xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อียู”เล่นการทูตสองหน้าบีบไทยเป็นประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเวอร์เนอร์ แลงเกน ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน พร้อมคณะ เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ค.59 (ภาพจากเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ผ่านไปจนจะครบ 2 ปีเต็ม ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก ยังคงแสดงท่าทีที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองในไทยเท่าใดนัก และพยายามกดดันประเทศไทยด้วยหลากหลายวิธี

นอกจากนายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศ ที่เสียมารยาททางการทูต เอาแถลงการณ์โจมตีประเทศไทยเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองและคัดค้านการควบคุมตัวสมุนบริวารนายทักษิณ ชินวัตร มาอ่านระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมแล้ว

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป นำโดยนายเวอร์เนอร์ แลงเกน ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน พร้อมด้วยนายมาร์ก ทาราเบลลา รองประธาน และนายเพียร์ อันโตนิโอ แปนซีรี คณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน และคณะรวม 8 คน ได้เดินทางมาประเทศไทย และเดินสายเข้าพบนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ

หลังจากนั้นได้ไปพรรคเพื่อไทยพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย

ตามด้วยการเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์

ในการพบปะกับประธาน สนช.นั้น นายกิตติ วะสีนนท์ รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สนช.ได้แถลงหลังจากคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปเข้าหารือว่า ตัวแทนอียูเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีสถานการณ์พิเศษ แต่เพราะไทยเป็นประเทศน่าสนใจ มีโอกาสขยายความร่วมมือเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงมีการสร้างความเข้าใจถึงเรื่องพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่ง สนช.ได้ชี้แจงถึงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงปัจจุบัน โดยในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นทางอียูเองก็มีปัญหา และทางอียูไม่ได้สอบถามเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยมากมาย ไม่ได้ถามในลักษณะสร้างแรงกดดัน รวมถึงไม่ได้ถามเรื่องเรียกฝ่ายเห็นต่างไปปรับทัศนคติ

ขณะที่นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สนช.กล่าวว่า อียูไม่ได้เน้นย้ำเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย โดยเฉพาะเรื่องการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่ให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนมากกว่า โดยสอบถามว่ามีช่องทางใดบ้างที่อียูจะเข้ามาลงทุนในไทยได้ เนื่องจากเห็นว่าไทยไปมีปฏิสัมพันธ์กับจีน รัสเซีย จึงอยากให้อียูมีช่องทางเข้ามาบ้าง

ส่วนการเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น มีรายงานว่า คณะของนายเวอร์เนอร์ได้หารือเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย

และประเด็นที่คณะผู้แทนรัฐสภายุโรปหารือกับพรรคเพื่อไทยนั้นตรงกันข้ามกับประเด็นที่หารือกับ สนช.โดนสิ้นเชิง โดยคณะของนายเวอร์เนอร์ได้สอบถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าเหตุใดจึงไม่เดินทางไปแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศไทย ที่เบลเยียมหรือฝรั่งเศส ตามคำเชิญของสภายุโรปเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ยังตั้งคำถามแบบชงหวานให้พรรคเพื่อไทยว่าการไล่ล่านักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร และการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาต่อร่างรัฐธรรมนูญถือว่ากระทำผิดกฎหมายอย่างไร โดยทั้งหมดให้ส่งเป็นเอกสารประกอบการชี้แจง ซึ่งก็เข้าทางพรรคเพื่อไทย ที่รับลูกว่าจะรวบรวมข้อมูลเป็นเอกสารให้

การสอบถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงการไม่เดินทางไปยุโรปเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมานั้น ดูจะเป็นการก้าวล่วงต่อระบบยุติธรรมไทยหรือไม่ นั่นเพราะ ทางอียูน่าจะรู้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถเดินทางไปยุโรปได้ เนื่องจากยังอยู่ในสถานะจำเลยคดีจำนำข้าว และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ

ทั้งนี้ นายเอลเมอร์ โบรก ประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภายุโรป ผู้ออกหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายเวอร์เนอร์เอง ได้เคยแสดงความผิดหวังกรณีที่ทางการไทยตัดสินใจไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ และได้ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าสภายุโรปจะเดินทางมาเยือนไทยในปีนี้ให้ได้

ดังนั้น การเดินทางมาไทยของตัวแทนรัฐสภายุโรปครั้งนี้ ย่อมเห็นเจตนาที่จะเข้ามาหยิบยกประเด็นการไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ ขึ้นมากดดันรัฐบาลไทยอีกครั้ง

ส่วนการเดินทางไปพบนายอภิสิทธิ์นั้น น่าจะเป็นเพียงการสร้างภาพให้ดูว่าอียูมีความเป็นกลางเท่านั้น เพราะไม่ได้มีประเด็นหารือที่แหลมคมปรากฏออกมา โดยนายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเรียบร้อย พรรคได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงที่คณะรักษาความแห่งชาติ (คสช.)เข้ามาดูแลประเทศ น่าเสียดายที่เรามีรัฐบาลเลือกตั้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ทางสหภาพยุโรปกลับไม่แสดงท่าทีเท่าที่ควร อยากให้ลองเทียบบรรยากาศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเวลานี้ก็ถือว่ามีความปลอดภัยสูงกว่ามาก เมื่อเทียบกับเวลานั้นที่ความปลอดภัยมีปัญหา แม้แต่บ้านของนายอภิสิทธิ์เองก็ถูกระเบิดในช่วงก่อนการรัฐประหาร

ส่วนนายอิสรา สุนทรวัฒน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่านายอภิสิทธิ์ได้พูดกับตัวแทนรัฐสภายุโรปว่า การเมืองไทยมั่นคงในระดับหนึ่ง และคงเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้คือ จะมีการเลือกตั้งในปี 60 เข้าใจในจุดยืนของสภาสหภาพยุโรปต่อรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การยุติบทบาททุกด้านไม่ใช่ทางแก้ อย่างน้อยควรให้มีการดำเนินการในกรณีเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียู ที่ต้องชะงักไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายที่ต้องเสียโอกาส จากการที่ฝ่ายอียูไม่ลงนามในสัญญาใด ๆ ควรจะมีการเตรียมในระดับปฏิบัติเพื่อรอความพร้อมของระดับนโยบายที่สามารถเซ็นลงนามได้ทันทีที่พร้อม

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความเห็นกรณีคณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรป เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าไม่เป็นไร เขาอยากมาพบก็ให้พบ จะให้ทำอย่างไร ก็ว่าไปในทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรู้ว่าในภาพรวมของประเทศเป็นอย่างไร และต้องตอบทางสภาอียู คงไม่มีปัญหาอะไร ก็ว่ากันไป และเห็นว่าพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย ก็ดีแล้ว แต่เขาไม่ได้มาพบกับ คสช. ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของทางการเมือง

พล.อ.ประวิตร ไม่กังวลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะชี้แจงกับสภาอียูบิดเบือน ความจริงเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น คสช.ทำงานมา 2 ปี อยู่ด้วยความจริง ไม่มีอะไรซ่อนเร้น ไม่มีอะไรที่อยู่ใต้พรม ไม่ต้องห่วง

ถึงแม้ พล.อ.ประวิตรจะบอกว่าไม่กังวลต่อประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงต่อตัวแทนรัฐสภายุโรปที่เดินทางมาไทยครั้งนี้ แต่หลังจากคณะของนายเวอร์เนอร์เดินทางกลับไปถึงยุโรปแล้ว รัฐบาลคงต้องเตรียมรับมือสงครามข่าวสารให้ดี เพราะข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยให้ตัวแทนอียูกลับไปนั้น คงไม่เป็นผลบวกต่อรัฐบาล คสช.แน่นอน



กำลังโหลดความคิดเห็น