ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องมารับทราบประเด็นฟ้องร้องระหว่าง “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)”กับ“บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)” คดีนี้ แต่เดิมสปน.ได้เรียกร้องให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ชำระจ่ายค่าปรับ และค่าสัมปทานค้างจ่ายรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ “คณะอนุญาโตตุลาการ”ได้ใช้วิธีคิดคำนวณอีกแบบ ทำให้ตัวเลขออกมาเท่าจำนวนดังกล่าว
ผู้เกี่ยวข้องใน สปน. ถึงกับออกมาระบุว่า “เสมือนเป็นการเจ๊ากัน”โดยสปน.ไม่เห็นด้วย จึงเสนอให้ครม.พิจารณา
ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธาน “นายวิษณุ เครืองาม”รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้ครม. รับทราบรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดง ที่ 1/2559 ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก ที่ประชุมครม.มีมติรับทราบข้อพิพาทดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ซึ่งมีข้อพิพาทสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 โดยคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทดังกล่าวได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทรวม 6 ประเด็น โดยมีบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เรียกร้อง และ สปน. เป็นผู้คัดค้านและยื่นข้อเรียกร้องแย้ง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และมีคำชี้ขาด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ 6 ประเด็น มีดังนี้
1 .ที่ว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขาดข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทนี้หรือไม่ คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า มีอำนาจ
2 . คำเสนอข้อพิพาทในเรื่องสิทธิเรียกร้องค่าผลประโยชน์ตอบแทนส่วนต่างหรือตอบแทนรายปี และค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยเคลือบคลุมหรือไม่ อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ไม่เคลือบคลุม
3. คำเสนอข้อพิพาทนี้ซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ 1/2550 หรือไม่ อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า ไม่ซ้อน
4 .ค่าปรับและดอกเบี้ยขาดอายุความหรือไม่ อนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดว่า ไม่ขาดอายุความ
5. ผู้คัดค้านผิดสัญญาด้วยการยกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายกับใช้สิทธิไม่สุจริต และไม่ให้ผู้เรียกร้องดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ตามสัญญา เป็นเหตุให้ผู้เรียกร้องเสียหายหรือไม่เพียงใด และผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามคำขอของผู้เรียกร้องหรือไม่ เพียงใด อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในประเด็นนี้ว่า ผู้คัดค้านผิดสัญญาด้วยการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใช้สิทธิเรียกร้องไม่สุจริต เป็นเหตุให้ผู้เรียกร้องได้รับความเสียหาย โดยประธานอนุญาโตตุลาการกำหนดค่าเสียหายให้กับผู้เรียกร้อง เป็นเงิน 2,890,345,205 บาท
6 . ผู้เรียกร้องต้องชำระเงินและปฏิบัติชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านตามคำขอในข้อเรียกร้องแย้งหรือไม่ เพียงใดนั้น อนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดไว้ว่า ผู้คัดค้านไม่อาจเรียกค่าปรับ แต่ผู้เรียกร้องต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนส่วนต่างที่ตกค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย เป็นเงิน 2,890,345,205 บาท ให้แก่ผู้คัดค้าน
“โดยสรุปแล้ว เมื่ออนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยว่าผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่จะต้องชำระให้แก่กันเป็นเงิน 2,890,345,205 บาท เท่ากัน สามารถนำมาหักกลบลบกันแล้วต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกัน”
ขณะที่ สปน. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทดังกล่าวเนื่องมาจากสัญญาสัมปทานและมีจำนวนทุนทรัพย์พิพาทกันสูงมาก ประกอบกับอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้ว สปน. กระทรวงการคลัง และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นสอดคล้องกันว่า คำชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทประเด็นที่ 1 , 3 , 5 , 6 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสปน. อยู่ระหว่างการแจ้งเรื่องให้ อสส. ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จึงเห็นสมควรรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ครม.ทราบ
ประเด็น “ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ”นี้ เมื่อปี 2550 (อ่าน รายงานพิเศษ : จับตา “อนุญาโตฯ” จะทำรัฐ “ชวด” ค่าปรับ ไอทีวี หรือไม่ ? ) เขียนโดย “อมรรัตน์ ล้อถิรธร” http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx… ระบุถึงข้อคิดเห็นของนักวิชาการหลายคนที่สอดคล้องกันว่า เรื่องค่าปรับไอทีวีนี้ ไม่ต้องเข้าอนุญาโตตุลาการอีก เพราะตัวเลขนับแสนล้านดังกล่าว ไม่ใช่ตัวเลขที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา แต่มาจากการคิดคำนวณตามสัญญา เมื่อไอทีวีผิดสัญญา ก็ต้องจ่ายค่าปรับ ถ้าไม่จ่าย สปน. ก็ฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ไอทีวีจ่ายค่าปรับได้ เพราะค่าปรับนี้เกิดจากการผิดสัญญาทางปกครอง
(แม้ทาง สปน.และอัยการได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกค่าปรับจากไอทีวีแล้ว แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องเมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ สปน.ไปดำเนินการตามระบบอนุญาโตตุลาการเช่นกัน สปน.-อัยการจึงอุทธรณ์เรื่องนี้ไปยังศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดก็วินิจฉัยคดีที่ไอทีวีฟ้องเสียก่อน โดยเห็นพ้องกับไอทีวีที่เสนอให้ตั้งอนุญาโตฯ ชี้ขาดปัญหาเรื่องค่าปรับที่ไอทีวียืนยันว่าตนไม่ได้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องจ่ายสัมปทานและค่าปรับแก่ สปน.)
นอกจากนั้นยังบทความของ “ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์”อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=696 เขียนถึงทัศนะต่อคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีสัญญาสัมปทาน ไอทีวี โดยเฉพาะข้อเสนอแนะสำหรับดำเนินการดังนี้
1. ในระยะสั้น เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะที่ไม่ควรสูญเสียไปโดยคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีข้อพิจารณาหลายประการในเรื่องความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักกฎหมาย
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนขอเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องนี้สั่งการให้ สปน. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาดตามบทบัญญัติมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดในสองส่วน โดยอาศัยเหตุแห่งกฎหมายที่แตกต่างกัน ได้แก่
1) คำชี้ขาดในส่วนที่ให้ลดประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายให้รัฐตามสัญญาเข้าร่วมงาน ฯ ข้อ 5 ที่จ่ายให้เพียงปีละ 230 ล้านบาท จากเดิมปีละ 1,000 ล้านบาท หรือจ่ายในอัตราร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายกับคำชี้ขาดในส่วนที่ให้คืนประโยชน์ตอบแทนในปี 2546 จำนวน 570 ล้านบาท ให้แก่ ITV ซึ่งน่าจะเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีฐานแห่งข้อเท็จจริงรองรับอย่างพอเพียง ทั้งนี้ โดยอาศัยเหตุแห่งการเพิกถอนตามมาตรา 40 (1) (ง) เนื่องจากเป็น “คำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ”
2) คำชี้ขาดในส่วนที่ให้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในเรื่องการเสนอรายการข่าว สารคดี และสาระประโยชน์ตามสัญญาเข้าร่วมงาน ฯ ข้อ 11 ซึ่งนอกจากจะเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว ยังอาจเพิกถอนได้โดยเหตุแห่งมาตรา 40 (2) (ก) เนื่องจากเป็น “คำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับโดยคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย” อีกด้วย
2. ในระยะยาว คณะรัฐมนตรีควรจะได้มีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติในเรื่องทำนองนี้ว่า การกำหนดให้มีบุคคลภายนอกสามคนที่เรียกว่าคณะอนุญาโตตุลาการ เข้ามาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำกิจการบริการสาธารณะ โดยที่ผู้ชี้ขาดเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบในบริการสาธารณะนั้น ๆ เลยและสามารถวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่กำหนดไว้ในสัญญาได้โดยไม่จำต้องแสดงหรืออธิบายเหตุผลการวินิจฉัยให้ชัดเจน ซึ่งต่างไปจากการพิพากษาคดีของศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เช่นนี้ จะยังคงเหมาะสมที่จะยังใช้อยู่ต่อไปในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นสัญญาทางปกครองประเภทสัญญาสัมปทานบริการสาธารณะอยู่อีกหรือไม่และหากเห็นว่าไม่ควรจะให้มีอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองอีก ก็ควรกำหนดเป็นกฎหมายหรือกำหนดห้ามโดยมติคณะรัฐมนตรีที่มีสภาพบังคับโดยเด็ดขาดและไม่อาจยกเว้นให้กระทำสัญญาลักษณะดังกล่าวได้อีกต่อไป
3. ในระยะกลาง ยังคงมีสัญญาทางปกครองประเภทสัญญาสัมปทานบริการสาธารณะอีกจำนวนมากที่มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบันที่มีบทบัญญัติให้ตั้งคณะอนุญาโตตุลาการไว้ ดังนั้น คณะรัฐมนตรี ควรจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นและจะต้องมีการตั้งอนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาที่ตกลงไว้เดิมเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกระบวนการเลือกสรรและแต่งตั้ง ตลอดจนคุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการ และในเรื่องขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่และกระบวนการในการต่อสู้คดีประเภทนี้ของพนักงานอัยการเพื่อให้มีความรัดกุม รอบคอบ มีประสิทธิภาพและจะต้องแตกต่างไปจากคดีทั่วไปที่ปฏิบัติอยู่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้นจากกระบวนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการอีก ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณีก่อนหน้านี้
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นความเห็นก่อนมีคำชี้ขาดใน 6 ประเด็น เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยหลังจากนี้ จะต้องดูว่า ทาง สปน.จะหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไปอย่างไร จะวืดตามที่นักวิชาการเขาเป็นห่วงกันหรือไม่