พบ “เสรี สุวรรณภานนท์” เสนอแก้ปัญหาปรองดอง คดีเล็กน้อยใช้มาตรา 44 ไม่ดำเนินคดีต่อ ออกกฎหมายรอการกำหนดโทษ เพื่อความปรองดอง ให้แกนนำสารภาพในศาล แล้วออกมาตรการลงอาญา ห้ามชุมนุม ปลุกปั่น แถมตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดไป ผลักดันให้ใช้ก่อนมีเลือกตั้ง “ตู่” ได้ทีโวย อ้างช่วยแค่พันธมิตรฯ คดีสนามบิน
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 พ.ค. 2559 ได้พาดหัวข่าวระบุว่า “กฎหมายปรองดอง ล้างทุกสี รออาญาตลอดชีวิต” โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสร้างความปรองดองของ สปท. ว่า มีความคืบหน้าไปมากแล้ว ทั้งเรื่องการเยียวยาและเรื่องคดีความ เบื้องต้น สปท. การเมืองวางแนวทางแก้ปัญหาไว้ 2 ระดับ คือ 1. การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายของรัฐ เช่น คดีความผิดเล็กน้อย หรือ มีเจตนาไม่ร้ายแรง อาจมีนโยบายของรัฐไม่ดำเนินคดีต่อ เช่น การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือ การถอนฟ้อง 2. การแก้ปัญหาโดยตัวกฎหมาย จะใช้วิธีการออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. รอการกำหนดโทษ เพื่อความปรองดอง ทำให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสิน หรือ ฟังคำพิพากษา จะใช้กับคดีที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น คดีกลุ่มแกนนำการเมืองบุกยึดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน หรือ สี่แยกต่าง ๆ ที่เป็นอุดมการณ์การต่อสู้ทางการเมือง แต่ทำเลยเถิดเกินเลย อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จะไม่รวมคดีทุจริต คดีตามมาตรา 112 และการวางเพลิงเผาทรัพย์
นายเสรี กล่าวว่า วิธีการรอการกำหนดโทษเป็นการนำหลักการรอการกำหนดโทษในกฎหมายอาญามาใช้ และนำกระบวนการอื่นๆเข้ามาผสมเพิ่มเติม โดยเงื่อนไขการเข้าสู่กฎหมายรอการกำหนดโทษนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับสารภาพว่าตัวเองกระทำผิดในชั้นศาลก่อน หลังจากได้รับการรอการกำหนดโทษแล้ว จะมีมาตรการอื่น ๆ มาควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก อาทิ การห้ามชุมนุมการเมือง การห้ามปลุกปั่นก่อความวุ่นวาย รวมถึงอาจจะมีการตัดสิทธิการเมืองตลอดไป ข้อห้าม เหล่านี้จะกำหนดไปตลอดชีวิต ไม่มีอายุความ หากใครฝ่าฝืนข้อห้ามการรอการกำหนดโทษ จะถูกเรียกตัวมาฟังคำพิพากษาในคดีเดิม เพื่อลงโทษทันที มาตรการนี้จึงแตกต่างจากการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมไม่มีข้อห้ามต่าง ๆ มาควบคุมหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้ว
นายเสรี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นหลัก การที่ สปท. การเมืองวางไว้ มีผู้เห็นด้วยจำนวนมาก เบื้องต้นเตรียมขอเข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ให้ฟังเพิ่มเติม เพราะเคยเกริ่นรายละเอียดให้นายวิษณุทราบมาแล้ว สปท. การเมืองจะผลักดันกฎหมายรอการกำหนดโทษให้เสร็จภายใน 3 เดือน ก่อนที่ สปท. จะหมดวาระ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
นอกจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ยังพาดหัวข่าว “ปลุกชีพ ‘ปรองดอง’ นัดถกวิษณุดัน พ.ร.ก.รอโทษ ‘จตุพร’ เชื่ออุ้มแค่พันธมิตร” หนังสือพิมพ์มติชน พาดหัวข่าว “สปท.ชูปรองดองชง กม.ชะลอโทษ นัดถก “วิษณุ” เร่งคลอดยุติคดีม็อบปิดสนามบิน ม.44 ถอนฟ้องโทษน้อยศาลให้ประกันแม่จ่านิว” หนังสือพิมพ์คมชัดลึก พาดหัว “ผุด ก.ม.รอลงโทษ สปท.ยุติศึกสีสร้างปรองดอง-แม่จ่านิวได้ประกัน”
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นเหมือนจะช่วยเพียงบางคดี โดยเฉพาะกรณียึดสนามบินกรณีเดียว ส่วนกรณีความผิดในการชุมนุมบนท้องถนนนั้น เกิดขึ้นกับทุกกลุ่ม ซึ่งยังต้องต่อสู้อีกยาวไกล เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่และทำกันเป็นระบบ ตั้งแต่มีการเชิญ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปพูดที่มหาวิทยาลัยรังสิต นายปราโมทย์ นาครทรรพ เขียนกลอนวิจารณ์โครงการประชารัฐอย่างยับเยิน ดังนั้น การเสนอกฎหมายดังกล่าวจะเป็นคุณกับคดียึดสนามบินที่อัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต เพราะเป็นการก่อการร้ายสากล
“ขอให้ใช้กฎหมายโดยยึดหลักความเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาเหมือนกรณีคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ต.ค. 51 กับเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ซึ่ง 2 คดีนี้ควรเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม แต่กลับเล่นงานคดี 2 ศพ แล้วปล่อยคดี 100 ศพ จึงเกิดแรงต้าน เพราะเดินผิดมาตั้งแต่ต้น ต้องให้กฎหมายดำเนินการไปด้วยความเสมอภาคยุติธรรม ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ แต่อีกฝ่ายเสียเปรียบ แค่เริ่มต้นก็เป็นไปด้วยความอยุติธรรมแล้ว” นายจตุพรกล่าว