม้ พวกเขาได้ช่วยดูดซับก๊าซในกระบวนการสังเคราะห์แสงมาตลอด

ขณะนี้ กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการเพื่อที่จะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่ (ขณะนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาศึกษาข้อคัดค้านของเครือข่ายปกป้องอันดามัน) ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะเปิดใช้งานในปี 2562 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ เปิดใช้ในปี 2564 และอีก 1,200 เมกะวัตต์ในปี 2567

ปัญหาของถ่านหิน นอกจากจะปล่อยก๊าซมากที่สุดและทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวโลกและชุมชนท้องถิ่นรับไม่ได้แล้ว ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ประเทศไทยเราไม่ได้มีถ่านหินเป็นของตัวเองเลย แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเฉพาะที่กระบี่อย่างเดียวก็วันละ 1 หมื่นตัน

ถ้าท่านนายกฯ ทำตามคำพูดที่ได้แถลงไว้ คือต้องลดการปล่อยก๊าซลง 20% หรือ 51 ล้านตันในปี 2030 หรือปีละ 3.4 ล้านตัน แต่ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น แทนที่จะลด กลับจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10 ล้านตันตลอดไป

นี่หรือครับ ความจริงใจของท่าน นี่หรือครับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านยึดเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนมันยั่งยืนตรงไหนครับ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นวางอยู่บนหลักการ 3 ประการ คือ (1) พอประมาณ (2) มีเหตุผล และ (3) มีความคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่สมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

แต่เหตุผลที่ส่วนราชการนำมาอ้างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่เป็นความจริง และในที่สุดก็จะนำไปสู่ความไม่สมดุลทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมาแล้ว

เหตุผลที่ทางราชการนำมาอ้างและโฆษณาจนคนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกเคลิ้มตามไปด้วยก็คือ “ประเทศไทยไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงของตนเองมากพอ ต้องใช้ถ่านหินมาผลิตเพื่อเป็น “ไฟฟ้าฐาน” คือผลิตได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งปี พลังงานที่ประเทศไทยมี คือชีวมวล แสงแดด สายลม มีไม่มากพอ ราคาก็แพงเป็นอาหารหลักไม่ได้ เป็นได้แค่อาหารเสริมเท่านั้น”

แต่จากงานวิจัยของกระทรวงพลังงานเอง (“โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทย” 2555) พบว่าเฉพาะต้นปาล์มแก่ ทางปาล์มและใบปาล์มในภาคใต้มีจำนวนปีละ 12 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ (แต่ประเทศจีนกำลังติดต่อขออัดแท่งไปทำเชื้อเพลิง) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,634 ล้านหน่วย (ชาวกระบี่ใช้ไฟฟ้าปีละ 725 ล้านหน่วย)

ในเรื่องไฟฟ้าฐาน โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ของเหลือจากโรงหีบน้ำมันปาล์มในจังหวัดกระบี่โรงหนึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 300 วัน ได้ไฟฟ้า 57 ล้านหน่วยต่อปี

ประเทศเยอรมนีได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กๆ เกือบ 8 พันโรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมกัน 5.7 หมื่นล้านหน่วย (เกือบ 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้ทั้งหมด) นี่ยังไม่นับแสงแดดอีก 3.7 หมื่นล้านหน่วยราคาก็ถูกกว่าที่ทางราชการไทยรับซื้อค่อนข้างมาก ซึ่งเชื้อเพลิงชีวมวลและแสงแดดเหล่านี้เรามีเองในประเทศไทย ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เอาอย่างนี้ครับ สมมติว่าประเทศไทยเราเป็นหนึ่งครอบครัว ถ้าเราไม่ยอมใช้สิ่งที่เรามีเอง เฉพาะส่วนที่นำมาแทนต้นปาล์ม ทางและใบปาล์ม (ในจำนวนที่กล่าวแล้ว 12 ล้านตันต่อปี) แต่หันไปนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ก็จะทำให้เงินไหลออกไปจากครอบครัวปีละประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อปี ทุกปีนานเข้าจะเกิดอะไรขึ้น

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าเมื่อสิ้นปี 2558 ครัวเรือนของประเทศไทยเราเป็นหนี้คิดเป็นมูลค่าถึง 82% ของจีดีพีหรือ 11 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 84% ในสิ้นปี 2559 ในขณะที่เมื่อ 3 ปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 72

เมื่อครอบครัวไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทางราชการไทยก็มักจะบอกว่า เพราะชาวบ้านติดสุรา ติดอบายมุข เป็นต้น

สมัยก่อนรัฐบาลไทยเคยประดิษฐ์วาทกรรมว่า “มีลูกมาก จะยากจน” คือโยนไปที่พฤติกรรมส่วนบุคคล แต่มาถึงวันนี้ ครอบครัวไทยเรามีลูกน้อยลงแล้ว แต่กลับเป็นหนี้หรือยากจนมากขึ้นกว่าตอนที่มีลูกมากเสียอีก แท้ที่จริงแล้วพวกเขายากจนเพราะปัญหาทางโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างด้านพลังงานของรัฐบาลนั่นเอง

ผมได้อ่านคำแถลงของนายกรัฐมนตรีประเทศสวีเดน (Mr.Stefan Löfven ซึ่งเติบโตมาจากอาชีพช่างเชื่อม จนได้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย) ในเวทีโลกร้อนที่กรุงปารีส เป็นคำพูดง่ายๆ ไม่มีตัวเลขอะไรมากมาย ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “เราต้องยึดความเชื่อหลักของเราที่ว่า แผนปฏิบัติการต่อปัญหาภูมิอากาศโลก ไม่ได้ทำให้มนุษย์ต้องถอยหลัง แต่เป็นการขับเคลื่อนมนุษย์ไปข้างหน้า” (Let us be guided by this core belief: global climate action will not hold humanity back – it will propel us forward.)

มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วมากมายว่าการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน ได้จังหวะดีๆ ผมจะนำมาเสนอให้ชัดเจนกว่านี้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น