ธปท.ชี้เอ็นพีแอลมีแนวโน้มพุ่งขึ้น จับตาเอสเอ็มอี และบัตรเครดิตหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ยอมรับกำไรแบงก์อาจจะชะลอตัวเป็นปีที่ 2 เหตุกันสำรองสูงเพราะหนี้เสีย พร้อมคาดสินเชื่อทั้งปีเติบโตไม่เกิน 4.5% ด้านนายแบงก์เป็นห่วงเอ็นพีแอลรายย่อยอาจพุ่งขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มุ่งเจาะลูกค้าระดับกลางที่ยังมีกำลังซื้อ
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบัน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ซึ่งประเมินว่าในปีนี้เอ็นพีแอลน่าจะปรับขึ้นสูงสุด ยกเว้นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะทรุดตัวลงอีกในปีหน้า โดยยังต้องจับตาเอ็นพีแอลลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้บัตรเครดิตอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อขยายตัวต่ำ ไตรมาสแรกปีนี้โตเพียงร้อยละ 3.3 ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 4.3 เมื่อสิ้นปี 2558 โดยสินเชื่อธุรกิจหดตัวในภาคอุตสาหกรรมพาณิชย์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่หดตัวมากที่สุด โดยคาดว่าสินเชื่อแบงก์ทั้งปีจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 4.5
สำหรับในไตรมาสแรก เอ็นพีแอลมียอดคงค้าง 357,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 19,900 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.64 จากร้อยละ 2.55 โดยคุณภาพสินเชื่อด้อยลงในสินเชื่อทุกประเภท โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ และเอสเอ็มอี โดยเอ็นพีแอลลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 88,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 77,300 ล้านบาท เอ็นพีแอลลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มเออยู่ที่ 172,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 165,200 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เอ็นพีแอลหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท จาก 8,500 ล้านบาท โดยพบว่า ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภคลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ส่วนเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นจากสิ้นปี 2558 โดยมียอดคงค้างอยู่ที่ 17,900 ล้านบาท ลดลงจาก 20,200 ล้านบาท สาเหตุเนื่องจากผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรกน้อยลง และตลาดรถยนต์มือสองราคาเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นจนเกือบอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ
ด้านกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องจากมีการกันสำรองเพิ่มขึ้น และได้รับผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยลูกค้า โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งในไตรมาสแรกกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องมีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ดังนั้น จึงทำให้กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 51,300 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 408,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24,100 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 160 จากร้อยละ 156.3 ช่วยให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ และสามารถรองรับกับผลกระทบจากการด้อยคุณภาพของสินเชื่อได้
ด้าน นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความกังวลยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ขยับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเอ็นพีแอลจากรายย่อย เกษตรกร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และปัญหาภัยแล้ง ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ที่กู้ยืมได้
ส่วนกลุ่มลูกค้าระดับกลางขึ้นไป พบว่า เอ็นพีแอลไม่สูงมาก ลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีโอกาสเติบโต ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของธนาคาร โดยธนาคารเชื่อว่า จะสามารถวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าที่ยังมีศักยภาพ และมีความพร้อมในการชำระสินเชื่อ โดยธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อรายย่อยโตร้อยละ 5-10 ขยายฐานลูกค้าใหม่อีก 285,000 ราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 600,000 ราย
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปีนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีหรือไม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่จะมีมากขึ้น ซึ่งยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้