xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : กรณียเมตตสูตร สูตรแห่งเมตตาและการรู้จักสงบใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในความเจริญของประเทศชาติ ความวุ่นวายสับสนในการดำเนินชีวิตย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติ สารพัดสิ่งที่ถั่งโถมเข้ามาสู่วิถีชีวิต ล้วนเป็นไปตามกลไกของสังคมที่ตนเกี่ยวข้อง ผู้ที่สามารถดำเนินชีวิตเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กำลังประสบอยู่ได้ ย่อมจะมีความเข้มแข็ง ในการก้าวเดินไปสู่จุดหมายของชีวิตที่ตนปรารถนา แต่ก็มีหลายคนที่หยุดชีวิตของตนด้วยการท้อแท้ หมดอาลัยในชีวิต

การเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การรู้จักสงบใจในยามเผชิญสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นธรรมราชา ทรงเข้าใจซึ้งในโลกธรรม ทรงศึกษาพุทธธรรม แล้วทรงนำมาปฏิบัติพระราชกิจด้วยทศพิธราชธรรม อย่างมีประสิทธิภาพ พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ความตอนหนึ่ง ทรงแนะนำถึงหลักการสงบใจไว้ดังนี้

“...คนโดยมาก แม้ผู้ที่เคยฝึกฝนมาให้เป็นคนหนักแน่นแล้วก็ตาม บางครั้งเมื่อต้องประสบเหตุ ประสบปัญหากระทบกระเทือนอย่างหนักเข้า ก็อาจบังเกิดความหวั่นไหว หรือสับสนฟุ้งซ่านได้ และเมื่อเกิดหวั่นไหวฟุ้งซ่าน ความคิดสติปัญญาก็จะสั้น หรือดับวูบลง ความหลงและอคติก็เข้ามาแทนที่ ทำให้จนปัญญา คิดไม่ออก ทำไม่ถูก และที่สุดก็อาจผิดพลาดเสียหายได้ต่างๆ

ท่านจึงสอนให้ทุกคนรู้จักสงบใจ คือบังคับใจให้หยุดคิดเรื่องที่กำลังคิด และกำลังทำให้ฟุ้งซ่านหรือสับสนอยู่นั้น เสียชั่วขณะ เมื่อหยุดคิดสับสนได้ ก็จะอำนวยโอกาสอันประเสริฐ ให้สติ ความระลึกรู้ และปัญญา ความเฉลียวฉลาด กลับคืนมาใหม่ ช่วยให้ใจแจ่มใส หนักแน่น เข้มแข็งเข้า ความคิดเห็นก็เข้ารูปเข้ารอย คือมีความเที่ยงตรง เป็นกลาง สุขุม ปราศจากอคติ สามารถพิจารณาเห็นเหตุเห็นผลได้กระจ่างแจ่มชัด หาทางปฏิบัติได้ถูกต้อง พอเหมาะพอดี ถึงขั้นนี้ ปัญหาทั้งปวงก็จะคลี่คลาย เรื่องที่จะเสียหายก็จะแก้ได้ตก กลับกลายเป็นดีโดยตลอด...”


การรู้จักสงบใจ ที่ทรงแนะนำนี้ สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ใน “กรณียเมตตสูตร” ที่พระสงฆ์ ใช้สวดย่อต่อจากบท “รตนสูตร” เมื่อทำน้ำพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว จะขอนำวิธีสงบใจของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ มาพรรณนาให้เกิดปัญญาควรแก่การนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตสืบไป

กรณียเมตตสูตร ได้พรรณนาว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงกรรมฐานแก่พระสงฆ์ ตามจริตนิสัย มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง จำนวน ๕๐๐ รูป ได้เรียนกรรมฐานจนเข้าใจดีแล้ว ก็ทูลลาไปหาที่ควรแก่การปฏิบัติกรรมฐาน เมื่อไปพบภูเขาที่มีป่าไม้ร่มรื่นควรแก่การปฏิบัติธรรม ท่านก็ยินดี กอปรกับมีชาวบ้านนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาเป็นเนื้อนาบุญด้วย พระสงฆ์กลุ่มนี้จึงจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้

ธรรมดาของต้นไม้ใหญ่ ย่อมมีวิมานรุกขเทวดาอยู่ เมื่อพระสงฆ์มาอาศัยที่โคนต้นไม้ รุกขเทวดาก็ต้องพาครอบครัวลงมาอาศัยอยู่ที่พื้นดิน เมื่อทราบว่าพระสงฆ์จะอยู่จำพรรษา ณ ที่แห่งนี้ รุกขเทวดาต่างปริวิตกถึงความลำบากของตน แล้วมีมติร่วมกันว่าต้องหาทางให้พระสงฆ์หนีไปอยู่ที่อื่น

ดังนั้น ยามกลางคืน ในขณะที่พระสงฆ์กำลังทำกรรมฐานอยู่ รุกขเทวดาก็เนรมิตกายตนเป็นรูปยักษ์พร้อมส่งเสียงที่น่าหวาดกลัว ไปหลอกพระสงฆ์ จนพระสงฆ์ไม่อาจทำจิตใจให้เป็นกรรมฐานได้เพราะความกลัว มีร่างซูบผอม รู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็นสาบติดจมูก เป็นโรคปวดศีรษะมากขึ้น

ประธานสงฆ์ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของพระสงฆ์ จึงประชุมสงฆ์สอบถามเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อทราบความแล้ว จึงตัดสินใจนำคณะกลับไปหาพระพุทธเจ้า

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเห็นพระสงฆ์คณะนี้มาเข้าเฝ้าในพรรษา ก็ตรัสถามถึงสาเหตุ เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงสอนธรรมะให้พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้สงบใจลง แล้วตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่เป็นสัปปายะที่อื่นสำหรับพวกเธอไม่มีดอก พวกเธออยู่ในที่นั้นนั่นแหละ จักบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละอยู่กันเถิด แต่ถ้าว่าพวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลาย ก็จงพากันเรียนพระปริตรนี้ ด้วยว่าพระปริตรนี้จักเป็นเครื่องป้องกัน และจักเป็นกรรมฐานสำหรับพวกเธอ”

แล้วทรงสอนกรณียเมตตสูตรแก่พระสงฆ์กลุ่มนี้ เนื้อความแห่งกรณียเมตตสูตร มีความว่า

“กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบแล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบระงับ มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้

พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ผอมหรือพี และสัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ที่เราเห็นแล้วหรือมิได้เห็น อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด

สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหนๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ เพราะความเคียดแค้น มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น

ก็กุลบุตรนั้น พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น

บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหาร ในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ กุลบุตรผู้เจริญเมตตา ไม่เข้าไปอาศัยทิฐิ เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมด้วยทัศนะ กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แลฯ”


แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า “ไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอยู่ในราวป่านั้นนั่นแหละ และจงเคาะระฆังในวันธรรมสวนะ ๘ วันต่อเดือน แล้วจงสวดพระสูตรนี้ จงทำธรรมกถากล่าวธรรม สนทนาธรรม อนุโมทนากัน จงซ่องเสพ เจริญทำให้มากซึ่งกรรมฐานนี้นี่แหละ พวกอมนุษย์แม้เหล่านั้นจักไม่แสดงอารมณ์น่าสะพรึงกลัวนั้น จักเป็นผู้หวังดี หวังประโยชน์แก่พวกเธอแน่แท้”

ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ก็กลับไปในราวป่านั้น แล้วทำตามที่ทรงสอนทุกประการ

รุกเทวดาทั้งหลายเกิดปีติโสมนัสว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ช่างหวังดีหวังประโยชน์แก่พวกเรา ก็พากันเก็บกวาดเสนาสนะเอง จัดแจงน้ำร้อน นวดหลัง นวดเท้า จัดวางอารักขาไว้ บรรดาภิกษุก็พากันเจริญเมตตา เริ่มวิปัสสนาแล้วก็บรรลุพระอรหัตทุกรูป ในไตรมาสนั้นนั่นเอง

ในคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสให้พระสงฆ์กลุ่มนี้ท่องทบทวน จะมีลักษณะของพระสงฆ์ที่ควรเป็นอยู่ ๑๕ ประการ คือ ๑. ผู้อาจหาญ ๒. ผู้ตรง ๓. ซื่อตรง ๔. ว่าง่าย ๕. อ่อนโยน ๖.ไม่เย่อหยิ่ง ๗. สันโดษ ๘. เลี้ยงง่าย ๙. มีกิจน้อย ๑๐. มีความประพฤติเบา ๑๑. มีอินทรีย์อันสงบระงับ ๑๒. มีปัญญา เครื่องรักษาตน ๑๓.ไม่คะนอง ๑๔.ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย ๑๕. ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้ และข้อควรปฏิบัติ ๑ ข้อ คือ ๑๖. แผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าทรงทำให้พระสงฆ์สงบใจแล้ว ทรงเน้นให้พระสงฆ์ตระหนักถึงภาวะที่ควรจะเป็น ซึ่งนี้คือผลของการปฏิบัติกรรมฐาน ทรงสอนให้พระสงฆ์แผ่ไมตรีจิตหรือแผ่เมตตา ด้วยถ้อยคำอันวิจิตร ย่อมนำให้พระสงฆ์เกิดความมั่นใจในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ที่มองเห็นและมองไม่เห็น เมื่อพระสงฆ์นำกรณียเมตตสูตร มาท่องบ่นเป็นประจำ ย่อมนำให้ท่านมีความเข้าใจในผลแห่งการปฏิบัติธรรม และเชื่อมั่นในไมตรีจิตที่ท่านมีต่อผู้อื่น ทำให้ท่านได้พบสัจธรรม ดำรงอรหัตตผลได้ในที่สุด

ถ้าเราสามารถรู้จักสงบใจ เราก็สามารถก้าวข้ามสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้เสมอ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย พระครูพิศาลสรนาท วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น