xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : กองทัพต้องเดินด้วยท้อง และพวกพ้องสารพัดอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในแง่ของปัจจัยสี่ สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหารจัดเป็นปัจจัยสำคัญสุดข้อแรก สรรพชีวิตทุกสายพันธุ์บนโลก ล้วนเจริญเติบโตขึ้นมาได้ด้วยอาหาร

ตอนเป็นทารก อาหารของเด็กคือ น้ำนมมารดา เมื่อโตขึ้นก็เปลี่ยนเป็นข้าว น้ำ ปลา ปู กุ้ง หอย หมู เห็ด เป็ด ไก่ ฯลฯ

ทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “อาหารเป็นพลังงาน” ที่แปลงมาจากสารอาหาร ถ้านิยามว่า อาหารเป็นพลังงาน เราก็คงไม่ต่างจากรถ เพราะรถยนต์จะขับเคลื่อนได้ ต้องมีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเผาผลาญให้เครื่องยนต์กลไก เกิดพลังงานที่จะขับเคลื่อนไปได้

สำหรับนักรบแล้ว ในขณะที่มีการรบพุ่งห่ำหั่นทำสงครามกันอยู่ อาหารถือเป็นสิ่งจำเป็นสุด ผลแพ้ชนะในศึกใดก็ตาม ล้วนขึ้นอยู่กับอาหาร ครั้งหนึ่ง นโปเลียน โบนาปาร์ต จอมกษัตริย์ผู้ลือนามแห่งฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้

“กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” เพราะถ้าเหล่าทหารหิวโหย จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาสู้รบ

สำนวนนี้ยังมีหลักฐานปรากฏว่า นักรบชาวจีนโบราณก็มีกล่าวไว้เช่นกัน ภายในหมวดปรัชญาคำคมเกี่ยวกับ ยุทธวิธีการรบว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” เพราะถ้า “กองทัพไร้ซึ่งเสบียงกรัง รวมตัวกันยาก”

นอกจากนี้ ยังมีระบุถึงชัยภูมิที่เหมาะสม ในการเลือกทำเลตั้งค่ายประกอบอาหาร ดังนี้ “ตั้งทัพควรใกล้น้ำ เตาครัวพร้อมสรรพเหมาะตั้งค่าย”

สำนวนที่จอมทัพฝรั่งเศส หรือที่นักรบชาวจีนเคยกล่าวไว้ เมื่อมาถึงเมืองไทย จึงกลายมาเป็นติ่งใหม่ ที่เสิร์ชหาอ่านได้ตามเฟซบุ๊กไม่ยาก ว่า

“กองทัพต้องเดินด้วยท้อง
พวกพ้องต้องเดินด้วยกัน”


นานมาแล้ว มีชายชาวจีนยากจนสองคน เป็นเพื่อนรักกัน ชวนกันอพยพมาจากโพ้นทะเล เพื่อมาทำมาหากินในเมืองไทย เมื่อขึ้นจากเรือแล้วก็พูดตกลงกันว่า ต่างคนต่างแยกไปทำมาหากินก็แล้วกัน สุดแท้แต่วาสนาของใคร แต่ได้สัญญากันว่า “ถ้าใครมีเงินยังไม่ถึง 50 ชั่ง อย่ากินหมู กินเป็ด กินไก่ เป็นอันขาด” แล้วต่างก็อำลาจากกันไป

ทีนี้นายฮั้วแกเป็นคนซื่อถือความสัตย์ ทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็ง อดทนกินข้าวกับเกลือ และหัวผักกาดเค็มทุกวัน ได้เงินมาก็เก็บเล็กผสมน้อย ต่อมาไม่นานแกก็ร่ำรวยเปิดร้านค้าขายใหญ่โต มีครอบครัว ชีวิตมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุข มีเงินเป็นร้อยๆชั่งแล้ว นายฮั้วจึงได้หันมากินหมู กินเป็ด กินไก่

ฝ่ายนายกุ่ยก็ทำมาหากินด้วยความมานะพากเพียรเหมือนกัน แต่ไม่รู้จักอดออม มีเงินยังไม่ถึง 50 ชั่ง หมู เห็ด เป็ด ไก่ ที่สัญญาไว้กับเพื่อนว่าจะไม่กิน นายกุ่ยก็ฟาดเรียบ!

จนแล้วจนรอด นายกุ่ยก็ยังตั้งตัวไม่ได้สักที ในที่สุดจึงเที่ยวสืบหาว่าเพื่อนอยู่ที่ไหน จะไปขอคำปรึกษา เพราะได้ข่าวว่าเพื่อนรวยแล้ว

เมื่อนายกุ่ยไปถึงคฤหาสน์ของนายฮั้ว ได้พูดคุยกัน ก็เล่าความจริงให้เพื่อนฟัง พร้อมรับสารภาพว่า ได้ทำผิดข้อสัญญา นายฮั้วฟังแล้วไม่ได้ว่าอะไร แกต้อนรับเพื่อนรักอย่างดี พร้อมจัดข้าวสารกับปลาเค็มให้นายกุ่ยไปอยู่กระท่อมหลังบ้าน สั่งให้นายกุ่ยกินข้าวกับปลาเค็มต้มใบมะขามอ่อนจากต้นที่อยู่หลังบ้านทุกเช้าเย็น แต่ว่าให้เก็บใบมะขามต้นเล็กกินก่อน

นายกุ่ยก็ทำตาม เก็บใบมะขามอ่อนจากต้นเล็กต้มกับปลาเค็มกินทุกวัน ผ่านไปไม่กี่วันใบมะขามก็หมดต้น นายกุ่ยจึงมาบอกนายฮั้วว่า “ใบมะขามหมดแล้วเพื่อนเอ๋ย ไม่มีจะต้มปลาเค็มกินแล้ว”

นายฮั้วจึงบอกให้นายกุ่ยไปเก็บใบมะขามจากต้นใหญ่ ต้มกับปลาเค็มกินต่อไป เมื่อนายฮั้วเห็นว่า เวลาที่ใช้กินใบมะขามต้นใหญ่เท่ากับเวลาที่กินใบมะขามต้นเล็กแล้ว ก็เรียกนายกุ่ยมาถามว่า “เก็บใบมะขามต้นใหญ่ต้มปลากิน เป็นยังไงบ้างเพื่อน?”

นายกุ่ยบอกว่า “เออ...ค่อยพอกินหน่อย เก็บกิ่งนี้หมด แล้วไปเก็บกิ่งโน้น เก็บกิ่งโน้นยังไม่ทันหมด กิ่งนี้มันก็แตกใบอ่อนออกมาทันให้เก็บกินได้แล้ว ดีจริงๆ”

นายฮั้วเลยพูดขึ้นว่า “นี่แหละเพื่อนเอ๋ย! จงดูใบมะขามสองต้นนี้เป็นตัวอย่างเถิด มะขามต้นเล็กมันยังไม่ทันจะแตกกิ่งก้านสาขาใหญ่โตบริบูรณ์ เพื่อนก็ไปด่วนริดใบมันกินเสีย ใบมันเลยงอกไม่ทันกิน ไม่ช้าใบมันหมด เช่นเดียวกับเพื่อนที่เพิ่งจะก่อร่างสร้างตัว ก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในการกิน หาได้ไม่พอใช้จ่าย จึงยากจนถึงทุกวันนี้

ส่วนมะขามต้นใหญ่น่ะ มันแตกกิ่งก้านสาขาใหญ่โตบริบูรณ์แล้ว ถึงจะเก็บกินทุกวัน มันก็แตกใบใหม่ให้ทันกินได้ เปรียบเหมือนตัวเรา เมื่อมั่งมีบริบูรณ์ มีเงินเกิน 50 ชั่ง ทำการค้าขายได้กำไรงอกงาม เหลือพอจะกินหมู กินเป็ด กินไก่ได้ โดยที่ไม่ต้องชักเงินเก็บมาจ่าย จะกินหมู เป็ด ไก่ ทุกวันก็กินได้ ไม่ขัดสนอะไร”


นายกุ่ยได้สติรู้สึกตัว จึงลาเพื่อนไปเริ่มต้นตั้งหน้าทำมาหากิน ไม่สุรุ่ยสุร่ายเรื่องการกินอีกต่อไป แล้วในที่สุดแกก็รวยสมใจ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้แต่ฐานะความยากจน หรือร่ำรวยของคน ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกิน

ในทางธรรมมีเทคนิคการบริโภคอาหารแต่พอควร ให้ร่างกายสามารถดำรงอยู่ได้ เพื่อทำประโยชน์ในทางเจริญสติ ปัญญา บำเพ็ญบุญกุศลต่อไปได้ ไม่ติดขัด ภาษาธรรมะเรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” แปลว่า ความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร

เรื่องอาหารนั้น ทางพระมิได้มีแค่อาหารปากเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงอาหารตา อาหารหู อาหารกาย อาหารจิตวิญญาณ และอาหารของกิเลส อีกสารพัดอาหารอันโอชะของพวกนิวรณ์ห้าประการ (อุปสรรค) ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงตัวอย่างวิธีกำจัดหนึ่งในห้าของนิวรณ์วายร้าย มาอธิบายไว้ใน “สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค” ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความเมาอาหาร ความหดหู่แห่งจิตมีอยู่ การมิได้พิจารณาให้มาก(อโยนิโสมนสิการ) ในธรรมเหล่านี้ จัดเป็นอาหารเพื่อความเกิดแห่งอาการง่วงซึม หดหู่(ถีนมิทธะ) ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำถีนมิทธะที่เกิดแล้วให้กำเริบเสิบสานยิ่งขึ้น

ในทางกลับกัน ธาตุคือความเพียร ธาตุคือการออกพ้นไปจากความเกียจคร้าน ธาตุคือการก้าวไปข้างหน้ามีอยู่ การพิจารณาโดยแยบคาย(โยนิโสมนสิการ) ให้มากในธาตุเหล่านั้น จัดเป็นอาหารเพื่อความไม่เกิดแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละถีนมิทธะที่เกิดแล้วได้ ดังนี้

๑. เว้นบริโภคอาหารสัก ๔-๕ คำก่อนอิ่ม
๒. เปลี่ยนอิริยาบถ
๓. ใส่ใจแสงไฟ แสงสว่าง
๔. อยู่กลางแจ้ง
๕. เสพคบกัลยาณมิตรผู้มีความเพียร
๖. พูดคุยกันแต่เรื่องสัปปายะ เช่น ธุดงค์ข้อวัตร เป็นต้น
ธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะได้”


ซูน วู ปราชญ์ชาวจีน กล่าวไว้ในตำราพิชัยสงครามว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง” ในเมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง และพวกพ้องอีกสารพัดอาหารของพวกนิวรณ์เหล่านี้ มันก็มีลักษณะวิธีลำเลียงเสบียงอาหารมาตามเส้นทางแบบนี้คล้ายกัน

ดังนั้น ถ้ารู้จักพิจารณา มีความเพียร และใช้ขันติความอดทน เข้าสกัดตัดกำลังเรื่องอาหารของข้าศึก เมื่อศัตรูอ่อนกำลัง โอกาสที่จะปักธงกำชัย หรือประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ มันก็ไม่ไกลเกินเอื้อม เพียงแค่ไม่ป้อนอาหารให้มัน(มาร)กินเท่านั้นเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย ทาสโพธิญาณ)
กำลังโหลดความคิดเห็น