xs
xsm
sm
md
lg

เป็นอยู่อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

ทุกสองเดือน ผมโชคดีเสมอ นั่นคือ ได้รับหนังสือธรรมะแบบธรรมทานจาก “กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม” (ตู้ปณ. 32 ปณ.บางกอกน้อย กทม. 10700) เจ้าของมอตโตที่ว่า “ช่วยผู้อื่นให้ช่วยตัวเองได้ และช่วยตนเองให้ช่วยผู้อื่นได้”

วันนี้ (25 เมษายน 2559) ได้รับหนังสือ “อนุตตริยธรรม” และ “เสียงอ่านซีดีธรรมะ เรื่อง คิดให้เป็น...เดี๋ยวเห็นเอง กลวิธีคลายทุกข์แบบฉับพลัน”

ธรรมทานทั้งสองสิ่งดังกล่าว เป็นข้อเขียนและจัดทำโดย...สิริวรุณ-แม่ชีไพเราะ ทิพยทัศน์ (รศ.ดร.ไพเราะ ทิพยทัศน์) สถานปฏิบัติธรรมอาศรมมาตา ต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

ปกหลังหนังสือจารึกไว้ว่า...

“ผู้มีปัญญาบ่มแล้ว ย่อมหลุดจากอาสวะทั้งหลาย ผู้มีจิตอันกิเลสไม่รั่วรด มีจิตอันกิเลสตามกำจัดไม่ได้ ละบุญละบาปได้แล้ว เป็นผู้ตื่นย่อมไม่มีภัย

โจรกับโจร คนเป็นคู่เวรกัน พบกันเข้าพึงทำความพินาศและความทุกข์แก่กัน แต่จิตที่ตั้งไว้ผิด ทำแก่ตนเลวร้ายยิ่งกว่านั้น จิตที่ตั้งไว้ถูกต้อง ทำให้คนประเสริฐ ประสบผลดียิ่งกว่าที่มารดาบิดาหรือญาติทั้งหลายทำไว้ให้

บรรดาสิ่งที่งอกงาม วิชชาประเสริฐที่สุด

คนที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติผู้มีอนุตตริยสัมมาทิฏฐิ ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ และเทวดา”

นั่นคือ...พุทธพจน์ ในหนังสือ อนุตตริยธรรม คือความรู้สึกยอดเยี่ยมที่สุด ที่มนุษย์คนหนึ่งจะรู้สึกได้ ตามหลักพุทธธรรม

นี่คือ...ความเป็นอยู่อย่างประเสริฐของผู้มีปัญญา เห็นความจริงของสรรพสิ่ง หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นความว่างเปล่า-สุญญตา หรือตถตา-เช่นนั้นเอง

เป็นอยู่อย่างไร

คนเรามีความเป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่มาจากรากเหง้า หรือเค้ามูลเดิม หรือเชื้อสายดั้งเดิมหรือเกิดจากอะไร เกิดแบบไหนนั่นเอง

โยนิ คือการกำเนิดหรือแบบ หรือชนิดของการเกิดมี 4 แบบดังนี้...

1. ชลาพุชะ (สัตว์เกิดในครรภ์) คือคลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน โค สุนัข แมว เป็นต้น

2. อัณฑชะ (สัตว์เกิดในไข่) คือออกไข่เป็นฟองก่อน แล้วจึงฟักเป็นตัว เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น

3. สังเสทชะ (สัตว์เกิดในไคล) คือเกิดในของชื้นแฉะ หมักหมมเน่าเปื่อยขยายแพร่ออกไปเอง เช่น กิมิชาติบางชนิด

4. โอปปาติกะ (สัตว์เกิดผุดขึ้น) คือเกิดผุดเต็มตัวในทันใด ได้แก่ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก เปรตบางจำพวก ท่านว่า เกิดและตาย ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ

...(พระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ.ปยุตฺโต, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)

การเกิดดังกล่าว อาจจะกว้างแบบครอบจักรวาลเกินไป รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม รู้ไว้ถึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ไม่เป็นโทษอะไร อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เรารู้ว่า รากเหง้าของเราก็เป็นสัตว์เหมือนกัน (จะได้ไม่หลงตัว)

แคบเข้ามาอีกหน่อย เราซึ่งเป็นคนหรือมนุษย์เนี่ย อยู่ในภพภูมิไหน?

ภูมิ 4 หรือ 31 คือชั้นแห่งจิต หรือระดับจิตใจ หรือระดับชีวิต ได้แก่...

1. อบายภูมิ 4 คือภูมิที่ปราศจากความเจริญ ได้แก่...(1) นิรยะ คือนรก (2) ติรัจฉานโยนิ คือกำเนิดดิรัจฉาน (3) ปิตติวิสัย คือแดนเปรต (4) อสุรกาย คือพวกอสูร

2. กามสุคติภูมิ 7 คือกามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ หรือภูมิที่เป็นสุคติซึ่งยังเกี่ยวข้องกับกาม ได้แก่ (1) มนุษย์ หรือชาวมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ (2) จาตุมหาราชิกา คือสวรรค์ชั้นที่ท้าวมหาราช 4 ปกครอง เป็นต้น

3. รูปาวจรภูมิ 16 คือชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพรหม

4. อรูปาวจรภูมิ 4 คือชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นอรูปพรหม

เราทั้งหลายทั้งปวง ขอให้พ้นอบายภูมิ 4 มีความเป็นอยู่อย่างมนุษย์และสวรรค์ ก็น่าจะพอเพียงแล้ว ใครจะไปสูงกว่านั้น ก็เป็นสติปัญญาของท่าน ก็ขออนุโมทนาด้วย สาธุๆๆ

แคบเข้ามาอีกนิด ชิดเข้ามาอีกหน่อย สวรรค์ (หรือนรก) น้อยๆ ตกกระไดพลอยโจน ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จะเอาความเสื่อม หรือความเจริญเชิญตามสบาย

อบายมุข 4 ได้แก่ เป็นนักท่องเที่ยวผู้หญิง เป็นนักดื่ม เป็นนักการพนัน และคบคนชั่ว

อบายมุข 6 ได้แก่ (1) ติดสุราและของมึนเมา (2) ชอบเที่ยวกลางคืน (3) ชอบเที่ยวดูการละเล่น (4) ติดการพนัน (5) คบคนชั่ว (6) เกียจคร้านการงาน

ดูฝ่ายเสื่อมแล้ว ดูฝ่ายเจริญบ้าง

วัฒนสุข 6 คือธรรมที่เป็นปากทางแห่งความเจริญ หรือธรรมที่เป็นดุจประตูชัยอันจะเปิดออกไปให้ก้าวหน้าสู่ความเจริญงอกงามของชีวิต ได้แก่...

1. อาโรคยะ คือความไม่มีโรค หรือความมีสุขภาพดี

2. ศีล คือความประพฤติดี มีวินัย ไม่ก่อเวรภัย ได้ฝึกในมารยาทอันงาม

3. พุทธานุมิต คือศึกษาแนวทาง มองดูแบบอย่าง เข้าถึงความคิดของพุทธชน เหล่าคนผู้เป็นบัณฑิต

4. สุตะ คือใฝ่เล่าเรียนหาความรู้ ฝึกตนให้เชี่ยวชาญ และทันต่อเหตุการณ์

5. ธรรมานุวัติ คือดำเนินชีวิตและกิจการงานโดยทางชอบธรรม

6. อลีนตา คือเพียรพยายาม ไม่ระย่อ มีกำลังใจแข็งกล้า ไม่ท้อถอยเฉื่อยชา เพียรก้าวหน้าเรื่อยไป

ระหว่างอบายมุข 6 ทางแห่งความเสื่อมกับวัฒนสุข 6 ทางแห่งความเจริญ จงเอากระจกส่องดูเถิด ก็จะรู้จะเห็นว่า เรามีวิถีชีวิตหรือ “เป็นอยู่อย่างไร” ได้อย่างถูกต้อง เพราะกระจกมีความเป็นกลาง เที่ยงตรงคงธรรมที่สุด ไม่มีระบบอุปถัมภ์ ไม่มีลูบหน้าปะจมูก ไม่มีมืดๆ มัวๆ มีแต่จะแจ้งโปร่งใส เพราะใจใสซื่อบริสุทธิ์

ย่อมไปอย่างนั้น

“เป็นอยู่อย่างไร ย่อมไปอย่างนั้น” คือเป็นไปตามเหตุและผล “ทำสิ่งใด-ได้สิ่งนั้น”... “ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว” ประเภท “ทำดีได้ดีมีที่ไหน-ทำชั่วได้ดีมีถมไป” นั่นก็ถูกเฉพาะคนที่มองแคบๆ เพียงด้านเดียว เอาผลประโยชน์ส่วนกรูเป็นที่ตั้ง ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ รู้แต่ส่วนตน ไม่สนส่วนรวม คนโกงคือคนฉลาด คนไม่โกง คือคนโง่ ฯลฯ คนพรรค์นี้ชอบเบียดเบียนคนอื่นและตนเองเป็นนิสัย

การมองแบบทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป เป็นการมองไม่ถูกต้องในแง่ของสัจธรรม การทำดีก็ได้ความรู้สึกดีๆ อยู่แล้ว ทำให้จิตผ่องใส ส่วนการทำชั่ว ก็ได้ความรู้สึกชั่วๆ จิตเลยเศร้าหมอง กลัวกรรมวิบาก จะตามทันเร็วเกินคาด

ชีวิตนี้สั้นนัก ประมาณร้อยปีก็ไปแล้ว การพูดถึงความตาย บางคนถือว่าไม่เป็นมงคล บางคนถือว่าการระลึกถึงความตายบ่อยๆ เป็นมงคลอย่างยิ่ง จะทำให้ไม่ประมาท และเป็นการตีสนิทกับความตาย เมื่อความตายมาถึง ก็ปกติ จิตใจผ่องใส มองเห็นความจริง การตายก็แค่เปลี่ยนร่างเก่าไปสู่ร่างใหม่ หรือภพภูมิเก่าไปสู่ภพภูมิใหม่เท่านั้นเอง

ช่วงระยะเวลาระหว่าง “ตาย” (จุติจิต) ถึง “เกิดหลังตาย” (ปฏิสนธิจิต) ห่างกันเพียงแค่กะพริบตาเดียว จุดนี้แหละสำคัญยิ่งนัก

ถ้าจิตเศร้าหมอง ก็ไปทุคติ จิตผ่องใส ก็ไปสุคติ

ผู้หวังดีที่เฝ้าดูผู้กำลังจะจากไป จึงบอกให้นึกถึงความดีต่างๆ นานา จิตจะได้ผ่องใสไปสู่สุคติหรือนิมนต์พระมาให้ศีลให้พร บอกทางไปสวรรค์ให้

แต่มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดที่บอก ของพระหรือผู้หวังดีดอก เนื่องเพราะ...

“ไม่ใช่เวลาใกล้ตาย จึงนิมนต์พระไปให้ศีล ให้ไปบอกพุทโธ หรือตายแล้วให้รับศีลเช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิด เหตุว่าคนเจ็บ จิตมันติดอยู่กับเวทนา ไฉนจะมาสนใจไยดีกับศีลได้ เว้นแต่ผู้รักษาศีลมาเป็นปกติเท่านั้น จึงจะระลึกได้ เพราะเคยทำมาจนเป็นอารมณ์ของจิต แต่ส่วนมากพอใกล้ตาย จึงเตือนให้รักษาศีล”

นั่นคือ...โอวาทธรรมของ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ชาวไทยรู้จักดี และให้ความเคารพนับถือตลอดมา

จากคำสอนของหลวงปู่แหวน ดังกล่าว ชี้ให้เห็นความจริงว่า จะทำอะไร จะละอะไร ต้องทำสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เป็นเงาติดตามตัวตลอดเวลา เช่น รักษาศีล 5 ภาวนาพุทโธ สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนอะไร ศีล 5 ก็คือไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น รวมทั้งสรรพสัตว์ด้วย การภาวนาพุทโธ ก็คืออุบาย ไม่ให้จิตคิดมาก ให้จิตจดจ่ออยู่กับพุทโธ จิตจะได้สงบ จนถึงที่สุด พุทโธหายไป จิตว่างเปล่า นั่นคือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง

สุ แปลว่าดี ทุ แปลว่าชั่ว คติ แปลว่าทาง ดังนั้น สุคติ ก็คือทางดี ทุคติ ก็คือทางชั่ว

เป็นอยู่อย่างไร ถ้าไม่สุคติ ก็ทุคติ

ย่อมไปอย่างนั้น หรือเป็นไปอย่างนั้น คือไม่สุคติ ก็ทุคติ

ไม่ว่าภพนี้ หรือภพหน้า ไม่ว่าชาตินี้ หรือชาติหน้า หรือชาติต่อๆ ไป

เราทำสิ่งใด ก็ได้สิ่งนั้น (ดีหรือชั่ว) ทั้งขณะที่มีชีวิตอยู่ และไม่มีชีวิตอยู่ หรือทั้งก่อนตาย และหลังตาย

มันเป็นเหตุเป็นผล หรืออิทัปปัจจยตา เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น

ขณะมีชีวิตอยู่ มีความเป็นอยู่อย่างเปรต (เพราะความโลภ) ตายไปก็ไปเกิดเป็นเปรตเหมือนเดิม เป็นต้น

ดังนั้น...ทาง 7 สายซึ่งเป็นวิถีชีวิตขณะอยู่บนโลกนี้ และเป็นทางไปเกิดใหม่ในโลกหน้า จึงควรตระหนักอย่างยิ่ง ทางสายไหนควรละ ทางสายไหนควรเจริญ ก็รีบทำเอาขณะยังมีชีวิตอยู่ ชีวิตในโลกนี้เป็นอย่างไร ชีวิตในโลกหน้าก็เป็นอย่างนั้น

1. มีความเป็นอยู่อย่างผู้โกรธ ย่อมเป็นไปอย่างนรก

2. มีความเป็นอยู่อย่างผู้โลภ ย่อมเป็นไปอย่างเปรตและอสุรกาย

3. มีความเป็นอยู่อย่างผู้หลง ย่อมเป็นไปอย่างดิรัจฉาน

4. มีความเป็นอยู่อย่างผู้มีศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10 ย่อมเป็นไปอย่างมนุษย์

5. มีความเป็นอยู่อย่างผู้มีมหากุศลแปด ย่อมเป็นไปอย่างสวรรค์

6. มีความเป็นอยู่อย่างผู้มีสมถกรรมฐาน ย่อมเป็นไปอย่างพรหม

7. มีความเป็นอยู่อย่างผู้มีวิปัสสนากรรมฐาน ย่อมเป็นไปอย่างนิพพาน

ทาง 7 สายดังกล่าว สายที่ 1-2-3 เป็นทุคติ สายที่ 4-5-6-7 เป็นสุคติ

จิตเศร้าหมอง ดำรงอยู่ในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยทุคติ

จิตผ่องใส ดำรงอยู่ในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยสุคติ

นี่คือ...เป็นอยู่อย่างไร ย่อมไปอย่างนั้น

สูงสุดสามัญ

“สูงสุดคืนสู่สามัญ” เป็นสำนวนจีน หมายความว่า สิ่งที่ฝึกฝนมาด้วยความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นฝีมือหรือจิตใจ เมื่อได้บรรลุถึงขั้นสุดยอดแล้ว ผู้ผ่านการฝึกฝนนั้น ก็สามารถจะใช้หรือปฏิบัติได้อย่างเป็นของง่าย และอย่างเป็นสามัญธรรมดา จนดูจากภายนอกเหมือนกับว่าเป็นอย่างคนที่มิได้ผ่านการฝึกฝนมา

สำนวนทำนองนี้ ใช้ได้โดยทั่วไป มองได้หลายมิติ...เหมือนเลข 1234567890

เลข 1 น้อยสุด ต่ำสุด ค่อยเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับสูงสุดคือเลข 9 แล้วก็เลื่อนต่อไปเป็นเลข 0 ศูนย์ตัวนี้ไม่มีอะไร เป็นความว่างเปล่า เป็นสามัญธรรมดา จะเป็นอะไรก็ได้ หรือไม่เป็นอะไรก็ได้ มีค่าก็ได้ ไม่มีค่าก็ได้

อีกมิติหนึ่งเหมือนดูภูเขา ลำดับแรก เห็นภูเขาเป็นภูเขา ลำดับสอง เห็นภูเขาไม่เป็นภูเขา ลำดับสาม เห็นภูเขาเป็นภูเขา เพียงแต่ลำดับ 1 และ 3 เห็นภูเขาเป็นภูเขาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ทำนองสูงสุดคืนสู่สามัญประมาณนั้น

เพียงฝันหลับยืน

ผู้สนใจเซน ย่อมไม่พลาด “วัชรสูตร” หรือ “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” มีผู้แปลหลายสำนวนจากภาษาอินเดียเป็นภาษาจีน จากภาษาจีนเป็นหลายภาษา เช่น ภาษาไทย เป็นต้น

ลองดูเนื้อหา สำนวนแปลของอาจารย์อมร ทองสุก สักเล็กน้อย...

สุภูติ หากมีบุคคลได้นำสัปตรัตนะ มาเติมเต็มอสงไขย โลกธาตุอันไร้จำกัดใช้ในการบริจาคทาน แต่หากมีกุลบุตรกุลธิดาได้บังเกิดในโพธิจิต ปฏิบัติในพระสูตรนี้ แม้ที่สุดจะเพียงแค่โศลก 4 บาทมาทำการสมาทานสวดท่อง กล่าวสาธยายแก่ผู้อื่น บุญนี้ยังจะมากยิ่งกว่าอย่างแรก แต่ควรกล่าวสาธยายแก่บุคคลอื่นอย่างไรล่ะ? ไม่ยึดในลักษณะ ตั้งมั่นอยู่ในตถตาภาพโดยไม่หวั่นไหว เพราะเหตุใด?

“สังขตธรรมทั้งปวงดุจฝันมายาฟองน้ำรูปเงา

ดุจนิศาชลและอสนีควรพินิจด้วยอาการเช่นนี้แล”

ครั้นพระสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้จบ ผู้อาวุโส สุภูติ รวมทั้งเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนปวงเทพ มนุษย์ อสูร ทั้งหลายในโลกที่ได้สดับซึ่งพระพุทธพจน์นี้แล้ว ต่างพากันอนุโมทนายินดี ทั้งมีความศรัทธาน้อมรับไปปฏิบัติด้วยประการฉะนี้แล

ควรพินิจด้วยอาการเช่นนี้แล : ฝัน มายา ฟองน้ำ รูปเงา นิศาชล อสนีคือ 6 พินิจ ซึ่ง 6 พินิจนี้คือสิ่งเท็จ เอกพินิจจึงเป็นสิ่งจริง แต่เอกพินิจคือฉันใด? เอกพินิจก็คือดั่งตถตาภาพที่ไม่หวั่นไหว คือโฉมเดิมแห่งธรรมญาณนั่นแล

ตั้งมั่นอยู่ในตถตาภาพโดยไม่หวั่นไหว : ใจมีความเป็นดั่งกระจก ดังนั้นจึงกล่าวว่าเป็นตถตาภาพที่ไม่หวั่นไหว ซึ่งถือเป็นแก่นสาระของพระสูตรนี้เลยทีเดียว

ไม่ยึดในลักษณะ หมื่นธรรมล้วนว่างเปล่า ดำรงในตถตาโดยไม่หวั่นไหว ก็คือความกลมสมบูรณ์ที่เสรีภาพนั่นเองแล

ใจมีความเป็นดั่งกระจก : บนบานกระจก ยามวัตถุมาก็เกิดภาพ ยามวัตถุไปภาพก็หาย ซึ่งกระจกจะไม่มีการยึดหรือละต่อภาวะที่ไปหรือมาแต่อย่างใด โดยกระจกก็ยังคงเป็นกระจก อันเหมือนดั่งตถตาภาพแห่งเรา ที่ยังคงเป็นดั่งที่เป็นอยู่ โดยหาได้ผกผันไปตามภาวะที่ประสบไม่

...(วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร, พระสงฆ์จี้กงอรรถาธิบาย, อมร ทองสุก-แปล, สนพ.ชุณหวัตร)

หลับยืนตื่นรู้ เป็นสองด้านของจิตใจ หรือสองด้านของชีวิต เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

หากเปรียบเทียบจิตใจเหมือนตะวัน...ตะวันมีเมฆหมอก ก็คือหลับยืน หรือสังขาร หรือเศร้าหมอง...ตะวันไร้เมฆหมอก ก็คือตื่นรู้ หรือวิสังขาร หรือผ่องใส

ความฝัน (และมายา ฟองน้ำ รูปเงา นิศาชล อสนี) คือสิ่งเท็จ เป็นจิตด้านหลับยืน

เอกพินิจ หรือธรรมญาณ หรือความว่าง คือสิ่งจริง เป็นจิตด้านตื่นรู้

ชีวิตนี้แม้จะเป็นอยู่ ต่ำ-กลาง-สูง อย่างไร ก็แค่ความฝัน เป็นสิ่งเท็จ หลอกลวงกันไป มุสากันไป อยู่ในภาวะหลับยืน ละเมอเพ้อฝันเป็นส่วนมาก ส่วนตื่นรู้สิ่งจริงนั้นมีเป็นส่วนน้อย ทั้งที่เป็นจุดหมายหรือสิ่งสูงสุดของชีวิต โดยเฉพาะชีวิตแบบพุทธธรรม

“เป็นอยู่อย่างไร

ย่อมไปอย่างนั้น

สูงสุดสามัญ

เพียงฝันหลับยืน”

หลับยืนตื่นรู้ เป็นอยู่สองด้าน ดั่งเทพกับมาร บรรสารหนึ่งเดียว...หลับยืนตื่นรู้ คือผู้รู้ตัว จะดีหรือชั่ว เพราะตัวทำเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น