ธปท.คาดสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ปีนี้น่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน โดยจะได้รับอานิสงส์จากลงทุน 4G และโครงการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุน พร้อมสั่งการให้ทุกแบงก์เร่งทำแผนทดสอบผลกระทบในภาวะวิกฤต ศก.ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณี คือ ศก.ในปีนี้ขยายตัวได้เลวร้ายสุด หรือ -4.5% และปี 60 ขยายตัว -2.5% และกรณีที่ ศก.จะขยายตัวได้ 2% ต่อเนื่อง 5 ปี จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินงาน
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่า การปล่อยสินเชื่อในปี 59 จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 58 เนื่องจากจะมีการปล่อยสินเชื่อทั้งในส่วนการประมูล 4G และโครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 3.5% สูงขึ้นจากปีก่อน ขณะที่คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะค่อยๆ ทยอยปรับลดลง
สำหรับในปี 59 มองว่าการปล่อยสินเชื่อจะขยายตัวได้ดีกว่าปี 58 แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นเท่าไร จะถึง 5% หรือไม่ แต่เชื่อว่าดีขึ้นแน่นอน มาจากปัจจัยในเรื่องการขยายตัวเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน การปล่อยกู้โครงการ 4G และการลงทุนในภาครัฐที่ต้องเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธนาคารยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่มียอดอนุมัติสินเชื่อในปีธุรกิจอยู่ที่ 71.7% และอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 55.6% จากคำขอสินเชื่อ
นายดอน ยังระบุด้วยว่า ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์เร่งทำแผนทดสอบผลกระทบในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณีคือ เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้เลวร้ายสุด หรือ -4.5% และปี 60 ขยายตัว -2.5% และกรณีที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2% ต่อเนื่อง 5 ปี จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของ NPL การปล่อยสินเชื่อ สภาพคล่อง เพื่อนำเสนอให้ ธปท.พิจารณาภายในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติปีละ 1 ครั้ง
นายดอน ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 58 โดยระบุว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ เงินสำรอง และเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่กำไรจากการดำเนินงานยังขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้กำไรสุทธิจะลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และการหันไประดมทุนผ่านตลาดทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 4.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยการชะลอตัวของสินเชื่อในปีก่อนเป็นผลจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SME ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับสินเชื่อธุรกิจ (68.4% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 3.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 0.1% ชะลอลงมากจาก 4.8% จากปีก่อน ในภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากการระดมทุนผ่านตลาดทุน และชำระคืนหนี้ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งตัดหนี้สูญลูกหนี้บริษัทขนาดใหญ่รายหนึ่ง
สินเชื่อ SME ขยายตัว 5.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.4% ในปีก่อนจากธุรกิจขนาดเล็ก สินเชื่ออุปโภคบริโภค (31.6% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 7.1% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 7.4% ในสินเชื่อทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 1% หลังจากที่หดตัวต่อเนื่อง 6 ไตรมาส
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 337.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 60.3 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.55% จาก 2.15% สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้างทั้งสิ้น 314.1 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 22.3 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.38% จาก 2.61% ณ สิ้นปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองสำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 444.5 พันล้านบาท ขยายตัว 11.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม NPL ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันลดลงมาอยู่ที่ 156.3%
โดยในปี 58 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงาน 370.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 192.3 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% จากปีก่อนที่ 1.3%
ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.5% จาก 2.6% ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,228.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรประจำปีเป็นเงินกองทุน การเพิ่มทุนและการออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier-2) ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.4% และ 14.5% ตามลำดับ
นายดอน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ล่าสุด สิ้น ธ.ค.58 พบว่ามีเอกชนเข้าร่วมให้สินเชื่อ 12 ราย ยอดปล่อยสินเชื่อคงค้างรวม 136 ล้านบาท คิดเป็น 7,113 บัญชี ขณะที่ NPL ยังมีไม่มาก เพราะการปล่อยสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำ