xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอนิรโทษที่ไม่มีใครยอมรับ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

การตื่นตัวของประชาชนต่อระบอบการปกครอง และการบริหารบ้านเมืองของนักการเมืองจนออกมาใช้สิทธิชุมนุมขับไล่ของประชาชนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นำมาสู่ความขัดแย้งจากการมีจุดยืนทางการเมือง และการเลือกฝักฝ่ายที่แตกต่างกันจนต่างฝ่ายกลายเป็นนักโทษการเมืองด้วยข้อกล่าวหาที่รุนแรง

แต่นั่นล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์สาเหตุของระบอบการเมืองที่พิกลพิการของสังคมไทย ที่ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีระบบราชการและกลไกรัฐเป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองเข้ามากอบโกย กระทั่งหนักหนาสาหัสขึ้นเมื่อกลุ่มทุนเห็นช่องทางเข้าสู่อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเกาะกุมอำนาจรัฐ แล้วประชาชนก็ออกมาบนท้องถนนจนเป็นทศวรรษของความขัดแย้ง เมื่อมีประชาชนอีกฝ่ายเห็นประโยชน์จากทุนการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

กลายเป็นสงครามสีเสื้อ กลายเป็นสงครามเอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ กลายเป็นฝ่ายเอาเจ้าไม่เอาเจ้า กลายเป็นศึกทุนเก่าทุนใหม่

ทุกฝ่ายกลายเป็นจำเลยของความขัดแย้งที่สาดโคลนเข้าหากัน แต่เห็นไหมว่าฝ่ายไหนที่ลอยนวลทั้งที่เป็นรากของปัญหาที่แท้จริง คำตอบสำหรับผมก็คือระบบราชการและกลไกรัฐที่วันนี้กลับอาศัยความขัดแย้ง กลับมามีอำนาจเติบใหญ่อีกครั้ง

สังคมไม่ได้รู้ว่าระบบราชการและกลไกรัฐคือตัวปัญหา จึงมีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปจากทุกฝ่าย

แต่แทนที่จะได้ปฏิรูปเรากลับได้ความเข้มแข็งของระบบราชการเพิ่มมากขึ้น แล้วเมื่อมีอำนาจระบบราชการก็มองเห็นว่า ความตื่นตัวของประชาชนนั้นเป็นอุปสรรคต่อความเข้มแข็งระบบราชการ ถ้าประชาชนเข้มแข็งขึ้นระบบราชการจะอ่อนแอลงมาเป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่เจ้าขุนมูลนายที่อยู่เหนือราษฎรอีกต่อไป ดังนั้น จึงต้องกำจัดกลุ่มคนที่มีพลังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกสีทุกฝ่ายให้หมดไป

ผมมองว่าข้อเสนอของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เสนอ “รอการลงโทษ” เพื่อการปรองดองเกิดจากจุดนี้

นายเสรี กล่าวว่า เงื่อนไขการเข้าสู่กฎหมายรอการกำหนดโทษนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับสารภาพว่าตัวเองกระทำผิดในชั้นศาลก่อน หลังจากได้รับรอการกำหนดโทษแล้ว จะมีมาตรการอื่นๆ มาควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก อาทิ การห้ามชุมนุมการเมือง การห้ามปลุกปั่นก่อความวุ่นวาย รวมถึงอาจตัดสิทธิการเมืองตลอดไป ข้อห้ามเหล่านี้จะกำหนดไปตลอดชีวิต ไม่มีอายุความ หมายความว่า จะถูกคาดโทษติดตัวไปตลอดชีวิต หากใครฝ่าฝืนข้อห้ามรอการกำหนดโทษจะถูกเรียกตัวมาฟังคำพิพากษาในคดีเดิม เพื่อลงโทษทันที มาตรการรอการกำหนดโทษจึงแตกต่างจากการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมไม่มีข้อห้ามต่างๆ มาควบคุมหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว แต่วิธีรอการกำหนดโทษจะมีเงื่อนไขและข้อห้ามต่างๆ มาควบคุมมิให้กลับไปกระทำผิดอีก

นั่นก็เท่ากับว่า ผู้ต้องหาทางการเมืองทุกกลุ่มทุกสีเสื้อจะถูกมัดรวมกันและถูกจองจำทางการเมืองไปตลอดชีวิต ยังน้อยกว่าที่ประชาชนจะสร้างแกนนำคนใหม่ขึ้นมาได้ อำนาจรัฐที่กลับไปตกอยู่ภายใต้ระบบราชการอีกครั้งก็จะเข้มแข็งขึ้นไปอีกระยะเวลาหนึ่งสอดรับกับโรดแมปที่ยึดกุมอำนาจไปอีก 5 ปี 10 ปีพอดี

แต่ว่าไปแล้วนี่ก็เป็นแนวคิดที่ดูถูกพลังของประชาชนเกินไป

ว่าด้วยเหตุผลของความยุติธรรมที่มาจากข้อเสนอของนายเสรี สำหรับผมแล้วไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นข้อเสนอของคนที่เรียกว่านักกฎหมาย ที่ผ่านการเรียนรู้ถึงหลักการของการรับโทษทางอาญา และทฤษฎีการลงโทษต้องดูที่เจตนา ต้องดูเหตุผลของการกระทำผิด และการลงโทษต้องสอดคล้องกับการกระทำผิด และสำคัญคือผู้ถูกกล่าวหาไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้กระทำผิดซึ่งกว่าจะตัดสินศาลต้องดูที่เจตนา หลักฐานพยานแวดล้อม แรงจูงใจและเหตุผลประกอบต่างๆ จึงจะตัดสินพิจารณาโทษได้

แต่เหตุผลของนายเสรีก็คือให้ทุกคนสารภาพผิด และรับการลงโทษเสียโดยไม่ต้องไต่สวนอีกต่อไป ทั้งที่เป็นข้อกล่าวหาที่เราไม่อาจยอมรับได้ เจตจำนงของการออกมาชุมนุมทางการเมืองของประชาชนก็คือผลประโยชน์ของประเทศไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว

ตอนผมไปรับทราบข้อกล่าวหาก่อการร้าย ตำรวจอ่านข้อกล่าวหาให้ฟังยาวเหยียด หนึ่งในนั้นระบุว่า ผมเป็นหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธ ทั้งที่ผมมีหน้าที่แค่ประสานงานผู้ปราศรัยบนเวที ซึ่งผมได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาไป

คือถ้าผมจะรับการนิรโทษต้องรับสารภาพว่าผมกระทำผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งๆ ที่เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยมาก แถมจะถูกศาลพิจารณาโทษโดยที่ผมไม่มีโอกาสให้การต่อสู้คดี โทษก่อการร้ายเป็นโทษหนักศาลอาจตัดสินตลอดชีวิต 10 ปีหรือ 20 ปี แม้ไม่ต้องติดคุกจริง แต่ผมต้องแบกโทษนั้นไปตลอดชีวิต แล้วตัดสิทธิความเป็นพลเมืองของผมห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจนตัวตายมันไม่มากไปเหรอครับ ห้ามผมเข้าร่วมกับการชุมนุมต่างๆ ตลอดชีวิต นั่นเท่ากับจะถูกควบคุมกระทั่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่อสังคมไปด้วย ไม่เชื่อว่าคนพูดนี่จะเป็นนักกฎหมายเลย

แบบนี้ไม่น่าจะเรียกว่าการนิรโทษหรือการปรองดองนะ แต่เป็นกระบวนการตัดคนไทยกลุ่มหนึ่งออกจากความเป็นพลเมืองไทย ชีวิตที่เหลืออยู่ก็กลายเป็นโครงกระดูกที่เดินได้ที่ห้ามสนใจต่อปัญหาสังคม และบ้านเมืองไปตลอดชีวิต

บ้าไหมครับอยู่ๆ ก็มาเสนอให้ผมยอมรับตำแหน่งหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธที่ตำรวจยัดเยียดให้

ที่ตลกก็คือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตัดสิทธิทางการเมือง นักการเมืองทุจริตไปตลอดชีวิต เท่ากับว่า คนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านนักการเมืองทุจริตจะต้องรับโทษเช่นเดียวกับนักการเมืองที่ทุจริต นี่มันหลักความยุติธรรมที่คุณร่ำเรียนมาจากสำนักไหนครับ

แล้วเพิ่งรู้ว่า ข้อเสนอของนายเสรีนอกจากนิรโทษแบบมีเงื่อนไขให้กับฝ่ายประชาชนแล้วยังนิรโทษให้กับฝ่ายรัฐด้วย คำถามว่าฝ่ายรัฐที่ใช้ความรุนแรงจะต้องรับสารภาพผิดด้วยหรือไม่ ถ้าต้องรับสารภาพจะถูกลิดรอนสิทธิทางการเมืองเหมือนฝ่ายประชาชนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นคดี 7 ตุลาที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์กับพวกกำลังอยู่ในชั้นศาล หรือกลายเป็นไม่มีความผิดไปเลยซึ่งฝ่าย นปช.ก็คงมีคำถามในคดี 99 ศพ

ส่วนตัวผมไม่ได้ปฏิเสธแนวทางการปรองดอง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เข้าใจรากฐานของปัญหา สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง แต่ข้อเสนอของนายเสรีที่บังคับให้สารภาพผิด แม้จะเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยนั้นยากจะยอมรับได้ ผมยังเห็นด้วยว่าควรจะนิรโทษการเผาด้วย เพราะมันเป็นเพียงวัตถุและเกิดเกือบทุกครั้งในการชุมนุมทางการเมืองในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาหรือพฤษภาทมิฬ และมีการนิรโทษมาตลอด แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษให้คนที่เอาอาวุธสงครามมาสังหารประชาชนด้วยกัน

นายเสรีคงต้องทบทวนข้อเสนอของตัวเองและตั้งคำถามว่า ทำไมข้อเสนอนี้จึงถูกปฏิเสธจากทุกสีทุกฝ่ายในทันทีที่ส่งประเด็นเข้าสู่สังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น