ผู้ถือหุ้น “เมืองไทยลิสซิ่ง” อนุมัติจ่ายปันผลเงินปันผลสำหรับงวดปี 2558 ในอัตรา 0.20 บาท/หุ้น กำหนดจ่าย 13 พ.ค. “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” มั่นใจปีนี้ “รายได้ กำไร สินเชื่อ” โตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ความต้องการสินเชื่อของคนในระดับฐานรากมีสูง ผลพวงเศรษฐกิจซบ ปัญหาภัยแล้ง โชว์ฐานะการเงินแกร่ง!!! หนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ คุมเอ็นพีแอลอยู่หมัด ไร้สำรองพิเศษ
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (MTLS) เปิดเปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา มีมติจ่ายปันผลสำหรับปี 2558 ในอัตรา 0.20 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 424 ล้านบาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 29 เมษายน 2559 และให้รวบรวมรายชื่อตามมาตรา 225 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยวิธีปิดสมุดในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานใน 2559 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของรายได้ กำไร และยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ จากปีก่อนที่บริษัทมีรายได้ 2.55 พันล้านบาท และมียอดปล่อยสินเชื่อราว 2 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้สินเชื่อคงค้างจะเพิ่มอีก 50% เป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ
“เรามั่นใจว่าการเติบโตในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะความต้องการสินเชื่อของคนในระดับฐานรากยังมีสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาภัยแล้ง ประกอบการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นอีก 450 สาขา ซึ่งใช้เงินลงทุนในการขยายสาขาไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท และสิ้นปีนี้บริษัทจะมีสาขารวมทั้งสิ้น 1,350 สาขา จากสิ้นปี 2558 มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 900 สาขา” นายชูชาติ กล่าว
สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการปล่อยสินเชื่อมาจากการออกหุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน และเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ โดยแบ่งเป็นเงินกู้ หรือตั๋วเงินระยะสั้น 50% และเงินกู้ หรือตั๋วเงินระยะยาว 50% ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังสามารถระดมทุนจากตลาดเงินได้อีกมาก เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทอยู่ในระดับ 1.31 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่ประการใด
ขณะที่หนี้เสีย หรือ NPL ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงรักษาระดับไว้อยู่ในเกณฑ์ 0.9% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในธุรกิจประเภทเดียวกัน โดยสำรองเพิ่มขึ้นเพียง 10.5 ล้านบาท และมีการตัดหนี้สูญเพียง 14.15 ล้านบาท จึงทำให้อัตราส่วนสำรองต่อหนี้เสีย (NPL) อยู่ในระดับสูงถึง 287% โดยเป็นการสำรองตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยคำนึงถึงโอกาสสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น จึงไม่ต้องตั้งสำรองพิเศษแต่ประการใด เมืองไทย ลิสซิ่ง กล่าวอีกว่า ในส่วนของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้นำตลาด ครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) อันดับ 1 ของเมืองไทย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในปีนี้ประมาณ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีทีผ่านมา มียอดปล่อยกู้ 130.2 ล้านบาท หรือ 86.8%