xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกทีวีเผยแพร่ร่างรธน. เปิดฟรีสองฝ่ายตั้งวงเสวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง เป็นประธานประชุมร่วมกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ 25 ช่อง ผู้แทนสถานีวิทยุ มหาวิทยาลัย และ กสทช. เพื่อชี้แจงและกำหนดหลักเกณท์การจัดสรรเวลาการออกเสียงประชามติ โดยมี นายอัชพร จารุจินดา นายภัทระ คำพิทักษ์ ตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายสมชาย แสวงการ ตัวแทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วม
นายสมชัย แถลงว่า ที่ประชุมได้กำหนดรายละเอียด การจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ในลักษณะทีวีพูล ซึ่งจะมีการออกอากาศในช่วงเวลา 18.20-18.50 น. จำนวน 13 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ทุกวันจันทร์ และพุธ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 มิ.ย. จนถึงวันเสาร์ที่ 6 ส.ค. โดย 2 ครั้งแรก จะเป็นการออกอากาศชี้แจงกระบวนการ และขั้นตอนการออกเสียงประชามติของกกต. อีก 3 ครั้ง เป็นการชี้แจงของกรธ. เกี่ยวกับสาระสำคัญในเนื้อหาร่างรธนง และอีก 2 ครั้ง ของสนช. เป็นการอธิบายประเด็นคำถามพ่วง ส่วน 6 ครั้งที่เหลือ จะให้เป็นการจัดเสวนาวิชาการ ที่ให้อิสระสถานีช่องต่างๆ สามารถหาพิธีกร ผู้ร่วมรายการได้เอง โดยอยู่บนหลักการต้องเชิญคนที่เห็นต่างทั้งสองฝ่ายมาร่วมแสดงความคิดเห็น การเสวนาต้องไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ปลุกระดม หรือเป็นเท็จ โดย กกต.จะไม่มีการเซ็นเซอร์ใด เพียงแต่รายการที่จะจัดนั้น จะเป็นการบันทึกเทป ซึ่งช่องใดจะจัดหัวข้ออะไร จะมีการตกลงกันอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 25 พ.ค.นี้ เวลา 14.00 น. แต่เบื้องต้น กกต.ได้ให้แนวทางไปว่า เรื่องที่ควรจัดเสวนานั้น ควรจะเป็นประเด็น สิทธิเสรีภาพ รัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ในการออกอากาศนั้น จะออกอากาศพร้อมกันทางสถานีโทรทัศน์ ดิจิตอล 25 ช่อง โดยจะมีการพ่วงสัญญาณไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐ 616 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เสียสละอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากการออกอากาศต้องใช้งบมูลค่ามหาศาล ส่วนสถานีใดประสงค์ออกอาาศรายการซ้ำ กกต.ไม่มีข้อห้าม และถ้าจะพ่วงไปที่เว็บไซต์ หรือสถานีดาวเทียมใดจะเชื่อมสัญญาณก็สามารถทำได้
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ของ สปท. ส่งข้อเสนอแนะให้กกต.กำหนดรายละเอียด เรื่องที่ทำได้ ทำไม่ได้ ช่วงการทำประชามติให้เกิดความชัดเจนนั้น ทางกกต.จะมีการพูดคุยกันในสัปดาห์หน้า
ส่วนกรณีที่กลุ่มนักวิชาการยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งศาลรธน. วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. พ.ศ. 2559 ขัดรธน.หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกกต. เป็นดุลยพินิจของผู้ตรวจการแผ่นดิน หากเห็นว่าขัดต่อรธน. ก็สามารถส่งให้ศาลรธน.ตีความได้ เพราะการออก พ.ร.บ.ดังกล่าว กกต.ได้ทำอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย
อย่างไรก็ตามในวันที่ 19 พ.ค.นี้ กกต.จะเป็นเจ้าภาพเชิญ กรธ., สนช., ครม. และตัวแทนจาก 77 พรรคการเมือง เข้าร่วมรับฟัง ชี้แจงเกี่ยวกับร่างรธนง และกระบวนการประชามติ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี-รังสิต เวลา 14.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น