xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งเข้มยิ่งต้านแรง ผลงาน-ความศรัทธาวัดพลัง คสช.!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


ต้องเรียกว่าเริ่มเข้มข้นร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอุณหภูมิการเมืองที่เวลานี้ระอุไม่แพ้อุณหภูมิอากาศภายนอก เพราะนาทีนี้ทั้งสองฝ่าย นั่นคือฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับฝ่ายต่อต้าน ต่างก็เริ่มออกแรงกันหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพิจารณาจากสถานการณ์ที่บังคับจากตารางเวลาที่กำหนดอยู่ตรงหน้า

ฝ่ายแรกคือฝ่ายรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถืออำนาจรัฐอยู่เต็มมือ แน่นอนว่าต้องการรักษาอำนาจต่อไป แต่อย่างที่บอกในเมื่อเป็นไฟต์บังคับ เลี่ยงไม่ออก ก็ต้องเดินฝ่าออกไป นั่นคือเวลานี้จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญมาประกาศใช้ จะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวนานเกินพอดี ย่อมไม่ได้ แต่การใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ต้องหาความชอบธรรม อ้างอิงประชาชนก็ต้องใช้การลงประชามติ โดยเวลานี้มีการกำหนดตามโรดแมปเอาไว้เป็นวันที่ 7 สิงหาคม

แต่ปัญหาก็คือ มีการออกกฎระเบียบข้อห้ามมามากมาย จนทำให้บรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อุปถัมภ์โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความเคร่งเครียด และมีข้อจำกัดมากกว่าการลงประชามติในร่างฉบับอื่น โดยเฉพาะหากเปรียบกับการลงประชามติในฉบับปี 2550

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นย่อมมาจากสาเหตุที่ฝ่ายการเมือง หรือพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยคณะของมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งแม้ว่าในรายละเอียดของประเด็นการคัดค้านจะต่างกัน เช่น อ้างว่าไม่ยึดโยงกับประชาชน ลดอำนาจของประชาชน รวมไปถึงเนื้อหาที่อ้างว่ามีเจตนาทำลายพรรคการเมือง และกีดกันพรรคการเมือง กีดกันอำนาจของนักการเมือง

สำหรับแรงต่อต้านที่ถือว่ารุนแรงและชัดเจนมากที่สุดในเวลานี้ รับรู้กันอยู่แล้วมาจากฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร เป็นหลัก ซึ่งก็มีเครือข่ายร่วมเคลื่อนไหวทั้งในนามพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง รวมไปถึงพวกแนวร่วมหลายรูปแบบ ทั้งมาแบบนักศึกษา นักวิชาการกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ หากติดตามแบ็กกราวนด์ในอดีตเรื่อยมา กลุ่มตัวอย่างเช่น กลุ่มของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว อะไรนั่น รวมไปถึงกลุ่มนักวิชาการที่กำลังเคลื่อนไหวแบบเร่งเกมให้หนักขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมีการจับกุมในเวลานี้แทบจะรายวัน แต่ที่น่าจับตาก็คือมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องรับลูกกับองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติ

แน่นอนว่าแนวทางการเคลื่อนไหวแบบนี้มัน “เข้าทาง” อยู่แล้ว เพราะมี “เงื่อนไข” จากทางฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว นั่นคือการ “รัฐประหาร” เป็น “รัฐบาลทหาร” แม้ว่าในความเป็นจริงเรื่องความเข้มงวด ความโหดร้ายป่าเถื่อน อาจจะไม่เหมือนกับหลายประเทศที่เคยมีรัฐประหาร มีรัฐบาลเผด็จการ แต่ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวมันปฏิเสธไม่ได้ และทำให้หลายประเทศยังไม่ไว้ใจ และถูกจับตามาตลอด

อีกด้านหนึ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านของทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายของเขา ก็พอเข้าใจได้ นั่นคือเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลกระทบเข้าอย่างจัง นั่นคือ คุณสมบัติต้องห้าม ที่ห้ามลงสนามการเมืองตลอดชีวิต จากคนที่เคยต้องคดีทุจริต ใช้อำนาจมิชอบ พวกเขาโดนเต็มๆ ขณะเดียวกัน ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ แบบ “สัดส่วนผสม” ที่พวกเขาอ้างว่ามีเจตนาทำลายพรรคใหญ่ ทำให้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.กระจายออกไปไม่ทำให้พรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาเด็ดขาด ต้องเป็นรัฐบาลผสม และยังเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก เป็นต้น

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ต้องขัดขวางกันทุกวิถีทาง ซึ่งข้ออ้างที่แนบเนียนที่สุด ก็ต้องอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องเสรีภาพบังหน้า

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งฝ่ายรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นาทีนี้ก็ต้องการควบคุมสถานการณ์ให้นิ่งที่สุด ซึ่งก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย (พิเศษ) ที่ตัวเองมีอยู่ในมือมาบังคับใช้ให้เข้มข้น ทางหนึ่งเพื่อปราม และปราบไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเคลื่อนไหว หรือรวมตัวกันติด แต่ขณะเดียวกันหากสังเกตให้ดี จะพยายามไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความบานปลาย อย่างกรณีของ น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ หรือจ่านิว ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ล่าสุดศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะเห็นว่าเป็นไปตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ที่ย้ำให้เห็นก่อนหน้านี้ว่า ทุกคดีให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคดีนี้ต่อไปก็ไปว่ากันในศาล ให้ศาลตัดสิน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากสถานการณ์ในเวลานี้และในอนาคตอันใกล้ ปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวแปรและตัวเร่งให้คณะทหารชุดนี้ในชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องล้มลงหรือไม่ อาจจะไม่ใช่การเคลื่อนไหวกดดันของมวลชนกลุ่มดังกล่าว เพราะเมื่อสังเกตจากอารมณ์ของสังคมยังไม่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ยังมองด้วยสายตาแบบรู้ทัน และน่ารำคาญเสียมากกว่า ดังนั้นพลังจึงยังไม่เกิดขึ้น

แต่ที่น่าจับตาก็คือ “ความศรัทธา” ต่างหากที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เคยฝากความหวังเอาไว้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรู้สึกอย่างไร มีผลงานเข้าตาหรือไม่ หรือได้ทำตามที่เคยสัญญาไว้หรือไม่ รวมทั้งได้เห็นแนวโน้มว่าจะเกิดผลสำเร็จสักเรื่องหรือไม่ ผลงานของรัฐบาลผ่านมาร่วมสองปี เป็นอย่างไร หรือว่าทุกอย่างยังพื้นๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่แก้ตัว อ้างโน่นอ้างนี่หรือไม่ ดูแล้วไม่คุ้มค่ากับการที่ชาวบ้านต้องเสียสละสิทธิบางอย่าง อย่างนี้แหละมันน่าห่วง จะกลายเป็นตัวเร่งให้จบเร็วมากกว่า

สิ่งที่น่าห่วง ที่น่าจับตาก็คือ ผลสำรวจล่าสุดที่เพิ่งออกมาปรากฏว่า ชาวบ้านยังรู้สึกว่าข้าราชการในยุค คสช. ยังทุจริตมากมายไม่เปลี่ยนแปลง นั่นก็ย่อมหมายความว่า “การทุจริตไม่ได้ลดลง” เลย เรื่องแบบนี้แหละจะเป็นตัวทำลายความศรัทธาอย่างแรง และหลายรัฐบาล หลายคณะรัฐประหารเคยพังมานักต่อนักแล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น