คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
--------------------------------------------------------------------------------
เมื่อปลายปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยได้กล่าวแถลงต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ
(1) ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 ถึง 25% ภายในปี ค.ศ.2030 โดยการใช้พลังงานฟอสซิลให้น้อยลง และใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
(2) จะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
(3) เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทย ในการร่วมผลักดันให้เจรจาการตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศฉบับใหม่ให้สัมฤทธิผล ให้ทุกๆ ประเทศคำนึงถึงเรื่องโลกร้อนเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้มีการลดก๊าซเรือนกระจก และให้มีการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล
บทความนี้จะขอตรวจสอบใน 2 ประการแรก สำหรับประการที่สาม ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะวินิจฉัยได้เองว่า ในความจริงแล้วผู้แทนรัฐบาลไทยจะผลักดันเรื่องสำคัญระดับโลกนี้ไปในทิศทางใด
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย และของชาวโลกทั้งมวล
ความจริงแล้วก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีหลายตัว แต่ตัวที่สำคัญ และมีส่วนร่วมก่อปัญหามากที่สุดถึง 72% ก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน/ลิกไนต์ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ในที่นี้เราจึงสนใจเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเดียว
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า ในปี 2558 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 254 ล้านตัน (เฉลี่ย 3.75 ตันต่อคนต่อปี) โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.6 เมื่อแบ่งออกเป็น 4 ภาคเศรษฐกิจ พบว่า ภาคการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงที่สุด คือ 38.4รองลงมาคือ ภาคการขนส่งร้อยละ 28.2 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 26.8 ที่เหลือเป็นอื่นๆ ร้อยละ 7.6
ในช่วงเวลา 3 เดือนแรกของปี 2559 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดง “เจตจำนงอันแน่วแน่ของประเทศไทย” ในเวทีโลกแล้วการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 ประเทศไทยเราไม่เพียงไม่ได้ลดลงแล้ว แต่กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ถ้าคิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกเท่ากับ 2.1 ล้านตัน ตารางข้างล่างนี้แสดงปริมาณก๊าซในช่วงปี 2530 ถึง 2559
ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ในช่วงปี 2533 ถึง 2538 อัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นเลข 2 หลักติดต่อกันหลายปี จนกระทั่งมาเป็นฟองสบู่แตกในปี 2540 อย่างไรก็ตาม ปริมาณการปล่อยก๊าซเฉลี่ยต่อคนต่อปีก็ไม่ได้ลดลงเลย โดยค่าเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 เท่ากับ 3.86 ตันต่อคน
เพื่อให้เห็นสถานะของประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซของชาวโลก และของบางประเทศ ข้อมูลในกราฟข้างล่างนี้มาจาก Trends in global CO2 emissions : 2015 Report, PBL Netherlands Environmental Assessment Agency
ในปี 2557 ทั่วทั้งโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกัน 35,700 ล้านตัน เฉลี่ยคนละ 4.89 ตันต่อคน ซึ่งมากกว่าของประเทศไทยประมาณหนึ่งตัน โดยที่ 70% ของปริมาณที่ปล่อยทั้งโลกมาจาก 6 กลุ่มประเทศ คือ ประเทศจีน 30% สหรัฐอเมริกา 15% สหภาพยุโรปรวม 28 ประเทศ 9.6% อินเดีย 6.6% รัสเซีย 5.0% และญี่ปุ่น 3.6% (ประเทศไทยประมาณ 0.8%)
สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซต่อคนต่อปีในปี 2557 ดูได้จากกราฟข้างล่าง พบว่า สหรัฐอเมริกาปล่อยมากที่สุด คือ 16.5 ตันต่อคน เท่ากับ 4.4 เท่าของค่าเฉลี่ยชาวโลก
ที่น่าสนใจมากก็คือ ปริมาณก๊าซที่ปล่อยได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่ในช่วงปี 2555 ถึง 2556 ยังคงมีอัตราการเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าในช่วงของปีก่อน
ปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาส่วนหนึ่งลงไปอยู่ในมหาสมุทร ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก อีกส่วนหนึ่งได้ลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศปีแล้วปีเล่า ได้ทำให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ ในเดือนเมษายน 2559 ถึงระดับ 407.57 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ไม่ควรจะเกิน 350 พีพีเอ็ม)
ก๊าซดังกล่าวได้ทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ส่งผลให้อุณหภูมิของอากาศสูงขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ สำหรับผลเสียหายจากโลกร้อนดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บรรยายไว้ดีแล้วในคำแถลงคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ภัยแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ฯลฯ ซึ่งในประการหลังนี้ประเทศไทยเราได้รับผลกระทบอย่างมาก เจ้าของสวนรายหนึ่งที่ผมรู้จักเล่าให้ฟังด้วยเสียงที่สั่นเครือว่า “สวนมะม่วงที่ให้ผลแล้ว 1,200 ต้นที่ราชบุรียืนต้นตายทั้งหมด”
เพื่อเป็นการชดเชยความสูญเสียดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอแนะต่อเวทีโลกว่า “เราควรพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศกำลังพัฒนา และในขณะเดียวกัน ก็ควรทำให้ผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด”
ข้อเสนอเศรษฐกิจพอเพียงต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ผมได้เรียนมาแล้วว่า ภาคการผลิตไฟฟ้ามีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด คือ 38.4% และในบรรดาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถ่านหินนี่แหละที่ปล่อยก๊าซมากที่สุด ถ้าคิดเป็นหน่วยไฟฟ้าที่เท่ากันถ่านหินปล่อยเกือบ 2 เท่าของก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวล นักวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่ได้ปล่อยเลย เพราะในวงจรชีวิตของต้นไม้ พวกเขาได้ช่วยดูดซับก๊าซในกระบวนการสังเคราะห์แสงมาตลอด
ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการเพื่อที่จะให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดกระบี่ (ขณะนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาศึกษาข้อคัดค้านของเครือข่ายปกป้องอันดามัน) ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะเปิดใช้งานในปี 2562 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ เปิดใช้ในปี 2564 และอีก 1,200 เมกะวัตต์ ในปี 2567
ปัญหาของถ่านหิน นอกจากจะปล่อยก๊าซมากที่สุด และทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวโลก และชุมชนท้องถิ่นรับไม่ได้แล้ว ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ประเทศไทยเราไม่ได้มีถ่านหินเป็นของตัวเองเลย แต่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เฉพาะที่กระบี่อย่างเดียวก็วันละ 1 หมื่นตัน
ถ้าท่านนายกฯ ทำตามคำพูดที่ได้แถลงไว้ คือ ต้องลดการปล่อยก๊าซลง 20% หรือ 51 ล้านตันในปี 2030 หรือปีละ 3.4 ล้านตัน แต่ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น แทนที่จะลด กลับจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10 ล้านตันตลอดไป
นี่หรือครับ ความจริงใจของท่าน นี่หรือครับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านยึดเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนมันยั่งยืนตรงไหนครับ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นวางอยู่บนหลักการ 3 ประการ คือ (1) พอประมาณ (2) มีเหตุผล และ (3) มีความคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่สมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
แต่เหตุผลที่ส่วนราชการนำมาอ้างในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่เป็นความจริง และในที่สุดก็จะนำไปสู่ความไม่สมดุลทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมาแล้ว
เหตุผลที่ทางราชการนำมาอ้าง และโฆษณาจนคนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกเคลิ้มตามไปด้วยก็คือ “ประเทศไทยไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงของตนเองมากพอ ต้องใช้ถ่านหินมาผลิตเพื่อเป็น “ไฟฟ้าฐาน” คือ ผลิตได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งปี พลังงานที่ประเทศไทยมี คือชีวมวล แสงแดด สายลม มีไม่มากพอ ราคาก็แพงเป็นอาหารหลักไม่ได้ เป็นได้แค่อาหารเสริมเท่านั้น”
แต่จากงานวิจัยของกระทรวงพลังงานเอง (“โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทย” 2555) พบว่า เฉพาะต้นปาล์มแก่ ทางปาล์ม และใบปาล์มในภาคใต้มีจำนวนปีละ 12 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ (แต่ประเทศจีนกำลังติดต่อขออัดแท่งไปทำเชื้อเพลิง) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,634 ล้านหน่วย (ชาวกระบี่ใช้ไฟฟ้าปีละ 725 ล้านหน่วย)
ในเรื่องไฟฟ้าฐาน โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ของเหลือจากโรงหีบน้ำมันปาล์มในจังหวัดกระบี่โรงหนึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 300 วัน ได้ไฟฟ้า 57 ล้านหน่วยต่อปี
ประเทศเยอรมนี ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กๆ เกือบ 8 พันโรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมกัน 5.7 หมื่นล้านหน่วย (เกือบ 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้ทั้งหมด) นี่ยังไม่นับแสงแดดอีก 3.7 หมื่นล้านหน่วย ราคาก็ถูกกว่าที่ทางราชการไทยรับซื้อค่อนข้างมาก ซึ่งเชื้อเพลิงชีวมวล และแสงแดดเหล่านี้เรามีเองในประเทศไทย ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
เอาอย่างนี้ครับ สมมติว่าประเทศไทยเราเป็นหนึ่งครอบครัว ถ้าเราไม่ยอมใช้สิ่งที่เรามีเอง เฉพาะส่วนที่นำมาแทนต้นปาล์ม ทาง และใบปาล์ม (ในจำนวนที่กล่าวแล้ว 12 ล้านตันต่อปี) แต่หันไปนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ก็จะทำให้เงินไหลออกไปจากครอบครัวปีละประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อปี ทุกปีนานเข้าจะเกิดอะไรขึ้น
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า เมื่อสิ้นปี 2558 ครัวเรือนของประเทศไทยเราเป็นหนี้คิดเป็นมูลค่าถึง 82% ของจีดีพี หรือ 11 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 84% ในสิ้นปี 2559 ในขณะที่เมื่อ 3 ปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 72
เมื่อครอบครัวไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทางราชการไทยก็มักจะบอกว่า เพราะชาวบ้านติดสุรา ติดอบายมุข เป็นต้น
สมัยก่อนรัฐบาลไทยเคยประดิษฐ์วาทกรรมว่า “มีลูกมาก จะยากจน” คือ โยนไปที่พฤติกรรมส่วนบุคคล แต่มาถึงวันนี้ ครอบครัวไทยเรามีลูกน้อยลงแล้ว แต่กลับเป็นหนี้ หรือยากจนมากขึ้นกว่าตอนที่มีลูกมากเสียอีก แท้ที่จริงแล้วพวกเขายากจนเพราะปัญหาทางโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างด้านพลังงานของรัฐบาลนั่นเอง
ผมได้อ่านคำแถลงของนายกรัฐมนตรีประเทศสวีเดน (Mr.Stefan Löfven ซึ่งเติบโตมาจากอาชีพช่างเชื่อม จนได้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย) ในเวทีโลกร้อนที่กรุงปารีส เป็นคำพูดง่ายๆ ไม่มีตัวเลขอะไรมากมาย ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “เราต้องยึดความเชื่อหลักของเราที่ว่า แผนปฏิบัติการต่อปัญหาภูมิอากาศโลก ไม่ได้ทำให้มนุษย์ต้องถอยหลัง แต่เป็นการขับเคลื่อนมนุษย์ไปข้างหน้า” (Let us be guided by this core belief: global climate action will not hold humanity back - it will propel us forward.)
มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วมากมายว่าการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน ได้จังหวะดีๆ ผมจะนำมาเสนอให้ชัดเจนกว่านี้ครับ