xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยหนี้เสียรายย่อยพุ่ง อุปโภคบริโภคอ่อนแอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเผยการบริโภคอ่อนแอลงส่งผลให้ยอดและการเติบโตของเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกปี 59 พบลูกหนี้รายใหม่ 4.73 หมื่นล้านบาท เฉพาะธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเกือบ 2 หมื่นล้าน เป็นลูกหนี้รี-เอ็นทรีด้วย แต่ใช้สารพัดวิธีให้หนี้ลดลงเช่นกัน

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ประกาศยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำแนกตามประเภทธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างชาติและบริษัทเงินทุนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 59 พบว่า การบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอต่อเนื่องส่งผลให้ในระบบมียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 5.91 หมื่นล้านบาท เติบโต 19.81%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นมากที่สุด ธุรกิจผลิต (อุตสาหกรรม) และธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ (พาณิชย์) 2.85 หมื่นล้านบาท และ2.64 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันเพิ่มขึ้น 1.99 หมื่นล้านบาท เติบโต 5.89%เทียบกับไตรมาสก่อน เฉพาะธุรกิจพาณิชย์ เพิ่มขึ้นถึง 1.08 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้สาเหตุการเพิ่มขึ้นของหนี้มาจากกรณีลูกหนี้รายใหม่ทั้งสิ้น 4.73 หมื่นล้านบาท เกิดจากธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีจำนวน1.98 หมื่นล้านบาท และธุรกิจพาณิชย์ 1.29 หมื่นล้านบาทเป็นหลัก ขณะที่กรณีลูกหนี้ที่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาเป็นหนี้ใหม่อีกครั้ง (รี-เอ็นทรี) ทั้งสิ้น 1.48 หมื่นล้านบาท เฉพาะผลิต อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และพาณิชย์มีจำนวน 4.91 พันล้านบาท 4.36 พันล้านบาท และพาณิชย์ 4.14 พันล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนหนี้เพิ่มขึ้นเกิดจากเหตุผลอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อเพิ่ม ผลกระทบของค่าเงินที่เพิ่มขึ้น หรือผลจากการรับลูกหนี้ที่รับโอนหนี้มาจากสถาบันการเงินอื่น เป็นต้น 4.64 พันล้านบาท เกิดจากธุรกิจผลิต 1.98 พันล้านบาท พาณิชย์ 1.04 พันล้านบาท

สำหรับเหตุผลการลดลงหนี้เกิดจากเหตุผลอื่นๆ มีทั้งสิ้น 3.62 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการรับชำระหนี้ ตัดหนี้สูญของหนี้ที่หมดสิทธิเรียกร้อง และการขายหนี้ เป็นต้น 2.64 หมื่นล้านบาท กรณีไม่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้โอนเป็นหนี้ปกติจำนวน 9.88 พันล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจหนี้ลดลงด้วยเหตุผลอื่นมากเป็นอันดับแรกและอันดับสอง คือ ธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 1.70 หมื่นล้านบาท และพาณิชย์ 1.02 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ หนี้ลดลงด้วยการวิธีการปรับโครงสร้างหนี้มีทั้งสิ้น 1.07 หมื่นล้านบาทในงวดนี้ ธุรกิจอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขอปรับโครงสร้างหนี้มากที่สุด 6.40 พันล้านบาท ขณะที่ผลิตและพาณิชย์มีจำนวน 1.71 พันล้านบาท และ1.43 พันล้านบาท ตามลำดับ

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า แม้การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้รายใหม่ในระบบ แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้รายใหม่ยังเป็นระดับเดียวกับช่วงเดียวกันปีก่อนหรือไม่ได้เร่งตัวมากนัก จึงสบายใจได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันกลุ่มลูกหนี้รี-เอ็นทรีไม่ได้สูงในไตรมาสแรกของปีนี้ เพราะสถาบันการเงินมีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ของธุรกิจอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่ก็ลดลงค่อนข้างมากด้วย นอกจากนี้ธุรกิจนี้มียอดคงค้างน้อยภาคผลิตและยอดเพิ่มขึ้นของอุปโภคในไตรมาสนี้น้อยกว่าไตรมาสก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ธปท.ได้ออกมาระบุว่า เอ็นพีแอลในกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและบัตรเครดิตเป็นสำคัญ แต่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ สินเชื่อบัตรเครดิตที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้น เริ่มมีการใช้บัตรเครดิต ถือเป็นแหล่งสุดท้ายใช้หมุนเวียน แม้อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตค่อนข้างสูง แสดงว่าสถานการณ์ไม่ค่อยดีนัก

ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มองว่าน่าจะขยายตัวระดับสูงสุดแล้ว เห็นได้จากข้อมูลหนี้เสียกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงมากในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา.
กำลังโหลดความคิดเห็น