xs
xsm
sm
md
lg

กรรมตามทันทุกราย! เรื่องสลดใจที่สุดของวงการสงฆ์ สุดยอดคำพิพากษาโดยศาลทหาร!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

พระพิมลธรรม
เรื่องของวงการสงฆ์ ซึ่งน่าจะเป็นวงการที่ปราศจากกิเลศ มีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ใช่เข้ามาเพื่อหวังตำแหน่ง ยศ หรือกอบโกยความมั่งคั่งเหมือนอย่างเห็นๆกันในวันนี้ ในอดีตก็เคยเกิดคดีสลดใจอย่างใหญ่หลวงขึ้น เมื่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ประกอบแต่กุศลกรรม ถูกยัดเยียดข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ฝึกอาวุธเพื่อล้มล้างรัฐบาล ถูกดึงผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่าง ซึ่งศาลทหารระบุชัดฟันธงว่า เกิดจากการอิจฉาริษยากันในวงการสงฆ์

พระเถระผู้ตกเป็นเหยื่อของความริษยาในคดีนี้ ก็คือ พระพิมลธรรม แห่งวัดมหาธาตุ ที่มีผู้คนเคารพนับถือกันมากมาย เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ไพศาลทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่กลับต้องตกเป็นจำเลยในศาลทหาร ถูกถอดสมณศักดิ์และจับสึก แต่พระพิมลธรรมก็ไม่ยอมสึก ปฏิญาณว่าจะครองเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต แม้จะถูกดึงผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่างกาย ก็ยังบำเพ็ญตนเป็นสมณะอยู่ตลอดเวลา ๔ ปีที่ถูกคุมขัง จนเมื่อศาลตัดสินว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงครองผ้าเหลืองเองออกจากศาล ท่ามกลางความยินดีของหมู่สงฆ์และฆราวาส

พระพิมลธรรมมีชื่อเดิมว่า อาจ ดวงมาลา เป็นชาวขอนแก่น เกิดที่บ้านดงกลาง อำเภอเมืองเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ เริ่มศึกษาที่วัดข้างบ้าน จนอายุ ๑๓ จึงบวชเป็นสามเณร และเดินทางมาศึกษาปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ จนอายุครบ ๒๐ ก็อุปสมบทที่วัดมหาธาตุนั้น

ใน พ.ศ.๒๔๗๒ สอบได้นักธรรมเอกและเปรียญ ๘ ประโยคพ.ศ.๒๔๗๔ ได้รับคัดเลือกให้เป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้มีคุณวุฒิดี ไปอบรมเผยแพร่ศาสนาทั่วประเทศ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๒๘ ปี และเป็น มหาอาจ อาภสโร ปีต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด และยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑล ซึ่งท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น

ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระศรีสุธรรมมุนี และเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม

ปี พ.ศ.๒๔๗๒ ได้รับสมณศักดิ์ชั้นราช ที่ พระราชสุธรรมมุนี

ปี พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นเจ้าคณะภาค ๔

ปี พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นสังฆมนตรี ช่วยว่าการองค์การศึกษา พร้อมกับได้เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง มีหน้าที่ควบคุมการสอบของพระภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักร

ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นเทพ ที่ พระเทพเทวี และในปีนี้เองที่ท่านได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้รุดหน้า โดยเปิดสอบพระปริยัติธรรมขึ้นในสหพันธ์รัฐมาลายา ซึ่งก็คือประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการสอบพระปริยัติธรรมในต่างแดนเป็นครั้งแรก

ปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระธรรมไตรโลกาจารย์

ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรม

ในช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุนี้ พระพิมลธรรมได้เปิดโรงเรียนมหาธาตุวิทยาลัยขึ้น สอนภาษาบาลีและสันสกฤตให้ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ประชาชนใกล้ชิดกับสงฆ์มากขึ้น เมื่อได้ผลดีจึงได้เสนอรัฐบาลขอตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกขึ้น ก็คือ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

นอกจากนี้พระพิมลธรรมยังได้ก่อตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นอีก เพื่ออบรมกุลบุตรกุลธิดาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๔ พระพิมลธรรมได้ตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นในวัดมหาธาตุ และอาราธนาเจ้าคุณภาวนาภิราม จากวัดระฆังโฆสิตาราม มาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ให้พระภิกษุวัดมหาธาตุเข้าอบรมปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นพระอาจารย์เผยแพร่ต่อไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์และสำนักวิปัสสนากรรมฐานได้รับความนิยมอย่างยิ่ง มีภิกษุสามเณรรวมทั้งประชาชนเข้าศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนครูอาจารย์ไม่พอ พระพิมลธรรมจึงส่งพระมหาชาดก ซึ่งต่อมาคือพระราชสิทธิมุนี อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาแทนเจ้าคุณภาวนาฯซึ่งมรณภาพ ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศพม่า ส่งพระมหาบำเพ็ญ สามเณรไสว สามเณรทอง และสามเณรเทพไปศึกษาปริยัติธรรมที่พม่าเช่นกัน ส่งพระมหาชูศักดิ์ไปประเทศลังกา ส่งพระมหามนัส พระมหานคร และพระมหาสังเวียนไปศึกษาที่อินเดีย ส่งพระกวีวรญาณไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาปริญญาโททางด้านปรัชญา

สำหรับพระภิกษุจากต่างจังหวัดซึ่งได้รับการอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนมีความรู้จัดเจนแล้ว ก็ส่งกลับไปวัดเดิม ให้เปิดสำนักวิปัสสนาขึ้นในจังหวัด ซึ่งต่อมาไม่ได้แพร่ไปแค่ในราชอาณาจักรเท่านั้น ยังไปถึงลาว เขมร มาเลเซีย อังกฤษ เยอรมัน จนขอตั้งเป็น “กองวิปัสสนา” ขึ้นในองค์การปกครองขึ้นด้วย

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๕ พระพิมลธรรมได้เป็นผู้ช่วยชำระพระอภิธรรมปิฎกฉบับสยามรัฐ ซึ่งยังใช้เป็นหลักอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งยังชำระหนังสือกังขาวิตระณี ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้ศึกษาในชั้นเปรียญธรรม รวมทั้งเป็นหัวหน้าแปลพระอภิธรรมปิฎกด้วย

ในปีเดียวกันนี้ พระพิมลธรรมยังได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยนำพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐไปมอบให้คณะสงฆ์พม่า จนปีต่อมาสมเด็จพระสังฆราชพม่าได้ส่งสารเชิญให้คณะสงฆ์ไทยไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับพม่า ซึ่งพระพิมลธรรมได้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยไปในนามสมเด็จพระสังฆราช และได้รับความชื่นชมจากองค์การสงฆ์ของพม่าจนได้เชิญติดต่อกันมาทุกปี และใน พ.ศ.๒๕๐๒ องค์การสงฆ์ของพม่าได้ประกาศเกียรติคุณพระพิมลธรรมเป็น “อรรคมหาบัณฑิตแห่งพม่า”

ใน พ.ศ.๒๕๐๑ คณะสงฆ์ไทยได้เลือกพระพิมลธรรมเดินทางไปประชุมขบวนการส่งเสริมศีลธรรม ที่เรียกกันว่า “ขบวนการ เอ็ม.อาร์.เอ.” ที่สหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งยังได้เดินทางต่อไปอีกหลายประเทศ รวมทั้งเยอรมัน ซึ่งที่เมืองรัวส์ รัฐเอสเสน พระพิมลธรรมพร้อมด้วยผู้ติดตาม มี นายเสริม สุขสม ผู้ดูแลนักเรียนไทยในเยอรมันตะวันตก นายวิรัช บุญประสิทธิ์ และพระมหามนัส พวงลำเจียก ได้รับเชิญให้ลงไปชมเหมืองถ่านหิน ซึ่งทุกคนที่ลงไปจะต้องแต่งชุดป้องกันฝุ่นพิษ พระพิมลธรรมจึงต้องสวดชุดของเหมืองทับผ้ากาสาวพัตร์ไว้

รูปถ่ายในชุดของเหมืองถ่านหินนี้เอง ได้เป็นหลักฐานสำคัญในการฟ้องพระพิมลธรรมในเวลาต่อมา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เซ็นคำสั่งให้สึกพระพิมลธรรม ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวพร้อมทั้งเปิดเผยรูปพระพิมลธรรมในชุดนุ่งกางเกง สวมหมวก ใส่แว่นดำ ในชุดที่ลงไปชมเหมือง แล้วว่า

“รูปนี้ก็ขาดจากพระภิกษุสงฆ์แล้วไม่ใช่หรือ?”

เหตุการณ์อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “คดีพระพิมลธรรม” เกิดจากการแต่งตั้งสังฆมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ หลังจากพระศาสนโสภณ (จวน อุฏฐายี) เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก ซึ่งสังฆมนตรีชุดนี้ไม่มีชื่อพระพิมลธรรมที่เป็นสังฆมนตรีติดต่อมาหลายสมัย และมีผลงานเป็นที่ศรัทธาของทั้งสงฆ์และฆราวาสมากมาย

ความแคลงใจในเรื่องนี้ทำให้ชาวพุทธนึกย้อนหลังไปเมื่อ ๗ ปีก่อน ครั้งที่พระศาสนโสภณได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ แต่พระฝ่ายมหานิกาย ๔๗ รูปได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้ทบทวนการแต่งตั้งครั้งนี้ ว่าเป็นการทับเศียร สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกาย เป็นผลให้พระศาสนโสภณต้องลาออกจากตำแหน่ง

และในจำนวนพระฝ่ายมหานิกาย ๔๗ รูปนี้ ปรากฏว่าพระพิมลธรรมได้ร่วมเซ็นชื่อด้วย โดยเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในจำนวนนั้น

ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๐๓ พระพิมลธรรมได้เดินทางไปในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าคณะจังหวัดตรัง หลังจากนั้นก็เดินทางไปเยี่ยมคณะสงฆ์ในจังหวัดอื่นๆ อีกหลายวัด แต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ได้มีใบปลิวเถื่อนออกมาติดไว้ตามที่ต่างๆในวัดมหาธาตุและแจกจ่ายไปตามวัดต่างๆ ข้อความในใบปลิวนั้นสรุปความได้ว่า การแต่งตั้งสังฆมนตรีครั้งนี้ไม่ยุติธรรม สมเด็จพระสังฆราชสติไม่สมบูรณ์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายกและเจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ แห่งวัดสามพระยา กำลังคิดจะล้มล้างมหานิกาย เอาธรรมยุตมากดมหานิกาย สมควรที่พระเถระผู้ใหญ่ควรร่วมมือกันลงชื่อขับสมเด็จพระสังฆราชและสังฆมนตรีให้พ้นตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งกันใหม่
พระพิมลธรรมได้กลับมาเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม เมื่อได้ทราบเรื่องใบปลิวและความไม่พอใจเกี่ยวกับการตั้งสังฆมนตรีของคณะสงฆ์ ก็ได้ห้ามปรามพระภิกษุสามเณรวัดมหาธาตุไม่ให้ร่วมเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับตั้งข้อสงสัยว่า ใบปลิวเหล่านี้อาจพิมพ์ออกมาจากแม่กองธรรมที่อยู่ในความควบคุมของพระพิมลธรรม ในที่สุดสันติบาลก็สืบได้ว่าผู้ที่ทำใบปลิวนี้ก็คือพระภิกษุแห่งวัดจักรวรรดิราชาวาส จึงจับกุมส่งฟ้องศาล ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระพิมลธรรมเลย

แต่กระนั้น พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์ ผู้ควบคุมคดีนี้ ก็ทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสอบสวน ขออนุมัติจับพระพิมลธรรมในข้อหาเกี่ยวกับใบปลิว แต่ พ.ต.อ.เอื้อ เอมะปานไม่ยอมอนุมัติ เพราะไม่มีหลักฐานพยานใดๆเลย
ในวันที่ ๓ กันยายน ชาวพุทธก็ต้องตื่นตะลึงกันอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายก ได้มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า ทางตำรวจสันติบาลได้นำพยานมายืนยันว่าพระพิมลธรรมเสพเมถุนทางเวจมรรค และทำอัชฌาจารย์ปล่อยสุกกะ มายื่นคำยืนยันต่อกรมการสงฆ์ จึงเห็นว่าพระพิมลธรรมต้องศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้ว ไม่สมควรครองเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนา และไม่ควรดำรงสมณศักดิ์ต่อไป

วันที่ ๘ กันยายน สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงมีบัญชาถึงพระพิมลธรรม ขอให้พิจารณาตนด้วยตน ขอให้ออกจากสมณเพศหลบหายตัวไปเสีย และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ภายในกำหนด ๑๕ วัน

พระพิมลธรรมและคณะกรรมการสงฆ์วัดมหาธาตุได้ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช และถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรม จนถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม พระธรรมรัตนากรเจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม สังฆมนตรีองค์การปกครอง จึงมีหนังสือถึงพระพิมลธรรม ว่าสมเด็จพระสังฆราชมีบัญชาให้แก้ข้อกล่าวหาภายใน ๕ วัน แต่ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พระพิมลธรรมจึงมีหนังสือถึงพระธรรมรัตนากร ขอเลื่อนเวลายื่นไปเป็นวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน อ้างว่าสุดวิสัยที่จะทบทวนความทรงจำมาแถลงอย่างละเอียดได้ ซึ่งสังฆมนตรีองค์การปกครองก็ได้มีหนังสือตอบมาในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ให้เลื่อนไปตามคำขอได้ แต่ในวันเดียวกันนั้นอธิบดีกรมการศาสนาก็ได้แจ้งมาว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงมีบัญชาให้พระพิมลธรรมออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคมนั้นเป็นต้นไป พระพิมลธรรมจึงทำหนังสือชี้แจงไปยังอธิบดีกรมการศาสนาว่า ได้รับอนุญาตจากสังฆมนตรีให้เลื่อนกำหนดไปถึงวันที่ ๑๐พฤศจิกายนแล้ว ขอให้ระงับพระบัญชาไว้ก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม อธิบดีกรมการศาสนามีหนังสือตอบมาอีกว่า ได้นำความ

กราบทูลแล้ว มีพระบัญชาว่า

“บัญชาของผู้สูงสุด ย่อมระงับคำสั่งที่ต่ำกว่าเสมอ ขอยืนยันตามบัญชานั้นไม่เปลี่ยนแปลง”

แม้พระพิมลธรรมจะมีหนังสือโต้แย้งไปยังสังฆมนตรีองค์การปกครองว่า การลงโทษครั้งนี้เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ทันได้แก้ข้อกล่าวหาตามกำหนด อีกทั้งพระภิกษุสามเณรวัดมหาธาตุ ๔๖๕ รูปได้ลงชื่อคัดค้านการปลดพระพิมลธรรม และประกาศจะไม่ยอมรับเจ้าอาวาสองค์ใหม่ก็ตาม แต่ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้เซ็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ถอดพระพิมลธรรมออกจากสมณศักดิ์
ในระหว่างนี้ พระพิมลธรรมก็ยื่นฟ้องนายวีรยุทธ วัฒนานุสรณ์ ผู้ที่ไปให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยข้อหากล่าวใส่ร้าย แจ้งความเท็จ และหมิ่นประมาทเรื่องเสพเมถุน ซึ่งนายวีรยุทธก็ไปรับสารภาพกับศาลเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๐๓ ว่าพระพิมลธรรมไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามที่ตนใส่ร้ายและกราบขอขมาโทษที่ได้ทำไป ศาลจะลงโทษนายวีรยุทธแต่พระพิมลธรรมก็ถอนฟ้องให้

ในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๔ ก่อนเที่ยงเล็กน้อย คนแถวท่าพระจันทร์ก็แตกตื่นไปตามกัน เมื่อรถวิทยุทั้งกองปราบและสารวัตรทหารมากมาย เข้าล้อมจับพระพิมลธรรมที่กุฏิ ด้วยข้อหากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

ท่ามกลางเหตุการณ์อกสั่นขวัญแขวน เสียงร่ำไห้ระงมรอบด้าน พระพิมลธรรมไม่ได้แสดงอาการสะทกสะท้าน ขอเวลาตำรวจเขียนสั่งงานที่คั่งค้าง และปลอบใจให้ทุกคนอย่าเสียใจ ให้ดีใจว่าได้สิ้นเวรกรรมกันเสียที
ในวันเดียวกัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายก ก็สั่งการให้สังฆมนตรีองค์การปกครอง ตามไปจัดการสึกพระพิมลธรรมที่สันติบาลในค่ำวันนั้น โดยอ้างว่า “เพื่อรักษาความปลอดภัยแห่งชาติและพระศาสนาไว้”
เมื่อจำใจต้องถูกจับสึกและจำขังอยู่ที่สันติบาล พระพิมลธรรมได้เขียนคำปฏิญาณถึงเจ้าคณะจังหวัดพระนครให้เป็นสักขีพยานด้วยว่า

ตึกสันติบาล กอง ๑

๒๐ เมษายน ๒๕๐๔

เรียน ท่านเจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร

ตามหนังสือของกระผมถึงเจ้าคุณ ฉบับที่ ๑ เรื่องขอความกรุณาและขอความเป็นธรรมให้กระผมได้อยู่ต่อสู้คดีในสมณเพศจนถึงที่สุดเสียก่อน ดังมีความพิสดารแจ้งอยู่แล้วนั้น กระผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า ท่านเจ้าคุณก็ดี หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปก็ดี ไม่เมตตากรุณาให้ความเป็นธรรมแก่กระผมตามที่ได้ขอความกรุณาแล้ว กระผมก็จะขอความกรุณาอีก คือไม่ยอมสึกตามข้อบังคับอันไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายนั้น จะขอยอมเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัยตลอดไปจนถึงที่สุด ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดลุอำนาจเข้าแย่งผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่างกายของกระผมแล้วไซร้ กระผมจะถือว่าท่านผู้นั้นแย่งชิงโดยผิดศีลธรรม และกระผมจะยังปฏิญาณตนเป็นพระภิกษุในศาสนาอยู่ตลอดไป ถึงแม้จะมีผู้มีใจทารุณโหดร้ายมาแย่งชิงผ้ากาสาวพัสตร์ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณผู้รู้เห็นอยู่ ณ ที่นี้ โปรดทราบและเป็นสักขีพยานให้กระผมตามคำปฏิญาณนี้ด้วย

อาสภเถระ

จากนั้น พระพิมลธรรมก็นั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้หลับตา มือนับลูกประคำ ไม่รับรู้ต่อการกระทำของผู้มีอำนาจใดๆ พระธรรมคุณาภรณ์ผู้ได้รับคำสั่งมาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เดินเข้าไปยกมือไว้ และพระธรรมหาวีรานุวัติ สังฆนตรี วัดไตรมิตร เข้าไปกราบที่ตัก แล้วช่วยกันเปลื้องจีวรออกจากร่างพระพิมลธรรมซึ่งยังนั่งสำรวมจิตอย่างสงบต่อไป

หลังจาก “จับไว้ก่อน” ตำรวจสันติบาลก็วิ่งหาหลักฐานมายื่นฟ้องพระพิมลธรรม แต่ก็หาหลักฐานมายืนยันข้อกล่าวหาไม่ได้ ขอไปทางฝ่ายสงฆ์ซึ่งเป็นฝ่ายที่ยื่นเรื่องให้สันติบาลดำเนินการกับพระพิมลธรรม ก็ไม่มีหลักฐานให้ นอกจากพยานที่อุปโลกน์กันขึ้นมาซึ่งไปรับสารภาพผิดกับศาลแล้ว จอมพลสฤษดิ์ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจที่สั่งจับไปตามคำเรียกร้องของฝ่ายสงฆ์ ถึงกับกราบทูลถามสังฆราชเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายนว่า

“...คณะสงฆ์ได้แจ้งก่อนหน้านี้ว่ามีหลักฐานพร้อมมูล แต่จนป่านนี้ไม่มีอะไรมาให้เลย ทำอย่างนี้เกล้ากระหม่อมเสียชื่อมาก...”

ในที่สุดพระพิมลธรรมก็ตกเป็นจำเลยของศาลทหาร เพราะยุคที่จอมพลสฤษดิ์ครองเมืองได้ประกาศกฎอัยการศึกคลุมไว้ ข้อหาที่ตั้งขึ้นมานั้นสาธุชนทั้งหลายต่างตกตะลึงและขำจนหัวเราะไม่ออก ไม่น่าเชื่อว่าคนที่บวชเรียนมาตั้งแต่เด็กจนเข้าวัยชรา เป็นที่นับถือศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก จะถูกกล่าวหาเช่นนั้นได้ เช่น
ตระเตรียมสถานที่ฝึกอาวุธ เพื่อก่อวินาศกรรมล้มล้างรัฐบาลและการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
จีนคอมมิวนิสต์ได้ส่งพลพรรคเข้ามาในประเทศไทยและตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายสงฆ์ขึ้น โดยมีพระพิมลธรรมเป็นหัวหน้าตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นหลอกลวงประชาชน โดยไม่ถูกตามหลักพระพุทธศาสนากล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าเป็นจอมโกหกแต่งกายเป็นฆราวาสลงไปเที่ยวเหมืองถ่านหิน
หลักฐานสำคัญที่ฝ่ายโจทก์นำเสนอต่อศาลประกอบข้อกล่าวหาร้ายแรงนี้ ก็คือ รูปที่พระพิมลธรรมแต่งชุดของเหมืองถ่านหิน และรูปถือปืน ซึ่งโจทก์กล่าวว่าพระพิมลธรรมไปฝึกซ้อมยิงเพื่อทำปฏิวัติที่บ้านขุนจำนงภูมิเวท อำเภอชะอำ

แต่ความจริงก็คือขุนจำนงฯเอาปืนลมมายิงเล่นที่บ้านพัก และส่งปืนให้พระพิมลธรรมดู พระพิมลธรรมก็รับมาถือ เณรได้ถ่ายรูปนี้เก็บไว้ที่กุฏิ ตำรวจไปค้นเจอเลยเอามาเป็นหลักฐานฟ้องว่าฝึกอาวุธเพื่อล้มล้างรัฐบาล
ส่วนพยานบุคคลที่โจทก์เอามาสืบพยานเกือบทุกคน เช่นนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานศาลฎีกาและนายกสมาคมพุทธศาสนิกชน ต่างก็ให้การยืนยันในความบริสุทธิ์ของจำเลยทั้งสิ้น มีแต่ พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์ ผู้ควบคุมคดี ซึ่งเบิกความกล่าวหาจำเลยทุกข้อโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆมายืนยัน เพียงแต่อ้างมาลอยๆเท่านั้น แม้แต่พยานเอกสารและคำให้การบางอย่างที่เอามาเสนอต่อศาล ก็เกิดจากความเข้าใจผิดของตัวเองไปในทางตรงกันข้าม

ในที่สุด หลังจากถูกควบคุมตัวอยู่ที่สันติบาลตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๕ โดยถูกพรากผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่างเป็นเวลาถึง ๔ ปีเศษ ศาลทหารกรุงเทพฯ ก็ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙ ยกฟ้องพระพิมลธรรมทุกข้อหา ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ในคำพิพากษาที่สรุปตอนท้าย ศาลได้ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของพระพิมลธรรมไว้อย่างน่าสลดใจว่า

“ตามที่ศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฟ้องและกล่าวหามาหลายข้อหลายประเด็นนี้ มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ก็ไม่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานใดเลยที่พอจะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือน่าจะกระทำผิด การจับกุมคุมขังจำเลยนี้ ย่อมเป็นที่เศร้าหมองและน่าสลดใจในวงการสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมาก ท่านประธานศาลฎีกาก็ดี พระเถระทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยก็ดี ซึ่งเป็นพยาน ต่างก็กล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบแต่กุศลกรรม กระทำกิจพระศาสนาแผ่ไพศาลไปทั้งในและนอกประเทศ ทั้งในทางพระปริยัติศาสนา และปฏิบัติศาสนา มีผลประจักษ์ชัดเป็นหลักฐานมาก ไม่เชื่อว่าได้กระทำผิด แต่กลับต้องมาถูกออกจากเจ้าอาวาส ถูกถอดจากสมณศักดิ์ ถูกจับกุม ถูกบังคับให้สละเพศพรหมจรรย์ นับว่ารุนแรงที่สุดสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ พระธรรมโกศาจารย์ถึงกับกล่าวว่า “คิดได้อย่างเดียวว่า เกิดขึ้นเพราะความอิจฉาริษยากันในวงการสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรรมเก่าของจำเลยเท่านั้นเอง

พันโทประเสริฐ สุดบรรทัด ผู้ฝักใฝ่ในธรรมผู้หนึ่งก็กล่าวว่า ตามที่จำเลยต้องคดีนี้ ได้สืบสวนด้วยตัวเอง ทราบเบื้องหลังโดยตลอด แต่จะเบิกความก็เกรงจะเป็นการกระทบกระเทือนแก่วงการพระภิกษุสงฆ์และพระศาสนา ขอสรุปว่ามูลกรณีทั้งหลายตามที่ทราบความจริงมา จำเลยถูกกลั่นแกล้งโดยไม่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ได้กระทำผิดตามกล่าวหา

ดังนั้น ศาลจึงขอให้จำเลยระลึกว่า เป็นคราวเคราะห์หรือกรรมเก่าของจำเลยเอง หรือมิฉะนั้นก็เป็นการสร้างบาปกรรมของคนมีกิเลศ ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด แต่เป็นความผิดของสังสารวัฏเอง ศาลนี้รู้สึกสลดใจและเห็นใจจำเลย แต่เชื่อว่าจำเลยซึ่งอบรมอยู่ในพระศาสนามานาน คงจะซาบซึ้งดีในอุเบกขาญาณที่ว่า สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย ทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตาม ก็จะเป็นกรรมทายาท รับผลของกรรมนั้น และคงจะตั้งอยู่ในคุณธรรมอันเป็นลักษณะของบัณฑิตในพระศาสนาสืบไป”
ในวันอ่านคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพฯ นั้น กองงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม หน่วยงานของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามสถานการณ์โดยตลอด และได้เขียนรายงานเรื่องนี้ไว้ว่า

สังเกตการณ์เกี่ยวกับอดีตพระพิมลธรรม

เสนอ หน.ก.สธ.

ตามที่ท่านหัวหน้ากองได้สั่งการกระผมด้วยวาจา ให้ไปสังเกตการณ์เรื่องการตัดสินคดีอดีตพระพิมลธรรม (อาจ ดวงมาลา) ที่ศาลทหารกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๙ เวลา ๙.๐๐ น. และในวันต่อๆมา กระผมได้ไปปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว ขอรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้

๑. เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙ เวลา ๙.๐๐ น. ศาลทหารได้นัดพิจารณาตัดสินชี้ขาดคดีอดีตพระพิมลธรรม (อาจ ดวงมาลา) ซึ่งอัยการศาลทหารได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตพระพิมลธรรม ในข้อหา ยุยง แนะนำ เสี้ยมสอน โฆษณาชวนเชื่อ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ บ่อนนำลายความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ศาลได้อ่านคำพิพากษาวินิจฉัยใจความคำของโจทก์และจำเลยแล้ว ปรากฏว่า พยานโจทก์ไม่มีหลักฐานพอที่จะลงโทษจำเลยได้ และพยานของโจทก์เองบางคนก็พยายามกลั่นแกล้งปรักปรำใส่ความจำเลย ซึ่งเป็นความอิจฉาริษยากัน พยานของโจทก์บางคนก็ให้การเป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่นกล่าวว่า จำเลยเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ได้เป็นกำลังเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภายในและนอกประเทศ จึงเป็นเรื่องที่น่าสลดใจที่คดีเช่นนี้เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนา ฯลฯ ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป และหวังว่าจำเลยเป็นบัณฑิตในพุทธศาสนา คงจะตั้งอยู่ในอุเบกขาญาณ เห็นความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เรื่องนี้มิใช่ความผิดของใคร เป็นความผิดของสังสารวัฏ ต่อจากนั้น อดีตพระพิมลธรรมได้นุ่งสบงครองจีวร พาดสังฆาฏิเป็นที่เรียบร้อย เป็นที่ปลื้มปีติโสมนัสแก่พุทธบริษัทที่มาประชุมฟังการพิจารณาในครั้งนี้อย่างคับคั่ง ภิกษุสามเณรประมาณพันรูป คฤหัสถ์ประมาณ สามร้อยคน ล้นแน่นศาลไปหมด

๒. เมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ของวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙ อดีตพระพิมลธรรมได้ออกจากศาลทหารในภาพที่ทรงสมณเพศอย่างเรียบร้อย ท่ามกลางความปีติโสมนัสของพุทธบริษัท ได้มีช่างภาพทีวี ช่างภาพหนังสือพิมพ์รุมล้อมสัมภาษณ์เป็นอย่างมาก แต่เป็นเวลากะทันหันต้องไปฉันเพลที่วัดนาคกลาง ธนบุรี อดีตพระพิมลธรรมจึงขอตัวขึ้นรถไปที่วัดนาคกลาง ธนบุรี ฉันเพลแล้วเวลาบ่าย ๑๕.๒๕ นาทีได้ไปยังวัดมหาธาตุ พระนคร นมัสการพระบรมสารีริกธาตุแล้วเข้าสู่พระอุโบสถ นมัสการพระประธานในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ ได้มีพระภิกษุสามเณรทั้งในวัดและต่างวัดมาร่วมประชุมไหว้พระกันจนเต็มอาสน์สงฆ์และล้นอาสน์สงฆ์ออกมา ประมาณพระสงฆ์สักเจ็ดร้อยรูปและมีคฤหัสถ์มาร่วมประชุมประมาณสองร้อยคน เมื่อกล่าวคำนมัสการบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว พระสงฆ์สามเณรที่มาร่วมประชุมในพระอุโบสถนั้น ได้กระทำสามีจิกรรมขอขมาต่ออดีตพระพิมลธรรมเป็นเวลา ๓๐ นาที ต่อจากนั้นพระสงฆ์ได้สวดชัยมงคลคาถา ๓ จบ สวดโสอตฺถลทฺโธ ๓ จบ สวดสพฺพพุทฺธา ฯลฯ ภวตุสพฺ เป็นการอวยชัยให้พรพระพิมลธรรม

เสร็จแล้วอดีตพระพิมลธรรมได้ยืนกล่าวคำปราศรัย เล่าตั้งแต่ท่านถูกจับมาตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๕ ได้ถูกลอกคราบ คือผ้ากาสาวพัสตร์ไปโดยผู้มีอำนาจ และท่านไม่ยอมสึก แต่ต่อสู้ไม่ได้ ต้องเสียอิสรภาพถูกคุมขัง และท่านได้ใช้ขันติและเมตตาตลอดมาระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่นั้น ก็ยังปฏิญาณว่าเป็นพระภิกษุภาวะอยู่ มิได้ประพฤติการใดๆให้ผิดไปจากสมณเพศ เป็นแต่ต้องนุ่งผ้าขาวแบบสบงและอังสะ และมีผ้าคลุมเพราะอยู่ในอำนาจของเขา ส่วนจิตยังยึดมั่นในพระรัตนตรัย ขอต่อสู้ด้วยชีวิตจนถึงวันนี้ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙ เวลา ๑๐.๓๐ น. คราบคือผ้ากาสาวพัสตร์ก็ได้คืนมา ศาลได้พิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้กล่าวคำบาลีว่า ปริสุทฺโธติ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ แปลว่า ขอพระสงฆ์จงรับรองว่า ข้าพเจ้ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือจะคัดค้านประการใด พระสงฆ์ทั้งนั้นได้เปล่งเสียงสาธุขึ้นพร้อมกัน เป็นอันรับรองความบริสุทธิ์ของท่าน

ต่อจากนั้นท่านอดีตพระพิมลธรรมได้เข้าไปหาพระธรรมรัตนการ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ถวายนมัสการกล่าวคำขอขมา เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุให้โอวาทให้ระลึกถึงกรรมเวรที่สัตว์ทั้งปวงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอให้ท่านอยู่ในสังวรต่อไป และเตือนว่าขอให้มีสติและปัญญาทัดเทียมกัน อย่าให้ปัญญาเกินสติ แล้วท่านได้กราบลาเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ แจ้งว่าท่านได้อธิษฐานพรรษาอยู่ในสันติบาล จะขออยู่ในสันติบาลนั้นจนกว่าจะออกพรรษา เสร็จแล้วท่านได้ไปที่หอปริยัติ รับรองพระสงฆ์ที่มารออยู่นั้นประมาณ ๓๐๐ รูป คฤหัสถ์ประมาณ ๑๐๐ คน เวลาประมาณ ๓ ทุ่มจึงกลับสันติบาล

เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๙ เวลา ๑๖.๒๕ นาที อดีตพระพิมลธรรมได้ไปยังอุโบสถวัดมหาธาตุพบพุทธบริษัท ปรากฏว่ามีเสียงร่ำไห้ของพุทธบริษัทในพระอุโบสถเซ็งแซ่ ท่านได้ปรารภให้พุทธบริษัทฟังและท่านบอกว่าท่านไม่เดือดร้อนอะไร ท่านกลับมีความสุขสบาย ได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ท่านกล่าวธรรมกถาปลอบพุทธบริษัทให้พิจารณาอารมณ์ในแง่กรรมฐานจึงจะได้ความสุขกายสบายใจ ตอนเวลา ๑๘.๐๐ น. พระพิมลธรรมได้ลงอุโบสถสังฆกรรม ท่านได้ร่วมอุโบสถด้วยพระสงฆ์ทุกองค์ในวัดมหาธาตุมิได้มีความรังเกียจท่านแต่ประการใด

เมื่อทำอุโบสถเสร็จแล้ว พุทธบริษัทขอให้ท่านแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ และได้กล่าวคำเป็นสารายาณียกถา สนทนากับพุทธบริษัทจนถึงเวลา ๒๓.๐๐ น. กลับไปจำวัดที่สันติบาล
จึงขอเรียนท่านหัวหน้ากองเพื่อทราบ และโปรดนำเสนอกรมเพื่อทราบต่อไป

นายสิริ เพ็ชรไชย

หน.ป.ธ.ลช.

๑ ก.ย. ๒๕๐๙

การที่พระพิมลธรรมครองผ้าการสาวพัสตร์ออกจากศาลทหารในครั้งนี้ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมาก
จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ชาวไทย เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายนต่อมาว่า

“การที่นายอาจ ดวงมาลาได้ถูกสึกออกจากพระนั้นได้ทำการสึกโดยถูกต้องแล้ว ฉะนั้นเมื่อนายอาจ ดวงมาลาพ้นความผิด จึงสมควรที่จะทำการบวชเสียใหม่ให้ถูกต้องตามระเบียบ ยิ่งกว่าการที่จะสวมใส่ผ้าเหลืองเอง”
สมเด็จพระสังฆราชทรงให้ความเห็นในเรื่องที่จะขอสมณศักดิ์พระพิมลธรรมคืน โดยตรัสว่า การถอดถอนโดยพระบรมราชโองการแล้วจะขอกลับคืนมาได้หรือไม่นั้น อยู่ที่อดีตพระพิมลธรรมจะเสนอคณะกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมกับตรัสสั้นๆว่า ควรจะดำรงตำแหน่งเป็น “มหาอาจ” อย่างเดิมจะดีกว่า และเสริมว่าในปัจจุบันนี้ตำแหน่งพระพิมลธรรมก็ไม่มีอยู่ในสมณศักดิ์ทางศาสนา เพราะจอมพลสฤษดิ์ได้เสนอขอพระบรมราชโองการยุบไปแล้ว ที่ผ่านๆมาตำแหน่งพระพิมลธรรมคิดร้ายกับประเทศอยู่เรื่อย โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้อยู่ในตำแหน่งนี้เคยคิดกบฏต่อแผ่นดิน

สมเด็จพระวันรัต วัดโพธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ฉบับประจำวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๙ ว่า
“เรื่องที่ว่าจะกลับมาสู่สมณเพศจะต้องทำพิธีบวชอีกหรือไม่นั้น เรื่องนี้ก็แล้วแต่เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯจะพิจารณา ไม่จำเป็นจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม และเรื่องที่เจ้าคุณพระพิมลธรรมเคยถูกกล่าวหาว่าอาบัติปาราชิกนั้น ฉันได้ร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วยในครั้งนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นความจริง จึงได้ตัดสินไปแล้วว่าไม่มีความผิด”

นายฟุ้ง ศรีวิจารณ์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนาตอนที่พระพิมลธรรมถูกจับ ได้เปิดเผยเบื้องหลังที่มีพระบรมราชโองการถอดถอนสมณศักดิ์พระพิมลธรรมว่า

“นอกจากเหตุผลข้อเท็จจริงแล้ว ก็เป็นเจตจำนงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นโดยได้ปรารภว่า ไม่อยากให้มีตำแหน่งพระพิมลธรรม เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ชอบคิดกบฏต่อแผ่นดิน”

ส่วน พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนาในวันที่พระพิมลธรรมถูกศาลตัดสินยกฟ้อง ได้ให้ทัศนะแก่หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ฉบับประจำวันที่ ๔ กันยายนว่า

“การจับกุมพระพิมลธรรมสึกนั้น เกิดเรื่องก่อนพระราชบัญญัติสงฆ์ใช้บังคับ การที่มหาอาจร่วมทำสังฆกรรมที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุ ท่ามกลางเจ้าอาวาสและหมู่สงฆ์ในวัดนั้น ก็เท่ากับว่าหมู่สงฆ์ไม่ได้รังเกียจความเป็นพระภิกษุของมหาอาจ การพิจารณาของมหาเถระสมาคมก็ไม่อาจต้องพิจารณากันอีกแล้วก็ได้”

ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำรายงานถึงนายกรัฐมนตรี มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ฉะนั้น เมื่อพระอาจ ดวงมาลามิได้กระทำผิดวินัยสงฆ์ขั้นอุกฤษฏ์ โดยละเมิดอาบัติปาราชิก ๔ ข้อดังกล่าว และตนเองยังมีจิตใจมั่นคง มีศรัทธาแน่วแน่จะเป็นพระภิกษุอยู่ต่อไป ในระหว่างที่ถูกคุมขังก็ยังปฏิญาณตนเป็นภิกษุอยู่เช่นนี้ ตามหลักทางวินัยพุทธบัญญัติ ถือว่าพระภิกษุที่อยู่ในฐานะเช่นนั้น ไม่ขาดความเป็นพระภิกษุพุทธสาวก เช่นเดียวกับกรณีที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลถูกโจรปล้นเอาผ้าจีวรไป หรือเปลือยกายลงอาบในลำธารกลางป่า หรือตัวอย่างในพระไตรปิฎกอ้างถึงพระอุบลวรรณเถรี ถูกคนอันธพาลข่มขืนชำเรา ซึ่งพระพุทธเจ้ามีพุทธดำรัสว่าพระอุบลวรรณเถรีไม่ได้ขาดจากภาวะแห่งภิกษุณี เพราะตนเองไม่ได้มีจิตกำหนัด ไม่มีจิตยินดีในกามคุณ แต่ถูกบุคคลอื่นข่มขืน เมื่อว่าตามหลักพุทธบัญญัติดังกล่าวนี้ กรณีของพระอาจตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ จึงถือได้ว่า ถึงจะถูกเปลื้องจีวรออก ถูกบังคับให้สึก เมื่อตนเองไม่ยอมสึกก็ยังไม่สิ้นภาวะความเป็นพระภิกษุ เพราะความเป็นพระภิกษุไม่ได้อยู่ที่ผ้าจีวรอย่างเดียว แต่อยู่ที่ศรัทธาความสมัครใจ พร้อมทั้งการปฏิบัติตามพระวินัยของภิกษุ”

จากนั้น คณะศิษย์ของพระพิมลธรรมและภิกษุสามเณรจำนวน ๔,๕๘๐ รูป ได้เข้าชื่อเรียกร้องรัฐบาลขอคืนสมณศักดิ์ให้พระพิมลธรรม แม้ศาลจะชี้ขาดความบริสุทธิ์ของพระพิมลธรรมไปแล้ว พระพิมลธรรมก็ยังต้องรอคอยความยุติธรรมในวงการสงฆ์ต่อไปอีก ๘ ปี ๖ เดือน จนเมื่อสมเสด็จพระอริยวงศาคตญาน (วาสน์ วาสนมหาเถร) แห่งวัดราชบพิตร ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงมีประกาศคืนสมณศักดิ์ให้พระพิมลธรรม เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๘ ในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมเวลาที่ต้องตกอยู่ในห้วงกรรมยาวนานเกือบ ๑๔ ปี

ต่อมาในปี ๒๕๒๔ ท่านก็คืนสู่ตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และในปี ๒๕๒๘ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ปี ๒๕๓๑ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ปี ๒๕๓๒ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๒2 สิริชนมายุได้ ๘๖ ปี ๑ เดือน
คดีพระพิมลธรรม นับเป็นคดีที่สร้างความสลดใจให้พุทธศาสนิกชนยิ่งกว่าคดีใดๆที่เคยเกิดขึ้นกับพระภิกษุสงฆ์ เพราะเป็นการทำลายกันเองในวงการพุทธศาสนา

ได้มีการกล่าวขานกันมากถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใส่ร้ายพระพิมลธรรม ต่างรับผลกรรมกันไปต่างๆนานาตามกรรมวาระของแต่ละคน บ้างก็ทุกข์ทรมานด้วยอัมพาตจนเสียชีวิต บ้างก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เหมือนจะยืนยันว่า กรรมสนองกรรม ฉะนั้น
พระพิมลธรรมขณะไปประชุม เอ็มอาร์เอ.
เจ้าหน้าที่เหมืองอธิบายการใช้เครื่องแต่งกายลงเหมือง
พระพิมลธรรม (ใส่หมวกขาว) ในชุดลงชมเหมือง
กลับไปวัดมหาธาตุหลังออกจากศาล
พระพิมลธรรมกลับไปจำพรรษาที่สันติบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น