ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ก่อน คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ “แผนงานการออกกฎหมายของรัฐบาล” ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่ง ปี2557-2560 เรื่องกฎหมายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้นโยบายไว้ว่า จะเร่งแก้กฎหมายที่ล้าสมัย และจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็รวมไปถึงกฎหมายการค้าการลงทุน ที่มีความผูกพันกับสนธิสัญญากับต่างประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก
ตามวาระ ครม.ที่ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายในฐานะรองประธานกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 3 ได้สรุป “แผนงานเสนอร่างกฎหมายในระยะ 1 ปี (พฤศจิกายน 2558 - ตุลาคม 2559)” และ “แผนการเสนอกฎหมายของหน่วยงานตามกรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิรูปประเทศของคณะรัฐมนตรี”
หลังจากขณะนี้ รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 151 ฉบับ ขณะที่ แผนดังกล่าว ตั้งเป้าไว้ว่ารัฐบาลจะต้องตรากฎหมายให้ไห้ใน 1 ปี จำนวน 190 ฉบับ ซึ่งแบ่งเป็น ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) จำนวน 87 ฉบับ ร่างกฎหมายที่หน่วยงานกำลังยกร่างจำนวน 98 ฉบับ และร่างกฎหมายตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 5 ฉบับ
ขณะที่แผนดังกล่าว จะแบ่ง เป็น 2 ส่วน คือ1.กฎหมายที่จำเป็นต้องตรากฎหมายรอง เช่น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กฎกระทรวง จำนวน 56 ฉบับ แล้วเสร็จไปแล้ว 29 ฉบับ เหลืออีก 27 ฉบับ มอบให้กระทรวง ทบวงกรมที่เกี่ยวข้องไปออกกฎหมายรองโดยเร็ว และ 2. ส่วนที่เหลือ 95 ฉบับ ไม่ต้องออกกฎหมายรองเพราะมีความสมบูรณ์แล้ว
ส่วนของ “ร่างกฎหมายสำคัญ” ตามแผนงานที่แต่ละกระทรวงต้องเร่งดำเนินการหาข้อยุติให้ได้ก่อนส่งกลับมาให้ ครม.พิจารณา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 ฉบับ เช่น “ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งล่าสุด “กระทรวงอุตสาหกรรม” ได้ถอนออกไปเพื่อนำกลับไปหารือกับกระทรวงมหาดไทย หลังพบปัญหาอำนาจทับซ้อนในระดับพื้นที่
นอกจากนั้น “ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ซึ่งอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)อยู่ระหว่างรอหารือกับ ภาคเอกชน คือ สมาคมยาสูบแห่งประเทศไทย รวมไปถึง“ร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา” “ร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลวิธีพิจารณาความอาญา” ที่มีปัญหาว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ต้องการให้คดีอาญายุติในชั้นศาลอุทธรณ์ แต่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าคดีอาญา เป็นเรื่องจำคุกต่างกับคดีทางแพ่ง
มีแนวคิดเสนอแต่ละกระทรวงว่า หากต้องการเขียนกฎหมายใดขอให้เล่าจุดประสงค์ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อช่วยยกร่าง และเสนอร่างกฎหมายง่าย รวดเร็ว ตรงประเด็นมากขึ้น ขณะที่เรื่องใดที่สามารถดำเนินการมาตรการบริหารได้ขอให้ทำโดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมาย เรื่องการกำหนดคณะกรรมการหรืออนุกรรมการที่เกี่ยวข้องสอดคล้องข้อกฎหมายพยายามให้เป็นคณะกรรมการย่อยที่ลงนามแต่งตั้งสูงสุดเพียงนายกฯ
ส่วนกฎหมายใดที่มีความเร่งด่วนขอให้แต่ละกระทรวงแจ้งทางกฤษฎีโดยตรงเพื่อให้จัดลำดับความเร่งด่วนของกฎหมาย ไม่เช่นนั้นกฎหมายจะเป็นไปตามลำดับที่ส่งมา นอกจากนี้กฎหมายของกระทรวงใดที่มีความขัดแย้งกับอีกกระทรวงอื่น ขอให้หารือเป็นการภายในก่อนส่งกฤษฎีกาตัดสิน เป็นต้น
ครม. ได้ให้ข้อห่วงใยว่า จะต้องทำให้การเสนอกฎหมายของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ว่าเราจะสามารถผลิตกฎหมายที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินและแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม
ครม.ยังขอให้ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” (สคก.) เร่งดำเนินการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรวม 3 ฉบับ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... 2) ร่างกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหลือจากการใช้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน เช่น พื้นที่สองข้างรถไฟฟ้า) และ 3) ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่แนวเขตทางด่วน
ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ริมทางด่วน ทางรถไฟ เพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจให้ทันต่อการลงทุนในขณะนี้ รวมถึงการชดเชยการลงทุน
นอกจากนี้ ครม.ยังให้ความสำคัญ กับ ร่างกฎหมายแยกประเภทของกลุ่มตามข้อสั่งการ แผนการตรากฎหมายเพื่อรองรับพันธกรณีการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
รวมถึงแผนการเสนอกฎหมายของหน่วยงานตามกรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิรูปประเทศของคณะรัฐมนตรี (Road map) ซึ่งฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รวบรวมการนำเสนอร่างกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 318 ฉบับ
ย้อนกลับไปคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 12 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้จัดทำกฎหมายซึ่งได้เผยแพร่ทางราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับไปแล้วจำนวน 150 ฉบับ และอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จำนวน 50 ฉบับ
“โดยในส่วนที่ประกาศใช้ไปแล้วนั้น มีครึ่งหนึ่งที่ใช้บังคับได้จริง ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถใช้แล้วเนื่องจากยังไม่มีการออกกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวงมาประกอบใช้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกกระทรวงที่มักอ้างว่าสาเหตุที่ยังไม่ออกกฎหมายลูก เพราะเป็นเรื่องที่เขียนยาก ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ทุกกระทรวงไปเร่งออกกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวง หากเรื่องใดที่รายละเอียดไม่ยากสามารถทำได้ทันที ก็ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ส่วนเรื่องที่ยากต้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน”
ขณะที่นายวิษณุ ได้นำรายชื่อร่างกฎหมาย เพื่อกำหนดว่านับจากนี้ไปหากกระทรวงใดจะเสนอออกกฎหมายเป็นพ.ร.บ.จะต้องทำกฎหมายลูกหรือกฎกระทรวงประกบมาพร้อมกันด้วย เพื่อให้รัฐบาลและสภาฯได้เห็นรายละเอียดหน้าตาทั้งหมดของกฎหมาย
“บางกระทรวง มีกฎหมายใช้แล้วออกมาดูเท่ห์ ไปคุยว่ามีกฎหมายแล้ว แต่ยังทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายลูก เรื่องอย่างนี้เหมือนรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ ถ้าไม่มีกฎหมายลูก รัฐธรรมนูญก็ทำอะไรไม่ได้”
นายวิษณุ ยังยกตัวอย่าง “ร่างพ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. ...” ว่าได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง และที่ประชุมได้แต่งตั้งผู้แทน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม ศาล อัยการ และคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปร่วมปรับปรุงเนื้อหาของร่างดังกล่าว โดยให้ไปพิจารณาประเด็นที่ประธานศาลฎีกาตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ อาทิ การเสนอให้อัยการเป็นผู้ชะลอการฟ้องได้นั้น อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในลักษณะที่อาจเป็นการลำเอียงหรือเลือกปฎิบัติในการฟ้องดำเนินคดีผู้ต้องหาแต่ละรายไม่เท่ากันแล้วให้มีการคุมประพฤติ อาทิ อัยการสั่งไม่ฟ้องก็จะมีการคุมประพฤติ หมายความว่าบุคคลนั้นจะได้กลับไปอยู่บ้านโดยที่ต้องมารายงานตัวทุกเดือน
ขณะที่ศาลยุติธรรมระบุว่าการคุมประพฤติจะใช้ได้ต่อเมื่อศาลตัดสินแล้วว่าบุคคลนั้นมีความผิดและถูกลงโทษ แต่อัยการและกระทรวงยุติธรรมแย้งว่า การคุมประพฤติใช้ได้ทุกขั้นตอนเพียงแต่ประเทศไทยเคยชินกับการใช้ต่อเมื่อศาลตัดสินคดีแล้ว หากการคุมประพฤติมาใช้ก่อนไม่ได้ ถือว่าขัดกติกา ขึ้นอยู่ว่ากฎหมายจะเขียนออกมาอย่างไร ซึ่งการคุมประพฤติไว้ก่อนตัดสินคดีนั้น ได้ใช้ในศาลเด็กและเยาวชนและคดีจราจรอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อหารือกันแล้วแต่ละฝ่ายมีท่าทีเรื่องนี้อ่อนลง จึงให้ทั้ง 4 ฝ่ายไปทำความเข้าใจร่วมจัดทำแล้วส่งกลับมาให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเราขอให้เร่งจัดทำโดยเร็ว แต่ไม่ได้กำหนดเวลาว่าต้องเสร็จเมื่อใด“
ทั้งหมดนี้ เป็นเป้าหมาย“แผนงานการออกกฎหมายของรัฐบาล-คสช.”ใน 1 ปีจากนี้ ที่จะต้องออกให้ได้ 190 ฉบับ หลังจาก ปีเศษรัฐบาลออกกฎหมายได้ 151 ฉบับ แต่กลับได้จริงไม่ถึงครั้ง