ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ชอบมาพากลด้วยประการทั้งปวง เป็นเหตุให้ ‘ทนายนกเขา’ นิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมกับพี่น้องประชาชนผู้สูญเสียจากเหตุสลายการชุมนุมฯ แสดงเจตจำนงเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน ป.ป.ช. หลังรับพิจารณาถอนฟ้องคดีฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา
ย้อนกลับไป ปี 2551 ภาพเหตุการณ์ ‘ตำรวจฆ่าประชาชน’ ในครั้งนั้นยังไม่เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยและความทรงจำของพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ขณะที่ผู้มีอำนาจสั่งการคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อรับผิดชอบต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น
ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป การเมืองเปลี่ยนขั้ว คนกลุ่มนี้กลับเข้าร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิจารณาถอนฟ้อง แถม ป.ป.ช.ภายใต้การนำของ “บิ๊กกุ่ยศิษย์ป๋าป้อม”-“พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ” ก็รับลูกมีมติพิจารณาถอนฟ้อง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่างหาก
เบื้องลึกเบื้องหลังเป็นอย่างไร ติดตามอ่านได้ในสัมภาษณ์พิเศษ ‘ทนายนกเขา’ หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความชอบธรรม ‘คัดค้าน’ การปฏิบัติงานที่ย้อนแย้งอุดมการณ์ขององค์กรซึ่งทำหน้าป้องปรามการทุจริต อย่าง ป.ป.ช.
สาระสำคัญของการยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. คัดค้านถอนฟ้องคดี 7 ตุลาฯ
เราเข้าร่วมการชุมนุมของพันธมิตรฯ ตั้งแต่วันที่มีการสลายการชุมนุมเราก็ไปยื่นศาลปกครอง ศาลปกครองก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หลังจากนั้นก็มีการไปยื่นฟ้องเรื่องของการละเมิดฯ ของเจ้าหน้าที่ และมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ได้รับผลกระทบ คดีนี้ก็อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด เราติดตามข่าวกันมาจนกระทั่งพบกรณีที่ ป.ป.ช. จะทำการถอนฟ้อง จากนั้นจึงได้ประกาศเหตุผลขึ้นมาจะดำเนินการดังกล่าว
ประเด็นแรก เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น คือมันไม่สมเหตุสมผลที่จะถอนฟ้อง เมื่อคดีอยู่ในศาลแล้วก็ไปยื่นต่อศาลแล้ว แล้วก็มีหลายท่านออกมาพูด โดยเฉพาะท่าน อ.วิชา มหาคุณ ท่านเป็นอดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านก็ไม่เห็นด้วย เราก็จึงมานั่งดูข้อกฎหมายและเห็นว่า ป.ป.ช. ไม่สามารถกระทำได้ตามอำนาจหน้าที่ จากนั้นก็โทรไปปรึกษา คุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผมก็บอกไปว่าผมจะทำหนังสือยื่นให้กับ ป.ป.ช. หัวข้อที่จะยื่นคือให้ ‘ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย’ ขอให้ ‘ทบทวน’ และ ‘ยุติ’ ในการพิจารณาหรือริเริ่มในการที่จะนำไปสู่การถอนฟ้อง ดูตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการปราบปรามทุจริต ก็ไม่ได้ให้อำนาจในการถอนฟ้องเลย ในขณะเดียวกันตามมาตร 86 ของ ป.ป.ช เองก็ยังป้องกันว่า ถ้ามีกรณีทิ้งฟ้องถอนฟ้องก็ต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่ นั่นคือป้องกันไม่ให้มีการไปทำเสียหายต่อคดี สมมติมอบอำนาจไปแล้วเจ้าหน้าที่ไปทิ้งฟ้อง ดำเนินการต่างๆ ก็เอากลับมาฟ้องใหม่ คือ มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการเสียหายต่อรูปคดี
ในขณะเดียวกันตาม พ.ร.บ. ข้อที่ 29 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. เองก็พูดถึง ‘ส่วนได้เสีย’ เราก็มาดูค้นข้อมูลกันไปก็พบว่า ท่านวัชรพล (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานฯ ป.ป.ช. คนปัจจุบัน) ในช่วง 7 ต.ค. 2551 ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. ท่านวัชรพล เป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันนี้เราก็เห็น เพราะว่าถ้ามาเทียบกับกฎหมายปกครองของผู้ปฏิบัติราชการ ก็เห็นว่ากรณีดังกล่าวมันก็น่าจะเข้าข่ายส่วนได้เสียนะครับ
ฉะนั้น เราก็เห็นว่ากรณีดังกล่าวมันไม่เป็นกลางมันไม่เป็นธรรม เอากฎหมายทั้งหมดเข้ามาเทียบกับ พ.ร.บ. อัยการ ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ขององค์กร ภาระหน้าที่ต่างกันแต่ก็มีส่วนสำคัญเป็นหน่วยงานรัฐ สามารถฟ้องดำเนินคดีได้ พ.ร.บ.อัยการ กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้อัยการมีอำนาจในการถอนฟ้องได้ แต่ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ไม่มี! อันนี้ยิ่งชัดเจน ป.ป.ช. ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เป็นที่มาที่จะไปยื่นคัดค้าน ในหัวข้อที่ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายขอให้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรม ขอให้ยุติการกระทำเสีย
อีกอย่างหนึ่งคดีได้อยู่ในศาลไปแล้ว โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อมีการยื่นฟ้องไป เขาก็จะตั้งองค์คณะขึ้น 9 คน 9 คนเขาก็จะเอาคำฟ้องมาพิจารณาว่าคดีมีมูลเพียงพอที่จะรับไว้พิจารณา ปรากฏคดีนี้ศาลก็รับไว้พิจารณาประทับรับฟ้อง นั่นก็แสดงให้เห็นว่าศาลเองพิจารณาสำนวนเบื้องต้นก็มีมูลเพียงพอ และก็มีการนำพยาน ป.ป.ช. เอง นำพยานเข้าไต่สวนไปแล้ว ปากแรก เป็นคุณวีระ สมความคิด แล้วก็มีนัดอีกต่อมา ฉะนั้น มันก็เหมือนกับว่ามันเข้าไปก้าวล่วงอำนาจของศาล ในขณะเดียวกันเหตุผลดังกล่าวที่พูดมาทั้งหมด ผมคิดว่าวิญญูชนโดยทั่วไป รับไม่ได้ มันรู้สึกว่าเหมือนกับกำลังทำอะไรที่ควรทำหรือไม่ มันมีเหตุผลที่เพียงพอหรือไม่?
อีกประเด็นหนึ่ง คราวที่แล้วการกำหนดพยานที่จะมาเบิกความเป็นตำรวจทั้งสิ้น อันนี้ก็น่าสงสัยว่าทำไมถึงเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด แต่เรายังไม่อยากคิดร้ายเกินไปเพราะเรายังไม่เห็นบัญชีพยานทั้งหมด ในส่วนนี้กำลังจะทำหนังสือไปขอดูคำฟ้องขอดูบัญชีพยาน และพยานอย่างคนที่เป็นแกนนำของพันธมิตรฯ ทั้งหมด และคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ป.ป.ช. รับรู้ รับทราบทั้งหมด ใครได้รับบาดเจ็บอันนี้มีข้อมูลเปิดเผยอยู่แล้ว ได้เอาคนเหล่านี้มาเป็นพยานหรือเปล่า? นำผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ของคุณรสนา โตสิตระกูล ?เบิกความหรือเปล่า?
ในขณะเดียวกันภาคประชาชนเอง พี่น้องพันธมิตรฯ เอง ผมก็กำลังหารือจะทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมยื่นต่อศาลฎีกา ยื่นต่อประธานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะทำหนังสือขอเข้าร่วมฟังการพิจารณา ถึงที่สุดแล้วก็ดูข้อกฎหมายขอเข้าเป็นโจทย์ร่วมได้ไหม อย่างไรก็ตามแต่คดีนี้หากว่า ป.ป.ช. ดำเนินการถอน ก็จะมีการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติให้ถอนฟ้อง หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่พิจารณาให้ถอนฟ้อง ในขณะเดียวกัน รวบรวมเอกสารทั้งหมดเอาออกมา
ดูเหมือนประเด็นการมีส่วนได้ส่วนเสียถูกเพ่งเล็งจากประชาชนเป็นพิเศษ เห็นชัดว่าบุคคลที่ปรากฏชื่อในสื่อมีความเชื่อมโยงกัน
ความสัมพันธ์ของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ในฐานะน้องชาย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มันเป็นเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปนะครับ จะบอกว่าไม่ให้สังคมคิดไม่ให้สังคมรู้สึกมันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ในทางปฏิบัติโดยทั่วไป ในทางบริหารราชการก็ไม่ควรให้เกิดลักษณะแบบนี้ขึ้น คือท่านจะต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ประเด็นของ พล.ต.อ.พัชรวาท กับ พล.ต.อ.วัชรพล ก็เห็นได้ชัดเจนว่าก่อนหน้าที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชากัน มีความสัมพันธ์กันอยู่ คล้ายๆ ว่ามีความสนิทสนม
ทีนี้ มาดูระยะเวลา ท่านวัชรพล เข้ามาทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช. ในช่วงที่ ระยะเวลาสั้นๆ ก็จะต้องเรียนรู้งาน ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ของ ป.ป.ช. เมื่อมาดูระยะเวลาแล้วมันแทบเชื่อไม่ได้ว่าจะศึกษาสำนวนทั้งหมดแล้ว สำนวนกรรมการ ป.ป.ช. เขาทำไว้มีเหตุมีผลมีข้อบกพร่องตรงไหนอย่างไร ในขณะที่อ้างอิงตามข่าวนะ ท่านรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจาก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. แล้วไปคิดอ่านเรื่องถอนฟ้องเลย ท่านเอาเวลาที่ไหนพิจารณา ฉะนั้น สิ่งที่มันควรจะเป็นท่านต้องทบทวนคดี หมายความว่าท่านต้องไปเอาสำนวนเดิมมาดูก่อนสิว่ามันมีข้อบกพร่องตรงไหน แล้วมาประกอบกับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม
ประชาชนไม่เห็นขั้นตอนเหล่านี้ ทราบเพียงว่ามีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมและก็จะดำเนินการ ผมคิดว่าอันนี้มันเป็นการข้ามขั้นตอน แล้วถามความรู้สึกนึกคิดที่ประชาชนเขาจะได้รับผลกระทบ ได้รับความเสียหาย ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ผลกระทบ ตัวเขาเองต่อครอบครัวจะว่าอย่างไร ในขณะที่คำพิพากษาศาลปกครองก็เขียนชัดเจนว่าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย และก็สั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้ก็ควรจะให้ศาลตัดสินไป
แล้วคดีเป็นการฟ้องร้องในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เพราะตัวเองเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป สังคมไทยรับรู้เรื่องนี้ อย่าว่าแต่สังคมไทยเลย นานาชาตินานาประเทศ สังคมโลกก็รับรู้เรื่องนี้ ฉะนั้นมันไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไปถอนคดีออกมา แล้วถ้าวางบรรทัดฐานอย่างนี้และคดีต่อๆ ไปจะทำยังไง คดีของนักการเมืองอีกหลายคดีที่อยู่ระหว่างรับเรื่องปกติเมื่อเรื่องส่งไปศาลแล้วต้องเป็นอันยุติ จะมาพิจารณาก็ไม่ได้
ส่วนเรื่องบรรทัดฐานมันกระทบแน่นอน อันนี้ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากมาย มองกันด้วยตาเปล่า มองกันด้วยการติดตามข่าวปกติ มองกันด้วยการเชื่อมโยงข่าวก็เห็นชัดเจนแล้ว เหตุการณ์มันเกิดขึ้นจริง แล้วในขณะเดียวกัน ผู้มีหน้าที่มีบทบาททางกฎหมายก็ดำเนินการจัดการด้วย ต้องรับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยอยู่แล้ว ฉะนั้น มันไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ต้องถอนฟ้อง
กระแสวิพากษ์ ป.ป.ช. ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารทุกรัฐบาลเท็จจริงเพียงใด
คือผมไม่อยากคิดอย่างนั้น แต่ถ้าจะบอกว่าไม่เชื่ออย่างนั้นเลยก็ไม่ถนัด ต้องบอกว่าถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็คงจะต้องไปดูเสียว่ากลไกการได้มาของ ป.ป.ช. มันเป็นอย่างไร? ในขณะเดียวกันถ้า ป.ป.ช. ชุดนี้ ดำเนินการอย่างนี้และทำอย่างนี้ ถ้ายื่นถอนฟ้องแล้วศาลท่านไม่อนุญาต ผมคิดว่ามันกระทบหมดทั้งคนที่เข้ามานั่งเป็นกรรมการสรรหา กระทบไปหมดทั้งกระบวนการสรรหา การใช้ดุลพินิจจะต้องมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เข้ามา เพื่อให้ได้บุคคลที่ปราศจากเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนหวาดระแวง ตัวระบบยุติธรรมผมเชื่อมั่น แต่โดยบุคคลก็ต้องร่วมกันตรวจสอบ
ในยุคที่ คสช. พยายามปฏิรูปประเทศ แต่ท่าทีผู้นำดูเหมือนไม่ได้ให้น้ำหนักต่อ ความชอบธรรมกรณี ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดี 7 ตุลาฯ
ถ้าพูดตามหลักท่านนายกฯ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ท่านก็พูดถูกนะครับว่า เอาละ! เขาริเริ่มจะทำก็ต้องรอดูเหตุผลเขาเสียก่อน นายกฯ ท่านก็เปิดทางไว้ ใครจะค้านก็ค้านแต่อย่าไปสร้างกระแส คือต้องบอกอย่างนี้ จุดเริ่มต้นต้องให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน มันเริ่มจากสิ่งคนมองเชื่อมโยงที่ไม่ชอบธรรม คนกลุ่มนี้เข้ามาได้อย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทำไมถึงต้องทำ ทำไมถึงรีบทำ เหมาะสมหรือไม่มันทำให้เกิดความสงสัย เรื่องนี้มันมีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ และผู้ที่ถูกฟ้องก็ใกล้ชิด ในมุมนี้ท่านฯ พูดของท่านฯ ถูก แต่ในมุมผู้นำประเทศและวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะประเด็นที่มันอ่อนไหวต่อความยุติธรรม ผมคิดว่าท่านก็อาจจะมีวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่านี้
เมื่อประชาชนไม่ยอมรับเรื่องถอนฟ้องด้วยเหตุที่คุณอธิบายในข้างต้น ป.ป.ช. ควรทำอย่างไร
ผมคิดว่า ป.ป.ช. จะต้องกลับไปศึกษาอำนาจหน้าที่ของตัวเอง แล้วก็ทำตามกฎหมายในลักษณะของหน่วยงานราชการ กฎหมายในเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ มันจะต้องตีความในลักษณะที่ว่า สิ่งใดที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ สิ่งนั้นกฎหมายไม่ประสงค์ให้พึงให้กระทำ จะไปตีความแบบศรีธนญชัยว่ากฎหมายไม่ห้ามก็ทำได้ มันไม่ใช่ว่า ป.ป.ช. ไปฟ้องตามความรู้สึกของตัวคุณเอง หรือไปฟ้องตามความรู้สึกใคร มันไม่ใช่
ป.ป.ช. ทำหน้าที่ในลักษณะของเชิงสังคม เพราะคุณมีหน้าที่ในการที่จะป้องกันปราบปรามทุจริตการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นั่นหมายความว่าคุณเป็นตัวแทนของประชาชนของคนไทย เป็นตัวแทนของประเทศนี้ เวลาเขาประชุมกันเรื่องปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันคุณก็เป็นตัวแทนของประเทศไปประชุม ฉะนั้น คุณต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้ดี ไม่ใช่ว่ามีความมุ่งหมายเฉพาะไปดูรายละเอียดของกฎหมายสิเขากำหนดวัตถุประสงค์ของ ป.ป.ช. เป็นการณ์เฉพาะเพื่อบุคคลเพื่อใครหรือเปล่า ไม่มี! คุณค่าของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มันอยู่ตรงนี้
ฉะนั้น ถ้าคุณทำสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลให้ประชาชนเขารับไม่ได้ สังคมก็จะไม่เป็นสังคม สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังจะเกิดความปรองดองลดความขัดแย้งในสังคม ใช้หลักนิติธรรมในการบริหารประเทศมันก็ไปไม่รอด
อันนี้มันเป็นเรื่องของความยุติธรรม มันไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัว มันเป็นเรื่องของความยุติธรรม เป็นหลักสำคัญในการที่ผู้บริหารประเทศจะต้องอำนวยให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ไปอาศัยอำนาจรัฐหน่วยงานของรัฐมาทำลายความยุติธรรม ต้องสร้างความเป็นธรรม ต้องสร้างกลไกต้องไปจัดการคนที่กฎหมายระบุว่า ทำความผิด ต้องไปจัดการคนเหล่านี้
หาก ป.ป.ช. ไม่ยอมยุติบทบาทดังกล่าวที่ถูกสังคมตราหน้าว่าไร้ความชอบธรรม
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนไม่เฉพาะผู้ได้รับผลกระทบให้ความสำคัญ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ลองสังเกตดูนะครับว่าถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจเรื่องภัยธรรมชาติ คนยังรับได้ยังกัดฟันยังต่อสู้ยังอดทน แต่ถ้าเป็นปัญหาเรื่องความเป็นธรรมความยุติธรรม สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนพร้อมจะต่อสู้
ฝากบอกรัฐบาลในขณะนี้ ให้ไปศึกษาดูรัฐบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเกิดกรณีผลประโยชน์แก่พวกพ้องญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลจะนำมาซึ่งความเสื่อมความล่มสลายของรัฐบาลทั้งนั้น